มติชน ฉบับวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
มทร.ธัญบุรีมาแปลกเปิดรับ เด็กรีไทร์เข้าเรียน ป.ตรี ปี’61 เผยยอดเด็กพ้นสภาพ 4 ปี 2 พันคน
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้ประกาศรับสมัครนักศึกษาที่ถูกประกาศพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของ มทร.ธัญบุรี หรือรีไทร์ กลับเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ประจำปีการศึกษา 2561 ตั้งแต่บัดนี้- 28 พฤษภาคม 2561 ค่าสมัคร 300 โดยการสอบสัมภาษณ์ ดูรายละเอียดทางเว็บไซต์ www.oreg.rmutt.ac.th/?p=7792 และ www.facebook.com/rmutt.official
นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า การเปิดรับสมัครนักศึกษาที่ถูกประกาศพ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของ มทร.ธัญบุรี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 ถึงปีการศึกษา 2560 เพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี โดยเปิดรับสมัครคุณวุฒิ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เข้าศึกษาประจำปีการศึกษา 2561 โดยเปิดรับตั้งแต่วันที่ 1-28 พฤษภาคม ว่า ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่พ้นสภาพกลับเข้ามาเรียน โดยสาเหตุที่นักศึกษาเหล่านี้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาอาจเป็นเพราะนักศึกษาปรับตัวไม่ได้ ขาดความพร้อม และมีผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ เป็นต้น ซึ่งตนเชื่อว่าการที่นักศึกษาปรับตัวไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่านักศึกษาไม่สามารถเรียนได้ และเชื่อว่าการเปิดโอกาสครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่พ้นสภาพเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนอีกครั้ง หากนักศึกษาสามารถเรียนจบ มีงานทำ มีอาชีพที่ดีในอนาคต ถือเป็นการเพิ่มตัวเลขต่อการพัฒนากำลังคนที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอีกด้วย
นายประเสริฐกล่าวต่อว่า อีกทั้งปัจจุบันมีกำลังคนที่เข้าเรียนอุดมศึกษาลดลง และขณะนี้ มทร.ธัญบุรี เองต้องปรับตัวเช่นกัน ไม่เพียงการปรับหลักสูตรเท่านั้น มทร.ธัญบุรี จะต้องกลับเข้ามาดูแลนักศึกษาของตนเช่นกัน ทาง มทร.ธัญบุรี จึงพยายามที่จะจัดการเรียนการสอนมากกว่าการพัฒนาหลักสูตร รวมทั้งการเปิดรับครั้งนี้ถือเป็นการดูแลนักศึกษาและให้โอกาสใหม่ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย
ผู้สื่อข่าวถามว่า สังคมจะมองว่าเป็นการเพิ่มยอดนักศึกษาหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มยอดนักศึกษาแต่อย่างใด เพราะจากยอดนักศึกษาในปีการการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับศึกษาเกินกว่ายอดที่ตั้งไว้ ดังนั้นการเปิดรับสมัครนักศึกษาที่พ้นสภาพครั้งนี้ถือเป็นการให้โอกาสมากกว่า อีกทั้งเมื่อ 2 ปีก่อน มทร.ธัญบุรีได้จัดทำโครงการนำร่อง โดยเริ่มรับนักศึกษาที่พ้นสภาพจากคณะวิศวกรรมศาสตร์กลับเข้ามาเรียนเป็นคณะแรก จำนวนกว่า 20 คน โดยครั้งนั้นเรียกให้เข้ามาสอบสัมภาษณ์ เมื่อผ่านก็ให้นักศึกษากลุ่มนี้เริ่มเรียนใหม่ ไม่ได้ทำการเทียบโอนรายวิชาแต่อย่างใด และพบว่านักศึกษาเหล่านี้มีผลการเรียนที่ดีมาก จบมามีงานทำ และหลังจากโครงการนำร่องนี้ประสบความสำเร็จ ทาง มทร.ธัญบุรีจึงทำการเปิดรับสมัครนักศึกษาที่พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาทุกคณะทุกสาขาวิชา ในปีการศึกษา 2561 ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ทำขึ้นครั้งแรก และหวังว่าจะมีนักศึกษาที่พ้นสภาพกลับเข้ามาศึกษาต่อเป็นจำนวนมาก
“การเปิดรับสมัครนักศึกษาที่พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของ มทร.ธัญบุรี ครั้งนี้ เปิดรับเฉพาะอดีตนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่เปิดรับนักศึกษาที่พ้นสภาพจากมหาวิทยาลัยอื่น ซึ่งก่อนทำการเปิดรับ ทาง มทร.ธัญบุรีได้ทำการสำรวจก่อนที่จะทำโครงการนี้ โดยตัวเลขเบื้องต้นจากการสำรวจพบว่าจำนวนนักศึกษาพ้นสภาพมีประมาณ 2 พันคน และคาดว่าการเปิดรับสมัครครั้งนี้จะมีนักศึกษาเข้ามาสมัครเรียนต่อประมาณ 1,500 คน ทั้งนี้นักศึกษาเหล่านี้สามารถเลือกเปลี่ยนสาขาเรียนได้และการเข้ามาเรียนใหม่ครั้งนี้ให้เทียบโอนรายวิชา นักศึกษาที่เข้ามาเรียนไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ สามารถเรียนต่อไปได้เลย” นายประเสริฐกล่าว
นายณัชติพงศ์ อูทอง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า กรณีสังคมตั้งข้อสงสัยว่าโครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่ มทร.ธัญบุรีขาดแคลนนักศึกษานั้น ชี้แจงว่า มทร.ธัญบุรีไม่ได้ขาดแคลนนักศึกษา การรับนักศึกษาเข้าเรียนระดับปริญญาตรีประจำปีการศึกษา 2561 เป็นไปตามแผนโดยตั้งเป้ารับนักศึกษา 6,500 คน จนถึงตอนนี้ผ่านการรับสมัครนักศึกษาตามระบบการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (ทีแคส) ผ่านไปแล้ว 2 รอบ หรือทีแคส รอบ 2 มีนักศึกษามาสมัคร มทร.ธัญบุรีแล้ว 4,700-4,800 คน และรอบที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ก็มีมาสมัครแล้ว 900 คน และยังเหลือทีแคสอีกหลายรอบจึงมั่นใจว่ายอดนักศึกษาเป็นไปตามแผนอย่างแน่นอน แต่ที่เกิดโครงการนี้เพราะตนในฐานะผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการ ซึ่งเพิ่งมาดำรงตำแหน่งนี้ได้ 2 เดือน ก็คิดว่าจะให้โอกาสนักศึกษาอย่างไรดี เพราะบางคนที่ถูกรีไทร์เกิดจากหลายปัจจัย เช่น ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่ถนัดกับสาขาที่เรียนอยู่ ปรับตัวไม่ได้ เป็นต้น จึงคิดว่าควรให้โอกาสเด็กดีกว่าต้องไปพ้นสภาพในชั้นปีที่ 3-4 แล้วต้องเริ่มต้นใหม่ จึงได้นำเข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการบริหารวิชาการและวิจัยซึ่งมีคณบดีทุกคณะเข้าร่วม ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกัน จึงได้มีมติออกมาและนำเสนออธิการบดี มทร.ธัญบุรี และอธิการบดี มทร.ธัญบุรีเพิ่งลงนามไปเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นายณัชติพงศ์กล่าวต่อว่า ส่วนที่ถามว่าระเบียบเอื้อให้ทำได้หรือไม่นั้น ชี้แจงว่าโครงการนี้ คิดภายใต้ระเบียบที่มีอยู่ซึ่งไม่ได้ไปสร้างระเบียบใหม่แต่อย่างใด โดยระเบียบมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้เทียบโอนหน่วยกิตได้ กรณีได้เกรด ซี ขึ้นไป สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ แต่ถ้าได้เกรดต่ำกว่านั้นต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ซึ่งระเบียบเปิดให้มีการเทียบโอนทั้งจากผู้ที่ลาออกไปแล้วหรือผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วและต้องการกลับมาเรียนใหม่เพื่อได้วุฒิปริญญาตรีเพิ่ม ก็สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ แต่ถ้าเป็นการเทียบโอนคนละสาขา ก็อาจจะใช้เวลาเรียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้กรณีกังวลในเรื่องมาตรฐานทางด้านวิชาการนั้น ชี้แจงว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้รับทุกคนที่กลับเข้ามา เด็กที่ถูกรีไทร์จากความประพฤติ จะไม่รับกลับมาเรียนเด็ดขาด ทั้งนี้จากการประเมินนักศึกษาที่พ้นสภาพไปแล้ว 4 ปีย้อนหลังพบว่ามี 1,300 คนเศษ คาดว่าจะกลับเข้ามาได้แค่ 10% หรือประมาณ 130-140 คน เนื่องจากจะต้องผ่านการประเมินศักยภาพโดยสาขาซึ่งมหาวิทยาลัยให้ดุลพินิจคณะในการพิจารณากลับเข้าเรียน จะใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือประเมินศักยภาพเบื้องต้นด้วยการสอบเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ซึ่งถ้ากลับมาสาขาเดิม ก็อาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์เหมือนดูพอร์ตโฟลิโอ แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนสาขา ก็อาจจะต้องมีการทดสอบเพื่อประเมินศักยภาพเบื้องต้น
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรับเด็กรีไทร์กลับเข้ามาเรียนปริญญาตรีเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตนก็เพิ่งได้ยิน แต่ตนเคยพูดมาแล้วว่าระบบทีแคส จะทำให้กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี (มทร.) ได้รับผลกระทบและจะเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ เช่น การแย่งนักศึกษา เป็นต้น และตอนนี้ปรากฏการณ์แปลกๆ อีกอย่างก็เกิดขึ้นแล้ว คือการรับเด็กที่ถูกรีไทร์กลับเข้าเรียน ซึ่งส่วนตัวมองว่า มทร.ธัญบุรีควรจะต้องคิดให้รอบคอบและถี่ถ้วนมากกว่านี้ ถ้าถามตน ไม่เห็นด้วย มองว่าไม่เหมาะสม ถือเป็นความล้มเหลว เพราะเป็นเรื่องที่ตอบสังคมยากมากว่าทำไมถึงรับเด็กที่ไม่มีคุณสมบัติกลับเข้ามาเรียนอีก ที่ผ่านมา มทร.สร้างภาพลักษณ์ได้ดีแล้ว โดยร่วมผลิตอาชีวะอุดมศึกษา ควรจะมุ่งภารกิจในเรื่องนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามหาวิทยาลัยขาดแคลนนักศึกษา อาจจะไม่รอด ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องหาแนวทางทำให้ตัวเองรอดก่อนหรือไม่เพื่อจะได้ทำภารกิจเพื่อสังคมต่อไปได้ นายสมพงษ์กล่าวว่า ระยะแรก อาจจะรอด แต่ระยะยาวส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยแน่ ซึ่งไม่ใช่แค่กับ มทร.ธัญบุรีเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อสถาบันอุดมศึกษาโดยภาพรวม เพราะเป็นเรื่องที่ตอบสังคมยากมากว่าทำไมถึงเอาเด็กที่ถูกรีไทร์ออกไปแล้วกลับมา รวมถึงเรื่องมาตรฐานทางวิชาการซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ถ้าให้มหาวิทยาลัยมีอิสระทางด้านวิชาการ ก็จะเกิดสภาพนี้ ซึ่งเข้าใจได้ถึงเหตุผลที่สภาวิชาชีพ 11 แห่งพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเข้ามาควบคุมการผลิตบัณฑิตอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ส่วนตัวอยากให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ตรวจสอบด้วยว่ามีระเบียบเอื้อให้ทำได้หรือไม่กับการรับเด็กที่ถูกรีไทร์ไปแล้วให้กลับเข้ามาเรียนใหม่