กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
นายไฉน น้อยแสง รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ศึกษาวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์บัวหลวงเพื่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยนำมาสกัดเพื่อให้ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในรูปแบบอิมัลชั่น ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อิลาสเตส ไทโรซิเนสและโดปาออกซเดสรวมถึงมีความคงตัวเป็นเวลา 2 ปีภายใต้สภาวะอุณหภูมิต่างๆ
ผลงานวิจัยดังกล่าวมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Dreamer (ดรีมเมอร์) ออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่เลือกนำไปใช้ในธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพและความงาม อีกทั้งประเทศจีนและลาว
การสร้างมูลค่าของบัวหลวง ผ่านงานวิจัยต่อยอดจนมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการประกวดและได้รางวัลในระดับนานาชาติ จะสร้าง ความมั่นใจในคุณภาพแก่ผู้บริโภค ล่าสุดผลงานนี้ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากเวทีสิ่งประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 46 รวมถึงรางวัลสเปเชี่ยลอวอร์ด ออนสเตจ จากสมาคมส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์เกาหลี ที่จัดขึ้นที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
บัวหลวงเป็นพืชสมุนไพรและเป็นอาหารชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกือบทุกส่วนสามารถนำมาสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของวัตถุดิบเนื่องจากกระบวนการเพาะปลูกมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีหรือยาฆ่าแมลง