กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2561
กรุงเทพธุรกิจ ม.ธรรมศาสตร์ และ มทร.ธัญบุรี ลงนามร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนาเยาวชนนักเรียนและสามเณร ในโครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตาม พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ในการเป็นเครือข่าย ที่ปรึกษาทางวิชาการ และเป็นวิทยากรพัฒนาครูและนักเรียน รวมถึงให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนในภูมิภาคต่างๆ
เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และ โครงงานคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบสมองกลฝังตัว การสร้างชิ้นงาน 3 มิติ และ Internet of Things พร้อมจัดเวทีนำเสนอผลงานนักเรียนและสามเณรมากกว่า 120 โครงงานภายใต้งาน “Show & Share 2018 : สิ่งประดิษฐ์สมองกล ฝังตัว” เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด แก้ปัญหา และเรียนรู้กระบวนการทำงานโครงงานที่เป็นทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 พร้อมสร้างโอกาสให้นักเรียน-สามเณรได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์/วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโควตารับตรงหรือโควตาพิเศษ
นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รอง ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช.ร่วมกับมูลนิธิฯ ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้แก่เยาวชนกลุ่มด้อยโอกาสจากโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริฯ ได้รับการพัฒนาทักษะที่มีความต้องการสูงในยุคดิจิทัล และยังเปิดโอกาสให้ได้เข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์/วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกช่องทางหนึ่ง
โดย สวทช. ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักวิชาการในการดำเนินงาน และในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ต้องอาศัยความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนในภูมิภาคต่างๆ ช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยครั้งนี้ได้ลงนาม ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงาน พัฒนาเด็ก และเยาวชนของชาติต่อไป
รศ.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ในปี 2560 มหาวิทยาลัยได้ร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อร่วมดำเนินงานโครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ฯ และ รับผิดชอบโรงเรียนพระปริยัติธรรมในพื้นที่ภาคกลาง โดยพัฒนาสามเณร ซึ่งเป็นเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งของประเทศให้มีโอกาสได้เรียนรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่
สำหรับผลงานตัวอย่างของสามเณร ภายใต้การให้คำปรึกษาของ 2 มหาวิทยาลัยที่นำมาเสนอใน “งาน Show & Share 2018: สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว” ซึ่งเป็นงาน นำเสนอโครงงานของนักเรียนและสามเณรจากโรงเรียนในชนบท ในโครงการพัฒนาทักษะฯ ประจำปี 2561″ อาทิ เครื่องวัดส่วนสูงดิจิทัล ออกแบบด้วยระบบสมองกล ฝังตัว โดยมีบอร์ด Arduino เป็นส่วนประมวลผล โดยสามเณรโรงเรียนโพธิ์ศรีวิทยา จ.ศรีสะเกษ
เครื่องเตือนภัยน้ำท่วมผ่านเอสเอ็มเอส ออกแบบโดยใช้ระบบสมองกลฝังตัวเชื่อมต่อเซนเซอร์ โดยสามเณรโรงเรียน พระปริยัติธรรมเกียรติแก้ววิทยา จ.ศรีสะเกษ, กังหันน้ำอัตโนมัติ ที่ใช้ระบบ IoT สั่งผ่าน สมาร์ทโฟน กำหนดและควบคุมการเปิดปิดตามเวลา, เครื่องตรวจจับแก๊สรั่วขนาดเล็ก ส่งการแจ้งเตือนผ่านไปยังแอพพลิเคชั่นไลน์ และเครื่องรดน้ำผักอัตโนมัติ โดยเซนเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดินตรงจุดที่ติดตั้งไว้ โดยสามเณรโรงเรียนวัดไผ่ดำ จ.สิงห์บุรี เป็นต้น