มติชน ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2561
จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ บรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ
รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะผู้จัดการโครงการและที่ปรึกษาโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ เปิดเผยว่า การจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในครั้งนี้ ริเริ่มดำเนินการขึ้นจากเจตนารมณ์ของผู้ปฏิบัติงาน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่ตระหนักและให้ความสำคัญกับขั้นตอนการปฏิบัติที่ต้องทำอย่างมีหลักการ มีมาตรฐานและมีความปลอดภัยทั้งผู้ได้รับภัยพิบัติ และผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยมีศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย กองส่งเสริมการป้องกันสาธารณภัย กองนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนัก ผู้ตรวจราชการกรม และสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กรมแพทย์ทหารบก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมอาสาบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมการบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิประชาชนอาสา และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการกู้ภัยต่างๆ เข้าร่วมจัดทำมาตรฐานอาชีพฯ ในครั้งนี้
โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดการประชุมระดมสมองเพื่อแสดงความคิดเห็นในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพสาขาวิชาชีพธุรกิจสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ สาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ เพื่อชี้แจงแนวทางในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ โดยศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชีพบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพด้านการกำหนดระดับคุณวุฒิของต่างประเทศที่เป็นตัวอย่างที่ดี ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และออสเตรเลีย เพื่อให้มีมาตรฐานด้านความสามารถกำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่บุคคลในอาชีพให้มีสมรรถนะในการปฏิบัติงานเพื่อปกป้องและรักษาทรัพย์สินและชีวิตที่เกิดภัยอันตราย ภัยพิบัติต่างๆ ให้ปลอดภัยได้อย่างมี มาตรฐานสมรรถนะในการปฏิบัติงาน โดยมีพลตำรวจโท ธีรวัฒน์ ณ ป้อมเพชร ที่ปรึกษากองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และนายสุวิทย์ ยงหวาน อดีตตำรวจประจำมลรัฐเวอร์จิเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมนำเสนอความเห็น
อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดทำมาตรฐานอาชีพฯ มีทั้งการประชุมระดมสมองจากผู้มีส่วนได้ส่วน เสียในสาขาการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ มีการประชุมคณะทำงาน การสัมภาษณ์เชิงลึกจาก กลุ่มเป้าหมาย เพื่อจัดทำการวิเคราะห์แผนผังแสดงหน้าที่งาน ประกอบด้วย บทบาทหลัก และหน้าที่หลัก หน่วยสมรรถนะ หน่วยสมรรถนะย่อย เกณฑ์การปฏิบัติงาน หลักฐานความรู้ในการทำงาน ทักษะและความรู้ที่ต้องการกฎระเบียบ ข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอบเขตการทำงาน ตลอดถึงคุณธรรม จริยธรรมของผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัยและกู้ชีพ รวมถึงรายละเอียดวิธีการและกระบวนการประเมินสมรรถนะอาชีพ ซึ่งสามารถแบ่งระดับสมรรถนะของบุคคล โดยมีการจัดแบ่งชั้นคุณวุฒิวิชาชีพออกเป็นระดับชั้นต่างๆ เป็น 8 ระดับ ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพแห่งชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2562