กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง สมรรถนะขายตรงไทย ยุคใหม่ ภายใต้โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพ สาขาวิชาชีพ ธุรกิจค้าปลีก สาขาธุรกิจขายตรง ว่าปัญหาในธุรกิจขายตรงและการตลาด แบบตรงที่สคบ.เฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดมี 3 ประเด็น คือ 1.การสื่อสาร และโฆษณาที่เกินจริงและเป็นเท็จ ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบที่กำหนด
2. คือการจ่ายผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามแผน ลักษณะนี้อาจกลายพันธุ์ ไปสู่ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ได้ หรืออาจมีเจตนาแอบแฝงเป็นแชร์ลูกโซ่ เบื้องต้นพิจารณาได้จากว่าธุรกิจนั้นไม่มีสินค้ามาจำหน่ายจริง หรือการเรียกเก็บค่าสมาชิก คล้ายกับการระดมทุน โดยหากตรวจสอบพบว่ามีประเด็นที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ สคบ.ก็จะเร่งส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ติดตามต่อไป
3.เรื่อง อี-วอลเลท (E-Wallet) หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหากผู้ประกอบการต้องการยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจขายตรงด้วย จะต้องได้รับ อนุญาตประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
รศ.ดร.เนตร์พัณณา ยาวิราช อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้จัดการและที่ปรึกษาโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพฯ สาขาธุรกิจขายตรง กล่าวว่า การจัดทำมาตรฐานวิชาชีพขายตรงนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จราวต้นปี 2562 และจะประกาศในพระราชกฤษฎีกา เพื่อถือปฏิบัติต่อไป