เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เดลินิวส์ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ถง เจิ้ง หยวน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไต้หวันกับไทย ตามแนวทางของแผนยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” และนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาลไต้หวันชุดปัจจุบัน
ในภาพรวมถือว่าระบบการศึกษาของไต้หวันในปัจจุบันอยู่ในระดับแข็งแกร่งและมีความโดดเด่นอย่างมาก สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีอยู่ราว 160 แห่งมีความพร้อมและเปิดกว้างในการรับนักศึกษาชาวต่างชาติเสมอ โดยเฉพาะนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษากับประเทศพันธมิตรทุกแห่งอยู่แล้ว ผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่
ขณะเดียวกัน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว ในส่วนของประเทศไทยสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปได้จัดตั้ง “แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาไทย-ไต้หวัน” ผ่านไลน์ไอดี : TTedu ซึ่งไม่ได้เผยแพร่เฉพาะสาระความรู้และข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการศึกษาของไต้หวัน แต่ยังมีการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายมุ่งใต้ใหม่เช่นกัน ถือเป็นหนึ่งในแพลต ฟอร์มข้อมูลด้านการศึกษาระหว่างไทยกับไต้หวันที่สำคัญแพลตฟอร์มดังกล่าวมีสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตลอดจนโรงเรียนสอนภาษาจีนเข้าร่วม รวมกันเกือบ 40 แห่ง และบุคลากรอย่างน้อย 78 คน นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Taiwan Thailand Fans” ด้วย ซึ่งบนแฟนเพจไม่ได้เผยแพร่เพียงข้อมูลทางการศึกษาเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารทั่วไปและกิจกรรมน่าสนใจจากไต้หวัน หรือกิจกรรมที่สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปจัดขึ้น
สำหรับจำนวนนักศึกษาไทยในไต้หวันมีอยู่ทั้งสิ้น 2,125 คน แต่มีเพียง 47 คนเท่านั้นที่กำลังศึกษาในระดับปริญญา ส่วนที่เหลือเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาแลกเปลี่ยน แม้ไต้หวันใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาราชการ และแน่นอนว่าการมีความรู้และความเข้าใจในภาษาจีนกลางย่อมเป็นข้อได้เปรียบของนักศึกษาต่างชาติ แต่มหาวิทยาลัยแทบทุกแห่งในไต้หวันมีหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาต่างชาติด้วย ควบคู่ไปกับโครงการเสริมทักษะด้านภาษาจีน
ปัจจุบันไต้หวันถือเป็นดินแดนแห่งโอกาสทั้งในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ไต้หวันจึงมีความมุ่งมั่นแบ่งปันศักยภาพที่มีอยู่ให้กับประเทศพันธมิตร เพื่อเสริมสร้างโลกทัศน์ซึ่งกันและกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลกับบุคคลบนพื้นฐานของการดำเนินนโยบายการศึกษา โดยบุคลากรจากไทยซึ่งได้รับโอกาสให้มาศึกษาในไต้หวันไม่เพียงแต่จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองแล้ว ไต้หวันเองยังสามารถสร้างโอกาสจากโครงการพัฒนาลักษณะนี้ ด้วยการยกระดับทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีแต่จะส่งเสริมให้โครงการความร่วมมือระหว่างไต้หวันกับมิตรประเทศก้าวหน้ามากขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้ ตามแนวทางของแผนยุทธศาสตร์มุ่งใต้ใหม่ กระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันเป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมกับนโยบายดังกล่าวมากที่สุด ตามด้วยกระทรวงศึกษาธิการ ขณะที่กระทรวงอีกหลายแห่งมอบทุนการศึกษาและทุนวิจัยให้กับกลุ่มประเทศเป้าหมายของไต้หวันในนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยเฉพาะกระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งไต้หวันให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์กับไทยมากเป็นพิเศษ ด้วยความหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เอ็นทียูเอสที) ซึ่งมีโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อนึ่ง ความสนับสนุนของรัฐบาลไต้หวันต่อไทยนั้นสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือการสนับสนุนสายงานการผลิตแบบอัตโนมัติ เศรษฐกิจดิจิตอลและเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องทั้ง 10 แบบ แบ่งเป็นอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ร่วมด้วยอุตสาหกรรมใหม่ 5 แบบ ได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมดิจิตอล และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
จะเห็นได้ว่านโยบายส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาของไต้หวันที่มีต่อไทย เป็นไปตามแนวทางของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ทั้งสิ้น โดยผลการสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทยระบุว่า มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของไต้หวันอย่างน้อย 17 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรระดับสูงซึ่งมีคุณสมบัติสอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ด้วยความมุ่งหวังเพื่อการเชื่อมโยงและแบ่งปันทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกัน ตามแนวคิดของความร่วมมือหลากหลายมิติ โดยให้บุคคลเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเป็นการขยายกรอบความร่วมมือในอีกหลายมิติ ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจให้พัฒนาอย่างมีความหลากหลายในระยะยาว.