ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
สายลม…
นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการผลิตบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์(e – Learning) ภาคตะวันออก เพื่อการเรียนรู้ผ่านระบบทางไกลของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาว่า
สำนักงานฯ ได้จัดทำการผลิตบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (e – Learning) เรื่อง “ผึ้งชันโรงเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการเกษตร” ขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรในการใช้สื่อทางไกล ก่อเกิดสังคมการเรียนรู้ รวมถึงให้บุคลากรในหน่วยงานและผู้ที่สนใจมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว
“ที่ผ่านมาสำนักงานฯ ได้สร้างการรับรู้ ด้วยการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดย
ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเป็นกลไก
พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานในพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอและไม่สามารถเข้าถึงตัวเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง จึงได้ผลิตบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาในหลากหลายรูปแบบ พร้อมเผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์หน้าเว็บไซด์ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก สามารถศึกษาด้วยตนเองได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในปี 2561 สำนักงานฯ ได้ผลิตบทเรียนเรื่อง “ผึ้งชันโรงเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจทางการเกษตร” ซึ่งผึ้งชันโรงถือเป็นตัวช่วยทางธรรมชาติในการผสมเกสรให้ไม้ผลได้เป็นอย่างดี” นายชาตรี บุญนาค กล่าว
ทางด้าน ผศ.ดร. อัญชลี สวัสดิ์คำ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืชและภูมิทัศน์คณะเทคโนโลยี การเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี นักวิจัยผึ้งชันโรง เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยเรื่องการใช้ประโยชน์จากผึ้งชันโรงเมื่อปี พ.ศ.2542 ว่าขณะนั้นมีปัญหาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการเลี้ยงผึ้งชันโรงตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเฉพาะการไปเก็บรังผึ้งชันโรงจากธรรมชาติมาเลี้ยง ตลอดถึงการขาดความรู้ทางด้านวิชาการในการเลี้ยงที่ถูกต้อง ทำให้การแยกรังเกิดความเสียหาย ก่อให้เกิดความสูญเสียที่หลากหลายทางชีวภาพในวงจรชีวิตของผึ้งชันโรง จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัย แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับเกษตรกร เพื่อให้ทราบถึงวิธีการแยกขยายผึ้งชันโรงที่ถูกต้อง พร้อมต่อยอดด้วยการทำการวิจัยในเรื่อง ประสิทธิภาพในการช่วยผสมเกสรของผึ้งชันโรงในแต่ละชนิดพืช เพื่อนำไปขยายผลให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
ขณะที่นายชยุทกฤดิ นนทแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งชันโรงมากว่า 25 ปี โดยเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อเป็นแมลงผสมเกสรพืชเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร
“หากเกษตรกรเลี้ยงผึ้งชันโรงมากขึ้น การใช้สารเคมีก็จะลดลง จากนั้นผลิตภัณฑ์นับตั้งแต่น้ำผึ้ง รวมถึงผลผลิตจากพืชที่ผึ้งชันโรงช่วยผสมเกสร ก็จะปราศจากสารเคมีและสารพิษ ซึ่งสุดท้ายก็คือ สุขภาพของเกษตรกรที่ดูแลแปลงปลูกและผู้บริโภคจะปลอดภัย ห่างไกลจากสารเคมี “นายชยุทกฤดินนทแก้ว กล่าว