คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ชุลีพร อร่ามเนตร
qualitylife4444@gmail.com
ปัจจุบันมีการก่อสร้างระบบราง การขนส่งทางราง ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีแผนด้านคมนาคมขนส่งเร่งด่วน 44 โครงการ งบกว่า 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ส่วนของอุดมศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ได้ประมาณการความต้องการกำลังคนรวม 31,307 คน โดยจำนวนนี้มีความต้องการกำลังคนระดับช่างเทคนิค 11,479 คน และระดับวิศวกร 5,740 คน เพื่อรองรับพัฒนาและขยายระบบขนส่งทางรางของไทย
เร่งผลิตคนรับอุตสาหกรรมระบบราง
นายดิสพล ผดุงกุล นายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย (วศรท.) กล่าวว่า วศรท. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดทำหลักสูตรพัฒนาครูช่าง เพื่อนำความรู้ถ่ายทอดสู่บุคลากรสายช่าง ให้นักเรียนนักศึกษามีความรู้และตรงต่อความต้องการตลาด มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านระบบรางจำนวนมาก โดยเฉพาะระดับอาชีวศึกษา ทั้งช่างซ่อมบำรุง ช่างไฟฟ้า เครื่องกล โยธา พนักงานบริการในสถานี พนักงานขายตั๋ว พนักงานต้อนรับ พนักงานดูแลชานชาลา ซึ่งขณะนี้มีการอบรมไปแล้ว 1 รุ่น รวมถึงได้สนับสนุน อบรมการเรียนการสอนร่วมกับอุดมศึกษา
ทั้งนี้ภาคเอกชนไทย สถานประกอบการของไทย สวทน. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัย และหน่วยงานเกี่ยวกับระบบรางได้มีแนวทางในการพัฒนาด้านต่างๆ มีศักยภาพและทำได้อยู่แล้ว หากได้รับการสนับสนุน ลงทุนจากภาครัฐว่าอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งผลิตอะไหล่ ชิ้นส่วนต่างๆ ก็สามารถดำเนินการได้
หลักสูตรพรีเมียมระบบขนส่งทางราง
ขณะนี้หลักสูตรอาชีวะพรีเมียม สาขาระบบขนส่งทางราง มีหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เรียน 3 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วท.วาปีปทุม โดยร่วมกับกลุ่มวิทยาลัยคู่ความร่วมมือจากจีน ได้แก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น วิทยาลัยและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน วิทยาลัยเทคนิคการรถไฟความเร็วสูงหูหนาน และวิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณะฉงชิ่ง นอกจากสายช่างเทคนิค วิศวกร ที่มีความรู้ทั้งด้านระบบราง และการซ่อมบำรุงต่างๆ แล้ว ในระบบขนส่งทางราง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังขาดแคลนบุคลากรอีกมากเช่นเดียวกัน
วท.ชลบุรีทุ่มงบ 59 ล้านบาท
วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี เป็น 1 ใน 4 วิทยาลัยที่นำร่องหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง ใช้เวลาเรียน 3 ปีโดยเรียนในประเทศไทย 2 ปีและอีก 1 ปีเรียนและฝึกทักษะวิชาชีพที่ประเทศจีน โดยในปีการศึกษา 2561 เปิดรับนักศึกษาระดับปวส.1 ในสาขางานอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม (Signaling and Telecommunication) จำนวน 40 คน ขณะนี้รับนักศึกษาแล้ว 25 คน ส่วนที่เหลือกำลังเปิดรับสมัครเพิ่มเติม โดยผู้สมัครต้องจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปีที่ 3 ในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ไฟฟ้า และผู้ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เกรดเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป
นายปริวัฒน์ ถานิสโร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าวว่าวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดจำนวน 59 ล้านบาทเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์เพื่อใช้การจัดการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีการพัฒนาบุคลากรโดยส่งอาจารย์ 5 คนไปอบรมด้านระบบรางที่วิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณะฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และวิทยาลัยได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี และวิทยาลัยรังสิต ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางเพื่อต่อยอดการศึกษาด้วย ในปีการศึกษา 2562 และ 2563 วิทยาลัยจะขยายการรับนักศึกษาในสาขางานตู้รถไฟ (Rolling Stock) และสาขางานซ่อมบำรุงระบบราง (Track Work) ตามลำดับ
ธุรกิจบริการไม่ต่ำกว่า 2,000 คน
น.ส.วัชรวี จันทรประกายกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (มกค.) กล่าวว่า เพื่อรองรับระบบรางต้องผลิตบุคลากรที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ต่อเนื่องเชื่อมต่อกับขนส่งโลจิสติกส์ รวมถึงการวางผังเมือง อย่างการสร้างคอนโดมิเนียมเชื่อมโยงระบบราง การบริหารทรัพยากรทางกายภาพ หรือบริหารสถานี เพื่อสร้างรายได้
ซึ่งประเทศอาเซียนมีองค์กรและบริษัทต่างๆ ที่มีความต้องบุคลากรสายตรงเกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบรางไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 อัตรา ขณะที่ไทยมีความต้องการปีละไม่ต่ำกว่า 2,000 อัตรา แต่ขณะนี้ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการจัดการธุรกิจระบบราง
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ร่วมกับวิทยาลัย Luizhou College ประเทศ จีน และบริษัทรถไฟฟ้า รฟท. จำกัด พัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมการจัดการ ธุรกิจและผลิตบุคลากรที่มีองค์ความ รู้การจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง ตอบสนองความต้องการของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าบนดิน และรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งก่อสร้างในปัจจุบันและกำลัง จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุม 76 จังหวัด รวมระยะทางมากกว่า 30,000 กิโลเมตร ผ่านย่านธุรกิจ การค้าและอุตสาหกรรม รวมทั้งพัฒนาสถานีและย่านธุรกิจโดยรอบ 76 จังหวัดไม่น้อยกว่า 400 สถานี
“เพื่อรองรับระบบรางต้องผลิตบุคลากรที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ต่อเนื่องรวมถึงวางผังเมือง เพื่อสร้างรายได้”