ตามที่รัฐบาลมีแนวคิดตั้งกระทรวงใหม่ ชื่อ “กระทรวงวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและการอุดมศึกษา” โดยจะควบรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เข้ามาไว้ด้วยกัน เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า เห็นด้วยเพราะภาคอุตสาหกรรมต้องการงานวิจัยที่ตอบสนองธุรกิจ ที่ผ่านมานักวิชาการหรือนักวิจัยในมหาวิทยาลัย แม้มีคนเก่งๆมาก แต่ทำวิจัยตามความถนัดของตนเอง ไม่ตอบโจทย์ ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ประเทศไทยต้องขับเคลื่อนประเทศด้วยวิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบมหาวิทยาลัยจะต้องรู้ว่าภาคอุตสาหกรรมภาคเอกชนต้องการอะไร ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้อง มิฉะนั้นนักศึกษาจบออกมาก็จะตกงานเพราะต่อไปนี้ภาคอุตสาหกรรมจะใช้นวัตกรรมเครื่องจักร หุ่นยนต์ การมีกระทรวงใหม่ทำให้ประเทศมีจุดมุ่งเน้นในการวิจัยเฉพาะทางที่ชัดเจน สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังภาคอุตสาหกรรม
ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยมากที่สุด และต้องการให้เกิดขึ้นเร็วๆ เพื่อเตรียมคนสำหรับอนาคตทุกวันนี้ประเทศไทยไม่มีคนที่เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรือนิว เอสเคิร์ฟ (New S-Curve) ทั้งเรื่องหุ่นยนต์ อากาศยาน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมการแพทย์ ดิจิทัลเงินลงทุน ฯลฯ ดังนั้นอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนหลักสูตรใหม่มิฉะนั้นจะตามความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทันเพราะทุกวันนี้งานวิจัยบางอย่างทำออกมาใช้ไม่ได้ต้องเอาวิจัยลงจากหิ้งเลิกทำวิจัยตามความพอใจแล้วมาทำงานวิจัยขึ้นห้าง สามารถนำไปต่อยอดได้ใช้ประโยชน์ได้ ขอให้กระทรวงใหม่เกิดขึ้นไวๆและขอให้เกิดขึ้นจริง
ส่วนนายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรีกล่าวว่า เห็นด้วยถือเป็นการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่โดยกระทรวงใหม่ควรมีนโยบายส่งเสริมให้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีโอกาสทำงานวิจัยที่สามารถต่อยอดได้ ส่วนงานอุดมศึกษาจะต้องสนองนโยบายรัฐบาลเน้นเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม ไม่ใช่มุ่งทำวิจัยอย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม
นายวีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้งกระทรวงใหม่ เพราะจะเป็นการปฏิรูประบบราชการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมหาศาลจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด และส่งเสริมการแข่งขันด้านคุณภาพและผลงานทั้งการศึกษาและวิจัยในเวทีสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพมีการแบ่งปันทรัพยากร เพื่อเกื้อหนุนให้เกิดการแข่งขันในระดับโลกได้อย่างเต็มที่
ขณะที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กำลังร่างการจัดโครงสร้างกระทรวงวิทยาศาสตร์นวัตกรรม และการอุดมศึกษา เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีออกเป็น พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม ออกมาก่อน จากนั้นจึงปรับปรุงกฎหมายการอุดมศึกษาและกฎหมายวิจัยออกตามมาคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนประกาศใช้ ระหว่างนี้จะชวนนายกอบศักดิ์ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นพ.อุดมคชินทร รมช.ศึกษาธิการ เดินสายรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ โดยในวันที่ 31 พ.ค.นี้ จะร่วมประชุมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ทั้ง 27 แห่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ส่วนวันที่ 1 มิ.ย.จะประชุมหารือกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ทั้ง 38 แห่ง