เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561
ศราวุธ ดีหมื่นไวย์
กระแสผู้คนทั่วโลกยังตื่นตัวกับ “ลำโพง”แบบบลูทูธอย่างต่อเนื่อง…และมีแนวโน้มมากขึ้น ด้วยเหตุที่การใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปสู่ “โลกไร้สาย” มากขึ้น โดยยุคนี้เราสามารถพกลำโพงขนาดกะทัดรัดไปได้ทุกที่ ซึ่งนี่ก็ชวนให้หันกลับไปมอง “จุดเริ่มต้นของลำโพง” และมองไปถึง “อนาคตของลำโพง”รวมถึงบทบาท “การพัฒนาของผู้ประกอบการไทย” ด้วย… อ.ฉัตรชัย โชคชัย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี บอกเล่าว่า “ลำโพง” ได้ถูกคิดค้นขึ้นพร้อม ๆ กับโทรศัพท์ เป้าหมายเพื่อให้เกิดการติดต่อสื่อสารระยะไกล จากนั้นก็พัฒนามาเป็นลำโพงเต็มรูปแบบเพื่อใช้ในการฟังเพลง และกิจกรรมเกี่ยวกับความบันเทิง โดยจะเห็นว่า…
“ลำโพง” ยุคแรกมีลักษณะเป็น “ปากแตร” หรือที่เรียกว่า “ลำโพงฮอร์น”
ยุคแรกลำโพงมักมีขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก ต่อมาพัฒนาขึ้นให้มีน้ำหนักเบา คุณภาพเสียงดีขึ้น จนตอนนี้ลำโพงได้สอดแทรกอยู่ในเครื่องใช้ไฟฟ้ามากมายหลายชนิดในชีวิตประจำวัน และรูปลักษณ์ก็มีการพัฒนา เช่น จากเดิมลำโพงมีลักษณะทรง 4 เหลี่ยม ก็ถูกพัฒนาให้เป็นรูปทรงอื่น ๆ ที่มีความทันสมัย ซึ่งถึงตอนนี้บริษัทผู้ผลิตมือถือยังมีการพัฒนาลำโพงในรูปแบบหูฟังแบบไร้สาย จนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ ๆ
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาลำโพงอย่างรวดเร็ว ก็เนื่อง จาก มนุษย์ส่วนใหญ่ชอบความบันเทิง และ “ลำโพง” ก็เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดนตรี ที่ต้องพัฒนาลำโพงให้ผู้ฟังส่วนใหญ่ได้ยินเสียงที่มีความไพเราะ
ลำโพงนั้นหลัก ๆ มีด้วยกัน 3 แบบคือ ไดนามิค ที่จะใช้ลักษณะการเคลื่อนไหวของขดลวดที่ตัดผ่านแม่เหล็ก ซึ่งเป็นลักษณะของลำโพงที่ใช้อยู่ถึงปัจจุบัน อีกแบบเป็นลักษณะที่ต้องมีไฟเลี้ยง ซึ่งเป็นลักษณะลำโพง ฮอร์น อย่างเช่นที่มีการใช้กระจายเสียงตามหมู่บ้าน สุดท้ายเป็นแบบแผ่นฟิล์ม ที่ตัวลำโพงมีขนาดเล็ก ใช้เป็นลำโพง หูฟัง แต่ถ้าแบ่งลำโพงตามย่านความถี่ จะแบ่งได้เป็นลำโพง เสียงแหลม ที่ตอบสนองได้ดีกับเครื่องดนตรีประเภทเป่าเสียงแหลม ต่อมาเป็นย่าน เสียงกลาง ระดับเดียวกับเสียงที่มนุษย์พูด และลำโพงระดับ เสียงต่ำ และลำโพงแต่ละแบบยังแบ่งได้เป็น ลำโพงกลางแจ้ง และ ลำโพงในร่ม
“ลำโพงแต่ละย่านความถี่ก็จะเหมาะกับเครื่องดนตรีที่แตกต่าง เช่น อยากได้เสียงกีตาร์ที่มีความไพเราะ จะใช้ตู้ลำโพงที่มีความเหมาะสมกับย่านความถี่เสียงสูง ซึ่งลำโพงแต่ละแบบจะดึงคุณภาพเสียงที่เหมาะกับการใช้งานออกมา โดยลำโพงเสียงกลาง แหลม ถูกพัฒนาไปไกลกว่าลำโพงแบบอื่น เพราะเป็นโทนเสียงที่เหมาะกับการฟัง และใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ”
แม้ลำโพงฮอร์นถูกมองว่ามีรูปแบบเก่า แต่ก็มีการพัฒนาต่อเนื่อง เพราะสมัยก่อนลำโพง 1 ตัว มีตัวที่ขับให้เสียงแหลมเพียงตัวเดียว แต่เดี๋ยวนี้ลำโพง 1 ตัว มีตัวขับเสียงแหลมถึง 4 ตัว จึง
ทำให้เสียงแหลมไม่บาดหูเหมือนรุ่นแรก ๆ ขณะที่คนไทยก็มีการพัฒนาไม่ให้ลำโพงประเภทนี้เสียงแหลมเกินไป ด้วยการใช้ฟองน้ำไปวางตามจุดต่าง ๆ ของลำโพง เพื่อให้ฟองน้ำดูดซับเสียงแหลมที่ไม่ต้องการออก
ยิ่งตอนนี้มีการพัฒนา ลำโพงบลูทูธที่ไม่ต้องต่อสาย ใช้กับโทรศัพท์มือถือ สามารถพกพาไปในสถานที่ไหน ๆ ก็ได้ ทำให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนฟังอย่างมาก เพราะเป็นการใช้งานที่ง่ายขึ้นโดยเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องระยะทางการส่งสัญญาณระหว่างโทรศัพท์มือถือกับลำโพง และความละเอียดของเสียง เมื่อเทียบกับลำโพงที่มีการต่อสาย
ลำโพงที่ถูกพัฒนาไปพร้อมกับบลูทูธ ตอนนี้สามารถส่งสัญญาณเชื่อมต่อได้ไกลขึ้น 5-10 เมตร หรือลำโพงกลางแจ้งบางตัวก็สามารถเชื่อมต่อกับบลูทูธได้ ทำให้คนที่ใช้งานใช้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งคนที่ไม่มีความรู้เรื่องช่างก็สามารถใช้งานได้
“คนไทยตอบรับกระแสลำโพงบลูทูธมาก เพราะ ตอนนี้โทรศัพท์ถูกพัฒนาไปในจุดที่อิ่มตัว ผู้ผลิตเริ่มมองหาลูกเล่นใหม่ ๆ ด้วยการพัฒนาลำโพงที่มีคุณภาพมากขึ้นในการฟังเพลงหรือดูหนัง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ชื่นชอบลำโพงขนาดที่พกพาสะดวก ใช้งานได้ในทุกสถานที่ สอดคล้องกับการใช้ชีวิตปัจจุบัน”
ดังนั้น เทคนิคการเลือกลำโพงที่เหมาะกับการใช้งาน หากต้องการใช้เพื่อประกาศผ่านเสียงตามสาย ต้องใช้ลำโพงฮอร์น เพราะสามารถแพร่กระจายเสียงได้ไกลและชัดเจน แต่ถ้าต้องการความไพเราะในการฟังเพลง ต้องมีลำโพงที่ให้เสียงกลาง ซึ่งถ้าเป็นลำโพงที่ให้เสียงภายในอาคารต้องใช้ลำโพงที่ตอบสนองในทุกย่านความถี่
นอกจากการพัฒนาคุณภาพเสียงแล้ว ผู้ประกอบการยังเพิ่มสีสันให้กับลำโพงด้วยการมีไฟวิ่ง และตอนนี้ลำโพงยังได้ถูกพัฒนาให้มีแบตเตอรี่ในตัว สามารถชาร์จแบตฯ ได้ หรือมีนาฬิกาปลุก สามารถตั้งในห้องนอนตามการใช้งาน
“จากเริ่มต้น ลำโพงมีการคิดค้นขึ้นเพื่อการสื่อสารที่ไปได้ไกลขึ้น เราสามารถส่งเสียงไปในที่ใดก็ได้บนโลกใบนี้ โดยผ่านเครือข่ายแล้วไปออกที่ลำโพงยังจุดปลายทาง ปัจจุบันการใช้ชีวิตของมนุษย์มีลำโพงเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะผู้คนต่างต้องการความบันเทิง เช่นจากการฟังเพลง รวมถึงการแพร่กระจายข้อมูลข่าวสาร ซึ่งถ้าไม่มีลำโพง โลกจะเงียบเหงา”
ทั้งนี้ สำหรับ การพัฒนาอุตสาหกรรมลำโพงของคนไทยทาง อ.ฉัตรชัย ระบุว่ามีกลุ่มที่ทำดอกลำโพงเอง ซึ่งจะใช้ในงานกลางแจ้ง ถือเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะงานแสดงดนตรีต่าง ๆ และที่โดดเด่นคือ ลำโพงที่ใช้ในการฉายหนังกลางแปลง ที่ผู้ผลิตมีการคิดค้นระบบเสียงให้ดังชัดเจน และรอบทิศทาง เหมือนนั่งดูหนังในโรงหนัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาในผู้ประกอบการลำโพงคนไทย อยู่ที่ทุนทรัพย์ที่มีจำกัด ทำให้ยังไม่สามารถทำไลน์การผลิตที่ใหญ่ ๆ ได้ โดยเฉพาะลำโพงบลูทูธ ที่ต้องมีการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย คนไทยยังมีการผลิตน้อย ขณะเดียวกันผู้ที่ซื้อส่วนหนึ่งก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในสินค้าของคนไทยกันเอง เลยทำให้อุตสาหกรรมลำโพงบ้านเรายังพัฒนาได้จำกัด
…”ลำโพง” ที่ในอดีตเคยมีแต่ขนาดใหญ่ ๆ ปัจจุบันมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กจิ๋วได้ ซึ่ง “การเลือกใช้ลำโพงก็ควรให้เหมาะกับการใช้งาน” ขณะที่ “การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับลำโพงในไทย” นั้น…”เป็นอีกกรณีที่คนไทยไม่ควรมองข้าม”