มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
พันธุ์ แก้วนุ้ย
ในวัย 23 ปี ธนาพล จิตตุรงค์อาภรณ์ จบการศึกษาปฐมวัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จ.ปทุมธานี แต่มีใจรักด้านการเกษตรมากกว่า จึงกลับมาช่วยพ่อแม่ปลูกผัก ผลไม้ ภายใน ไร่ภูเพชร ตั้งอยู่หมู่ 8 ต.ดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี จนมาค้นพบวิธีการเลี้ยง “ชันโรง” จนประสบผลสำเร็จต่อยอดเกษตรอินทรีย์ นำไปจำหน่ายที่ตลาดนัดเกษตรผู้รักสุขภาพ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงชันโรง อีกทั้งขายน้ำผึ้งชันโรงสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
“ธนาพล” เผยว่า สาเหตุที่นำชันโรงมาเลี้ยง เพื่อให้ตัวชันโรงได้ผสมเกสรพืชผักภายในไร่ โดยทำโรงเรือนไว้ทั้งในไร่และบนบ้าน ตั้งไว้ในที่ร่มไม่ร้อน ไม่เปียกฝน เพื่อให้ชันโรงมาเลี้ยงไปผสมเกสร เช่น มะขามป้อม ตามปกติจะติดลูกยากมาก แม้กระทั่งผึ้งก็ไม่สามารถผสมเกสรดอก
มะขามป้อมได้ เพราะตัวผึ้งจะมีขนาดใหญ่ เวลาเกาะบริเวณดอกของมะขามป้อม จะทำให้รับน้ำหนักมากทำให้ดอกร่วงหล่น แต่ชันโรงจะมีขนาดเล็กบินได้ละมุนละม่อม สามารถผสมเกสรได้ดีกว่า หลังจากที่เห็นปัญหาการติดลูกยากจากไม้ผลอีกหลายชนิด จึงทดลองเลี้ยงชันโรง พยายามค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ตประกอบกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งของในไทยและต่างประเทศ ตลอดจนสอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญต่างๆ จนมาพบชันโรง
“หลังจากศึกษาอยู่ประมาณ 2 เดือน จึงนำมาเลี้ยงเพิ่มอีกหลายสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์ขนเงิน จะเป็นสายพันธุ์บ้านจะอยู่ตามเรือน สายพันธุ์อิตาม่า เป็นสายพันธุ์ทางปักษ์ใต้ ลักษณะตัวใหญ่ ให้น้ำหวานมาก แต่การดูแลค่อนข้างยาก พันธุ์คิชฌกูฎ หรือจิ๋วน้ำใสที่ชาวบ้านชอบเรียก ดูแลง่ายไม่ดุร้าย มีน้ำหวานที่มีกลิ่นหอม และพันธุ์ถ้วยดำ มีขนาดตัวปานกลาง ให้น้ำหวานมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวนิดๆ รวม 4 สายพันธุ์ ซึ่งที่บ้านทดลองเลี้ยงอยู่ประมาณ 7 ลัง ให้ผลประโยชน์ดีมาก พร้อมกับสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะรองรับและให้ประโยชน์กับผลผลิตในสวนได้หรือไม่ จากนั้นมาสังเกตต้นไม้มีผลผลิตเป็นอย่างไรบ้าง”
ปรากฏว่าหลังจากที่ทดลองและสังเกตแล้ว พบว่าต้นไม้ที่ปลูกทุกต้นให้ผลผลิตดี ไม่ใช่แต่มะขามป้อมอย่างเดียวที่ติดลูกยาก แต่ยังมีมะนาวที่ยังติดลูกยากก็สามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นด้วย โดยมีชันโรงเป็นตัวผสมเกสรให้ประมาณ 90% ขึ้นไป นอกจากนี้น้ำหวานที่ได้จากชันโรงยังสามารถขายได้กิโลกรัมละ 1,500 บาท หรือขีดละ 150 บาท สามารถต่อยอดทำเป็นน้ำสมุนไพร เช่น น้ำกระชาย น้ำผึ้งมะนาว โดยใส่น้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงผสมเข้าไป ทำให้มีคุณภาพดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะน้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงนั้นจะกินแต่ผลไม้ที่สุกงอมและดอกไม้โดยตรง
ด้าน สุพรชัย-นริศรา จิตตุรงค์อาภรณ์ พ่อแม่ของ “ธนาพล” เสริมว่า บนเนื้อที่ 6 ไร่ ภายในไร่ภูเพชร ได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกพืชผัก ผลไม้ ผสมผสานไว้กว่า 40 ชนิด ตั้งแต่ประเภทกินผล กินหัวไปจนถึงกินยอดได้ เช่น มันหวานญี่ปุ่น มะเขือเทศ มะเขือยาว มะระจีน บวบหอม กระเจี๊ยบ มะนาว มะขามป้อม มะม่วงหาวมะนาวโห่ แก่นตะวัน ต้นเก๊กฮวย มัลเบอรี่ พริก โหระพา ตะไคร้ ผักโขม ถั่วปลีสีม่วง เลมอนออสเตรเลีย มะนาวพันธุ์ทูลเกล้า ทุเรียนเทศ ทุเรียนหมอนทอง กล้วย ส่วนผักใบที่เด็ดยอดขาย เช่น ยอดมะตูมแขก ยอดฟักทอง และอีกหลายชนิด ซึ่งล้วนแล้วแต่สามารถปลูกพึ่งพาอาศัยกันได้ ทั้งในลักษณะเป็นไม้ยืนต้นที่นำผักต่างๆ ปลูกใกล้ๆ กันได้เป็นอย่างดี ลักษณะการปลูกบางชนิดจะใช้ระบบน้ำหยดเป็นบางจุด เพื่อประหยัดน้ำและง่ายต่อการดูแลเรื่องวัชพืชที่จะไม่ใช้สารเคมี
“แต่หลังจากปลูกมานานประมาณ 6 ปี แล้วพืชผักผลไม้บางชนิดติดผลน้อยไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ทำให้ลองพยายามศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ จนค้นพบชันโรง ซึ่งมีลักษณะคล้ายผึ้งตัวเล็กๆ จิ๋ว ที่สามารถผสมเกสรให้กับพืชผักผลไม้ได้ผลดี ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด”
“นริศรา” บอกด้วยว่า ได้ลาออกจากงานนักโภชนาการเกี่ยวกับด้านอาหารมาปลูกพืชผักปลอดภัย โดยในไร่จะปลูกผักผลไม้แบบผสมผสานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานแนวทางแก่พสกนิกรชาวไทยไว้เป็นอย่างดี ขณะนี้ได้เพิ่มพันธุ์พืชให้มากขึ้น ไม่ใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงทุกชนิด จึงมีความปลอดภัยต่อครอบครัวและผู้บริโภคโดยตรง ในสวนมีการปลูกอยู่ประมาณ 40 ชนิด ที่เข้าไปในสวนแล้วสามารถรับประทานได้เลย เพราะปลอดสารเคมี และเสริมในส่วนที่ลูกค้ามีความต้องการ เช่น ผักที่ยังขาดแคลนอยู่ในตลาดวิถีธรรมชาติที่ได้นำไปจำหน่ายอยู่ก็จะช่วยกันปลูกเสริม ทุเรียนเทศ ทุเรียนน้ำ ส้มโอ และบางส่วนยังมีสมุนไพรไว้ปลูกรับประทาน
“อีกส่วนก็จะเก็บนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ น้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่ กล้วยตาก น้ำมะขามป้อม แช่อิ่มมะขามป้อม น้ำแก่นตะวัน ช่วยเรื่องของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โรคทางเดินอาหาร ซึ่งจะเก็บผลผลิตขายในวันจันทร์ ที่ตลาดเกษตรพอเพียง หน้าที่ว่าการอำเภอเมือง และวันศุกร์ที่ตลาดเกษตรวิถีธรรมชาติ ข้างสำนักงานประมงจังหวัด ผลตอบรับดีมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค จำเป็นต้องปลูกเพิ่มผลผลิตให้มากกว่าเดิม โดยจะปลูกแซมตามใต้ต้นผลไม้บางชนิด ได้ทั้งผักใบอย่างมะตูมแขก แก้ปัญหาโรคลมในกระเพาะอาหาร แผลในปาก แผลในกระเพาะอาหาร ผักใบบัวบกจะช่วยเรื่องลดปัญหาความร้อนในร่างกาย และผักสมุนไพรอีกหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย”
“นริศรา” ทิ้งท้ายว่า ด้วยสรรพคุณและคุณประโยชน์จากผักผลไม้ที่มีอยู่ในไร่แห่งนี้ ทำให้มีการตอบรับจากประชาชน ผู้บริโภคที่มาเลือกซื้อให้ความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของการปลูก โดยได้รับการแนะนำและสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดราชบุรี เปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้เมืองเกษตรสีเขียว ในโครงการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย เมื่อปี 2560 ทำให้ “ไร่ภูเพชร” แห่งนี้ กลายเป็นต้นแบบของการเรียนรู้แก่ผู้สนใจ ที่เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง นำไปปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้อย่างยั่งยืน