คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2561
ชุลีพร อร่ามเนตร
qualitylife4444@gmail.com
เด็กรุ่นใหม่รู้ว่าจะเรียนอะไร จะประกอบอาชีพอะไรเพื่อมีงานทำ และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขณะเดียวกัน ตอนนี้มหาวิทยาลัยขาดข้อมูลความต้องการกำลังคนแต่ละอุตสาหกรรม ดังนั้น รัฐบาลต้องส่งเสริมในด้านอัตรากำลัง โดยเฉพาะในหลักสูตรใหม่ เช่น หลักสูตรการบิน อากาศยาน ระบบราง ฯลฯ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ และต้องลงทุนสูง รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่มหาวิทยาลัยตามกรอบกำลังคน และต้องให้เงินอุดหนุนที่เพียงพอ เพราะเชื่อว่ามหาวิทยาลัยมีกำลังในการผลิต แต่ไม่สามารถผลิตได้ทัน เพราะการลงทุนค่อนข้างสูง
สถาบันอุดมศึกษา เป็นแหล่งผลิต บุคลากรเพื่อรองรับความต้องการของประเทศ ฉะนั้น เมื่อประเทศกำลังขับเคลื่อนไปทิศทางใด การผลิตกำลังคน ของประเทศก็ต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องต้องกัน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาล ได้กำหนดนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เดินหน้า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หลักในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-Curve) กระทรวงศึกษาธิการมี นโยบายผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยจะจัดสรรงบประมาณในการอุดหนุนให้แก่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย
สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ส่ง 17 หลักสูตรเข้าร่วมการผลิตบุคลากรสอดคล้องทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Cure) ตอบโจทย์อุตสาหกรรมของประเทศ เน้นการปฏิบัติ มีความร่วมมือกับภาคเอกชน และต้องมีมาตรฐานทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ แบ่งหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ระดับปริญญาตรี 9 หลักสูตร และหลักสูตรระยะสั้น 8 หลักสูตร โดยรัฐบาลเร่งรัดให้เปิดในปีการศึกษา 2561 นี้
ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล(ระบบราง) ซึ่งจะมีนักศึกษาจบการศึกษาปีนี้, เดือนมิถุนายนนี้ จะเปิดหลักสูตรวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน เน้นผลิตบุคลากรที่สามารถซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องบินทั้งหมด (ตามมาตรฐานของ CAAT และ EASA) และอุตสาหกรรมบริการและการบิน (ตามมาตรฐาน ICAO) ร่วมกับพันธมิตรในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ จีน และในประเทศ, กลุ่มอุตสาหกรรมอัตโนมัติ มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรวิศวกรรม แมคคาทรอนิกส์มากว่า 10 ปี และมีการจัดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาโท มีความร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, หลักสูตรเกี่ยวกับสมาร์ทฟาร์ม โดยเน้น ใช้เทคโนโลยีในการเกษตร และกลุ่ม โลจิสติกส์
การผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่เน้นการผลิตบัณฑิตสามารถทำงานได้ ทำงานเป็นตามสมรรถนะอาชีพของแต่ละอาชีพ ภายใต้หลักการใช้ หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นแกนหลักขับเคลื่อนในขั้นตอนการสอน โดยเฉพาะการฝึกปฏิบัติ เน้นสร้างสมรรถนะของนักศึกษา ซึ่งภายใน 6
เดือนแรกที่สำเร็จการ
ศึกษาเกือบทั้งหมดมี
งานทำ นอกจากนี้ ยัง
ให้นักศึกษาไปสหกิจศึกษาและฝึกงานในสถานประกอบการทุกสาขาวิชา และส่งเสริมให้อาจารย์ไปฝังตัวในสถานประกอบการในรูปแบบต่างๆ เช่น แลกเปลี่ยนเรียนรู้นักวิจัยภายใต้โครงการ วิทยากรในสถานประกอบการ เป็นต้น
ประเสริฐ กล่าวต่อว่า นอกจากจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังเน้นจัดกิจกรรมเสริมการเรียนรู้นอก ชั้นเรียน เช่น การส่งเสริมให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติและพัฒนานวัตกรรมใน รูปแบบตามจินตนาการของนักศึกษา โดยมีพี่เลี้ยงเป็นอาจารย์หรือรุ่นพี่ หรือเชิญผู้ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ จากสถานประกอบการมาบรรยาย สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษาหรือการมีประสบการณ์ในสถานประกอบการ เพื่อให้นักศึกษามีทั้ง Hard skills และ Soft skills ที่สถานประกอบการต้องนำไปสู่การมีงานทำและความก้าวหน้าทางอาชีพของบัณฑิต
นอกจากนั้น มทร.ธัญบุรี ได้พัฒนารูปแบบการสอน และรับการถ่ายทอดจากต่างประเทศ เช่น RIT (Rajamangala Innovative Teaching), CDIO, Finland model และ STEM เพื่อเน้นการสอนในรูปแบบของ Active learning เพื่อให้นักศึกษาสนใจทั้งในและนอกชั้นเรียนรวมทั้งกระตุ้นกระบวนการคิดของนักศึกษา การส่งเสริมให้นักศึกษารักการพัฒนาศักยภาพของตนเอง
“ขณะนี้อุดมศึกษาไทยถูกต่อว่าจากสังคมว่าผลิตบัณฑิตไม่ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน หรือพูดง่ายๆ ว่าจบแล้วทำงานไม่ได้ ทำงานไม่เป็น ผมคิดว่าควรแบ่งกลุ่มสถาบันการศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มวิชาการ หรือมหาวิทยาลัยวิจัย พัฒนากำลังคนด้านวิจัยชั้นสูงเพื่อแก้ปัญหาของประเทศและนวัตกรรมขั้นสูงเพื่อใช้พัฒนาประเทศ 2.กลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเฉพาะทาง พัฒนากำลังคนด้านอาชีพที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง พัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้และ 3.กลุ่มอาชีวศึกษา สร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะครบตามมาตรฐานอาชีพ โดยแต่ละกลุ่มมีเป้าหมายในการพัฒนากำลังคนที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว
หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ มทร.ธัญบุรี
แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่ให้วุฒิปริญญา (Degree) 9 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมระบบราง 2.การพัฒนากำลังแรงงานด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน 3.หลักสูตรการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสัตวศาสตร์
4.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการผลิตพืช 5.การพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ 6.หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2561) 7.หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการและการบิน (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2561) 8.หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (รับ ปวส.) และ 9.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์
ส่วนการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่หลักสูตรระยะสั้น (Non-Degree) มี 8 หลักสูตร ได้แก่ 1.โครงการฝึกอบรมพัฒนากำลังคนด้านอากาศยานระยะสั้น (Non-Degree) 2.โครงการฝึกอบรมระยะสั้น Train the Trainer หลักสูตร Thai Meister Mechatronics 3.หลักสูตรเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานไทยเพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหารปลอดภัยสู่ภาคอุตสาหกรรม
4.หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (ภาคพิเศษ) 5.หลักสูตรการผลิตกล้วยไม้เชิงธุรกิจ 6.หลักสูตรนวัตกรรมการ ผลิตโคเนื้อคุณภาพพรีเมียมเพื่อตลาดระดับบน
7.หลักสูตรการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนและผู้ค้ารายย่อย และ 8.โครงการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ระดับอุดมศึกษาด้านการจัดการเรียนการสอนยุคใหม่