ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2561
“โครงการทาเลนต์ โมบิลิตี้ อะคาเดมี” (Talent Mobility Academy) หรือเรียกสั้นๆ ว่า TM Academy เป็นโครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในแวดวงการศึกษา เนื่องจากเป็นโครงการที่ดึงนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ให้มาร่วมพัฒนา “ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่” เพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการทำงานจริงๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เป็นหัวเรือในการดำเนินงานครั้งนี้
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ให้ข้อมูลว่า โครงการทาเลนต์ โมบิลิตี้ อะคาเดมี ตั้งขึ้นเพื่อยกระดับความสามารถด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชนให้กับอาจารย์และนักวิจัย โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโปรแกรมและศึกษาดูงานในสถานประกอบการจริง ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์จริงในการทำงานวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม
ก่อนหน้านี้ มทร.ธัญบุรีได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำโครงการนี้ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2558 มหาวิทยาลัยได้รับงบสนับสนุนจาก สวทน. ให้อาจารย์ของ มทร.ธัญบุรีไปทำโครงการทาเลนต์ โมบิลิตี้ (Talent Mobility) โดยทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม ด้วยการเข้าไปฝังตัวอยู่ในสถานประกอบการ มีการนำนักศึกษาเข้าร่วมโครงการและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดี สามารถทำโครงการร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้ถึง 39 โครงการ
รศ.ดร.ประเสริฐกล่าวว่า สวทน.จึงมอบหมายให้ มทร.ธัญบุรีเป็นแกนหลักในการจัดทำโครงการทาเลนต์ โมบิลิตี้ อะคาเดมี อย่างต่อเนื่อง อบรมมาแล้ว 5 รุ่น รวมแล้ว 450 คน โดยกลุ่มที่เข้ารับการอบรมจะเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก แต่ยังไม่เคยทำงานกับภาคอุตสาหกรรมมาก่อน แต่ต่อไปอาจารย์ที่ผ่านการอบรมไปทำวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมจะนำนักศึกษาเข้าไปร่วมโครงการด้วย จะทำให้เกิดนักวิจัยหน้าใหม่ในอนาคต
หลังจากผ่านการอบรมเป็นระยะเวลา 4 วัน อาจารย์เหล่านั้นจะออกไปปฏิบัติงานในโครงการทาเลนต์ โมบิลิตี้ ร่วมกับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์วิจัยพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนใน 3 กลุ่มสาขา คือ กลุ่มวัสดุศาสตร์, กลุ่มสิ่งแวดล้อม และกลุ่มชีววิทยาและสมุนไพร, กลุ่มพฤกษเคมี เภสัชเคมีและเครื่องสำอาง ในสถานประกอบการ รวมถึงการถอดบทเรียน จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาแพลตฟอร์มการยกระดับศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน
ผศ.ดร.สรพงษ์ ภวสุปรีย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่กลุ่มวัสดุศาสตร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้เข้าไปร่วมทำงานวิจัยต่อยอดที่บริษัทสินแร่สาครซึ่งเป็นบริษัทที่ส่งออกแร่ ด้วยงานวิจัยการสังเคราะห์อนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ ไปใช้ในการผลิตเม็ดสี สีขาวสำหรับสีทาอาคาร ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งสารประกอบไทเทเนียมไดออกไซด์สามารถนำมาสังเคราะห์และประยุกต์ใช้ในงานด้านนาโนเทคโนโลยีจำนวนมาก
“โครงการนี้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายทั้งนักวิจัย นักศึกษาและภาคเอกชนก็ได้องค์ความรู้ไปใช้น่าจะเป็นการดีหากจะเป็นโครงการที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การทำวิจัยครั้งนี้สามารถสังเคราะห์แร่ตั้งต้น อิลมาไนท์ ด้วยอุปกรณ์ไฮโดรเทอร์มอล ออกมาเป็นนาโนไทเทเทียมไดออกไซด์ที่มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรีย สามารถนำไปผสมสารสีขาวในสีทาบ้าน ครีมกันแดดต่างๆ เป็นการเพิ่มมูลค่าสารตั้งต้นจากราคากิโลกรัมหลักสิบเป็นหลักพันได้”
ด้านปิ่นธนา คำแสงดี บัณฑิตคณะวิศว กรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมพลาสติก เจ้าของโปรเจ็กต์การเตรียมวัสดุนาโนจากแร่อิลมาไนท์ของไทยเพื่อใช้เป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรีย บอกว่า การลงพื้นที่ได้ทำงานจริงได้ใช้อุปกรณ์ไฮโดรเทอร์มอลที่สามารถสังเคราะห์แร่ตั้งต้นอิลมาไนท์ออกมาเป็นไทเทเทียมไดออกไซด์ จริงๆ ไม่ใช่แค่การเรียนทฤษฎีในห้องเรียน เมื่อเกิดปัญหาแก้ไขอย่างไร ทำให้ได้ความรู้จากโครงการทาเลนต์ โมบิลิตี้ เป็นอย่างมาก
ขณะที่ สถาพร บุญรอด ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัทสินแร่สาคร ซึ่งเป็นบริษัทแต่งแร่ส่งออก กล่าวว่า บริษัทให้การสนับสนุนจากตั้งต้นของสารไทเทเนียมแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำไปสังเคราะห์อนุภาคนาโนไทเทเนียมไดออกไซด์ ซึ่งสามารถพัฒนานำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้มากขึ้น เนื่องจากอนุภาคนาโนไททาเนียมไดออกไซด์มีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียสามารถนำไปครีมกันแดดต่างๆ เพิ่มมูลค่าสารตั้งต้นจากราคากิโลกรัมหลักสิบเป็นหลักพันได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตบริษัทอาจจะพัฒนาเพิ่มช่องทางการจำหน่ายแร่มากขึ้น นอกเหนือจากการจำหน่ายสารตั้งต้นแต่เพียงอย่างเดียวซึ่งจะต้องดูแนวโน้มของตลาดเป็นหลักด้วย.