กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2561
ผศ.วรินธร พูลศรี คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ดัดแปลงเปลือกสับปะรดเหลือทิ้ง จากอุตสาหกรรมให้เป็นกระดาษดูดซับสารเอทิลีน (ethylene) กระดาษ ดังกล่าวมีรูพรุนมากจึงน้ำหนักเบา ไม่เพิ่มต้นทุนการขนส่งและต้นทุนต่ำกว่ากรรมวิธีอื่นที่ใช้ยืดอายุผักผลไม้ จากการทดสอบใช้กับ การขนส่งดอกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ส่งออกสูงสุดในโลก แต่มีอายุ การเก็บรักษาสั้น พบว่า สามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้ประมาณ 18 วัน
สำหรับวิธีใช้งานเพียงใส่ในกล่องบรรจุภัณฑ์ จะสามารถช่วยรักษาคุณภาพของผลิตผลได้ดีกว่าการขนส่งปกติ และเพิ่มมูลค่าจากสิ่งที่เรียกว่า ขยะ งานวิจัยนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับ พืชเศรษฐกิจได้อีกหลายชนิด เช่น มะม่วง ทุเรียน เนื่องจากพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่มีการผลิตเอทิลีนสูง ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
เอทิลีน เป็นฮอร์โมนพืชที่มีสภาพเป็นก๊าซที่อุณหภูมิห้อง บทบาทสำคัญ ของเอทิลีนคือควบคุมกระบวนการเติบโตที่เกี่ยวข้องกับความชรา การงอกของเมล็ด การสุกของผลไม้ การร่วงของใบ และ ความชราของดอกไม้