ข่าวสด ฉบับวันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2561
ยอดฉัตรYoodchat2010@gmail.com
แวดวงราชภัฏ วันนี้โฟกัสไปที่ดำเนินการควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย วท. และอุดมศึกษา ที่ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วท.และ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดให้ประเทศ ถึงวันนี้ก็ยังไม่สะเด็ดน้ำอย่างหวังล่าสุด การประชุมของที่ประชุม
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง ได้หารือเกี่ยวกับเรื่องการรวม รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ออกมาแจ้งผลว่า ขอแยกกลุ่มมทร.ตั้งเป็นอีกกลุ่มเฉพาะ เพื่อให้เอื้อต่อการทำงาน นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์และสร้างงานวิจัยที่มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ เพื่อเชื่อมโยงกับการศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในกระทรวงใหม่
ข้อสำคัญ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จะถูกจัดวางในกลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงวิจัย ซึ่งจะขัดต่ออัตลักษณ์และปรัญชาของ มทร.ที่มุ่งผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ เป็นการตอบคำถามมายัง ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศธ.ที่เคยมอบนโยบายและให้ มทร.ทั้ง 9 แห่ง เพิ่มคำนิยามเดิมจาก “บัณฑิตนักปฏิบัติ” เป็น “บัณฑิตนักปฏิบัติแบบมืออาชีพและมีทักษะชั้นสูง” เมื่อปลายมีนาคม 2561
ล่าสุดในความกล้าหาญของกลุ่ม มทร.คือ ได้ทำหนังสือแจ้งข้อเสนอดังกล่าวไปยัง ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วท.เรียบร้อยแล้ว และแล้ว วันนี้สังคมเริ่มกลับมาจับตาดูกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่มีถึง 38 แห่ง จะเดินไปทิศทางใดในโครงสร้างของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ที่มี กลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กลุ่มสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงวิจัย และกลุ่มมหาวิทยาลัยเชิงพื้นที่
คงเป็นงานใหญ่ฝากถึง ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธาน ทปอ.ราชภัฏ กับอธิการบดีจะคิดอย่างไร หากแสดงตัวตนราชภัฏให้ชัดก็ ย่อมไม่เกิดความอึมครึมต่อการทำงานภายใต้กระทรวงใหม่ ที่อุดมศึกษาทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม แต่ก็มีพระราชบัญญัติของตัวเองรองรับอยู่