เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ทีมข่าวการศึกษา
ถึงแม้จะผ่านไปแล้วกับกิจกรรม เปิดบ้าน มทร.ธัญบุรี “มหา วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี” เพื่อแสดงหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัย รวมถึงผลงานนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแนวใหม่ เป็น มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม หรือ Innovative University จากที่เป้าหมายเดิมคือการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ มาสู่การพัฒนาบัณฑิตที่สามารถสร้างผลงานด้วยนวัตกรรม เพื่อเป็นกำลังคนด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูงรองรับยุทธศาสตร์ชาติ
โดยปีนี้ทาง มทร.ธัญบุรี บอกแต่แรกแล้วว่า ปีนี้จัดเต็ม จะมีการโชว์นวัตกรรมผลงาน สิ่งประดิษฐ์ งานวิจัย ทั้งของอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง วันงานที่ได้มีโอกาสเข้าไปเดิมชมกิจกรรมต้องยอมรับว่า เค้าจัดมาเต็มแบบไม่ได้โม้ ได้เห็นผลงานมากมายที่เป็นประโยชน์น่าส่งเสริมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ หลายชิ้นงานมีการเผยแพร่ต่อยอดไปแล้ว จดทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้วก็มาก และที่ว่าเป็นไฮไลต์ของงาน คือ การจัดแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์จากการประกวด Innovation Awards 2018 ได้แก่ “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากดอกเข้าพรรษาและนมเพื่อสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของจังหวัดสระบุรี” ดร.ไฉน น้อยแสง “แผ่นแปะแก้ปวดจากสมุนไพรไทยต้นทุนการผลิตต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” อาจารย์เอมอร ชัยประทีป จากวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย “ผลงานโต๊ะขนบธรรมเนียมไทย (ลวดลายการไหว้)” รศ.ดร.ปานฉัตท์ อินทร์คง คณะศิลปกรรมศาสตร์ “ถังพลาสติกจากขยะพลาสติก” ดร.ณรงค์ชัย โอเจริญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผลงานนักศึกษาจากการประกวด RMUTT Young Talent Inventor Awards เช่น ผลงาน “เครื่องต้นแบบการตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย” “แผ่นรองพรมรักษ์โลกจากพอลิเมอร์ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” “ปุ๋ยสลายตัวช้าจากพอลิ แลคติกแอซิด” “การผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดจากต้นมันสำปะหลัง” เป็นต้น
และวันนี้ เราจะไปดูแบบเกาะขอบเวทีกับผลงานชนะเลิศของนักศึกษา ด้วยกัน นั่นคือ “เครื่องต้นแบบการตัดขวดและดึงยืดเป็นเส้นด้าย” โดยทีมนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ มทร.ธัญบุรี นายเอกวิทย์ สายทับทิม นายสิรธีร์ พวงแย้ม และ นายพัฒนากร รุ่งเรืองไกรศิริ โดยมี ดร.บิณฑสันต์ ขวัญข้าว และ ว่าที่ร้อยตรีหญิง ศิริวรรณ ศรีธรรมรงค์ เป็นที่ปรึกษาประจำโปรเจคท์
“จุดเริ่มต้น คือ มองเห็นปัญหาขยะจากขวดน้ำดื่มพลาสติกใสหรือขวดเพ็ท (PET) ที่มีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นขยะที่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานกว่า 450 ปีต่อ 1 ใบ หากนำไปหลอมละลายก็ต้องใช้พลังงานและเกิดการสิ้นเปลือง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมด้วย จึงทำให้เกิดความคิดที่จะใช้ประโยชน์จากขวดใสโดยไม่ต้องผ่านการหลอมละลาย นั่นหมายถึงการลดใช้พลังงานไปในตัว ซึ่งเป็นการกำจัดขยะด้วยวิธีการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเราสามารถตัดขวดได้โดยตรงด้วยใบมีดแล้วผ่านชุดดึงยืดด้วยความร้อนให้เป็นเส้นด้าย จากนั้นก็สามารถนำไปถักทอเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ พวกโฮมเท็กซ์ไทล์ เช่น ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ ผ้ารองจาน ผ้าม่านเพื่อการตกแต่ง ผ้าใบ กันสาด หรืออาจใช้ในการเสริมแรงในระบบราง ระบบขนส่ง ใช้ปูถนนแทนเหล็กก็ได้ โดยขวดขนาด 1.5 ลิตร 1 ใบ สามารถตัดเป็นเส้นขนาด 2 มิลลิเมตร ได้ความยาวประมาณ 70 เมตร และเมื่อผ่าเครื่องยืดเป็นเส้นด้ายขนาดเล็กกลมจะได้ความยาวถึงประมาณ 100 เมตร”
ผลงานชิ้นนี้เป็นเครื่องต้นแบบที่จะช่วยลดปริมาณขวดน้ำพลาสติกลงได้ ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เป็นการสร้างคุณค่าให้กับของเหลือใช้หรือขยะจากขวดน้ำดื่มในชีวิตประจำวัน โดยนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ เป็นการช่วยลดปริมาณขยะด้วยการอาศัยความรู้เชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้จริง ได้ยินว่า เฟสต่อไปทางทีมอาจารย์และนักศึกษาจะร่วมกันพัฒนาเครื่องต้นแบบนี้ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถตัดขวดได้ต่อเนื่องมากขึ้น และสุดท้ายจะผลักดันเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป
แว่วว่า นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นของก้าวเริ่มแห่งความสำเร็จ ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมที่จะสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติให้แก่ประเทศ…ติดตามชมรายการ “ทีช ทอล์ค ทัวร์ สเตชัน” ย้อนหลังผ่านช่องทาง YouTube : DailyNews Live-TH หรือ ชมสดทุกวันพฤหัสบดี เวลา 11.30-12.00 น.