ข่าวสด ฉบับวันที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือ GC เตรียมพัฒนาวัสดุก่อสร้างจากพลาสติกใช้แล้ว เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับการสนับสนุน จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือศูนย์ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center – RISC) มุ่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก
วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร GC เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็น ก้าวสำคัญของ GC ในการเปิดพื้นที่ของวัสดุ Upcycling สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งช่วยจุดประกายและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่คงทน แข็งแรง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงหวังว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายอื่นจะหันมาสนใจใช้วัสดุ Upcycling กันมากขึ้น
“เราในฐานะผู้ผลิตพลาสติก มุ่งมั่นหาแนวทางการใช้พลาสติกอย่างถูกวิธีและคุ้มค่า เพื่อให้พลาสติกไม่เป็นภาระของโลกผ่านแนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ควบคุม การผลิตและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะทำให้ขยะลดลง จึงเกิดเป็นโครงการ Upcycling Plastic Waste ซึ่งถือเป็นนวัตกรรม การแปรรูปขยะพลาสติกให้กลายเป็นวัสดุที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นการสร้างชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติก”
ด้าน วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC กล่าวเพิ่มเติมว่า MQDC ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรม จึงก่อตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือศูนย์ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center – RISC) ขึ้นเพื่อนำเอานวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมและโลก พร้อมเตรียมนำวัสดุ Upcycling มาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “THE FORESTIAS – เดอะ ฟอเรสเทียส์” ที่มีกำหนดเริ่มก่อสร้างต้นปี 2562
โดยจะนำวัสดุก่อสร้างที่เกิดจากการแปรรูปขยะพลาสติก มาทำเป็นถนนทางเข้าโครงการระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อสร้าง การรับรู้และทำความเข้าใจกับลูกบ้านว่วัสดุเหล่านี้มีความแข็งแรง ทนทาน ได้รับการตรวจสอบตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ปรับมุมมองของสังคมที่มีต่อขยะพลาสติก ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่วัสดุก่อนสร้างในส่วนอื่นๆเพิ่มเติมในโครงการต่อไป
“ขอบถนน 1 กิโลเมตรจะใช้ขยะพลาสติกประมาณ 11 กิโลกรัม ซึ่งถนนความยาว 5 กิโลเมตรจะต้องใช้พลาสติกไม่ต่ำกว่า 60 ตัน หรือเทียบได้ว่าเป็นการนำถุงพลาสติก 10 ล้านใบกลับมาใช้ซ้ำในรูปแบบที่เปลี่ยนไปนั่นเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการลดปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากในธรรมชาติ ตัดวงจรพลาสติกเหล่านี้ไม่ให้กลับสู่การเป็นขยะอีก”
ขณะที่ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ระบุว่า ขยะพลาสติกถูกแปรรูปเข้ามาสู่วงจรชีวิตของเรามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในรูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นทั้งกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า ซึ่งมีมูลค่าค่อนข้างสูง และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงการนำวัสดุเหลือใช้ของระบบเศรษฐกิจมาทำให้เกิดประโยชน์ แต่นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่ขยะพลาสติกจะถูกนำมาทำเป็นวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น ที่น่าจับตามอง เพราะ Upcycling ไม่เพียงการนำวัสดุมาใช้ใหม่ แต่จะช่วยเพิ่มคุณภาพ ปรับโฉมรูปลักษณ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า พัฒนาให้เกิดศักยภาพสูงสุด