ข่าวสด ฉบับวันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2561
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน tulacom@gmail.com
เรียกว่าการประกาศตัวของที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ขอแยกตัวออกจาก 4 กลุ่มงานในโครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม (ใหม่) ที่ประกอบด้วย กลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์, กลุ่มสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม, กลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงวิจัย และกลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่
ย่อมชัดเจนถึงอัตลักษณ์และปรัญชาที่ตั้งไว้อย่างแท้จริง มิใช่เป็นไปตามกระแสความคิดที่ยังไม่ตกผลึก หรือตามนิ้วชี้ของ ผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่งที่มองเพียงสภาพการณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันเท่านั้น
นี่ไง ความหมายอันสำคัญของ ความเป็นอิสระของสถาบันอุดมศึกษา ที่สถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายชอบเรียกร้อง อ้างถึงเพื่อเป็นเกราะปกป้องตัวเองตลอดมา เมื่อ มทร.ทั้ง 9 ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษา ถูกจัดให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงวิจัย อันเป็นกลุ่มที่ 3 ต้องชื่นชมความกล้าหาญที่กล้าออกมายืดอกปฏิเสธ ว่า ไม่ใช่ทางถนัดบนความเชี่ยวชาญของตนเอง เขาถนัดงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์และสร้างงานวิจัย ที่มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ
ขอตั้งเป็นอีกกลุ่มเฉพาะเพื่อให้เอื้อต่อการทำงาน เพื่อเชื่อมโยงกับการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ในกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเข้ามาต่อยอดเติมเต็มได้ไหม
นับเป็นความเฉียบคมยิ่งในความคิดนี้ จึงส่งผลไปถึงสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ที่มีการขยายฐานหลักสูตรไปสู่ระดับปริญญาตรี เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งทั้งๆ มีความไม่พร้อมในทรัพยากรที่จะนำไปสู่คุณภาพ มาตรฐานมากมายซึ่งเป็นที่รับรู้กันอยู่
ที่คมเฉียบไปกว่านั้น คือย้อนไปถึง ศ.คลินิค นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ.ที่เคยมอบนโยบายการพัฒนาการอุดมศึกษา เมื่อปลายมีนาคม 2561 ให้อธิการบดีเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง เพิ่มคำนิยามเดิมจาก “บัณฑิตนักปฏิบัติ” เป็น “บัณฑิตนักปฏิบัติแบบมืออาชีพและมีทักษะชั้นสูง”
ตามด้วยเสียงย้ำจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วท. ให้ ทปอ.มทร.พิจารณาถึงจุดยืนในอนาคตว่าต้องการเป็นไปในทิศทางใด จะมุ่งผลิตนักนวัตกร ใช่หรือไม่
บัดนี้ มทร. 9 แห่ง ตอบชัดแล้วกับเรื่องนี้ เหลือรออยู่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง จะสู้หรือจำนน