เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
การแต่งกายด้วยผ้าไทยเวลานี้ไม่จางความนิยม ยังคงเห็นถึงความหลากหลายของการสวมใส่ ทั้งยังได้เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ นำผ้าไทยมาปรับประยุกต์เข้ากับชุดเสื้อผ้าสมัยใหม่ สร้างสรรค์ชุดสวย เท่ มีสไตล์ ใช้แพร่หลายในชีวิตประจำวัน …
จากการแต่งกายของไทยนับแต่อดีตมีวิวัฒนาการมาเป็น ลำดับ แต่ละยุคสมัยมีรูปแบบน่าศึกษา “ถอดรหัสไทย” นิทรรศการ ที่มีขึ้นภายในห้องนิทรรศการหมุนเวียน มิวเซียมสยาม เป็นอีกส่วน หนึ่งที่พาย้อนถอดรหัส เรียนรู้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องความเป็นไทย โดยที่ผ่านมานำความรู้เรื่องผ้านุ่ง เครื่องนุ่งห่มหลักของชาวไทยก่อนมีความนิยมใส่กางเกงเข้ามาให้ได้เรียนรู้จริงกับการนุ่งผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ ย้อนการแต่งกายของคนไทยในอดีตในกิจกรรม “กาล ก่อน กางเกง”
พยัญชนะ ชลศรานนท์ นักจัดการความรู้ ฝ่ายมิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เล่าถึงเครื่องนุ่งห่มไทย พาสัมผัสการนุ่งผ้าไทยที่มีความหลากหลายว่า จากนิทรรศการพูดถึงความเป็นไทยในมิติต่าง ๆ โดยหนึ่งในนี้นำเรื่องการแต่งกาย การนุ่งโจงกระเบนมาเป็นส่วนหนึ่งที่พาย้อนวันวานกลับไปเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมไทย
“การนุ่งโจงกระเบนในวิถีไทย สวมใส่ได้ในหลายโอกาส นอก จากแสดงให้เห็นในเรื่องเครื่องแต่งกาย โจงกระเบนยังสื่อถึงวิธีการนุ่งผ้าที่แยบยล มีรายละเอียดการพับ การมัดพันผ้า สร้างสรรค์ขึ้นจากผ้าเพียงผืนเดียว เป็นความพิเศษที่น่าสนใจศึกษา และนอกจากการนุ่งโจงกระเบนทั่วไปที่พบเห็น ยังมีการนุ่งหยักรั้ง และนุ่งหางหงส์ ซึ่งส่วนนี้ใช้ในการแสดงนาฏศิลป์มีความวิจิตร พิถีพิถันสวยงาม ฯลฯ”
กาล ก่อน กางเกงจึงเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของเครื่องแต่งกาย ความคิดสร้างสรรค์ ได้เห็นการนุ่งผ้าแบบไทยที่มีเสน่ห์ สวยงาม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอด และปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังถ่ายทอดความสำคัญของผ้าไทย เรียนรู้และภาคภูมิใจในความเป็นไทย
เสน่ห์ผ้าไทยและการนุ่งห่มแบบไทย อ.สุระจิตร แก่นพิมพ์ สาขาวิชาการออก แบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอและ สวธา เสนามนตรี นักวิชาการการศึกษานาฏศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ให้มุมมองเพิ่ม โดย อ.สุระจิตร เล่าถึงเทคนิคการมัด การพันผืนผ้าทอ ซึ่งนำมาเป็นแรงบันดาลใจประยุกต์สร้างสรรค์ชุดเสื้อผ้าได้หลากหลาย และเมื่อนึกถึงการนุ่งผ้าไทยจะนึกถึงโจงกระเบน โดยรูปแบบของการนุ่งผ้าดังกล่าวในทรรศนะมองว่ามีความคลาสสิก มีเทคนิคน่าศึกษาหลายด้าน ทั้งการพันผ้าก่อนผูกโยงไปด้านหลัง
ขณะที่โจงกระเบนยุคปัจจุบันออก แบบตัดเย็บ มีดีไซน์เพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้สวมใส่ แต่อย่างไรก็ตามยังคงส่งต่อเทคนิค ความรู้ต่อเนื่อง ทั้งยังต่อยอดเกิดการสร้างสรรค์ การดีไซน์ใหม่ ๆ อย่าง เช่น เทคนิคการพันผ้าของโจงกระเบน การจับจีบหน้านาง นำมาเป็นแรงบันดาลใจ ออกแบบชุดราตรี ทั้งยังนำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ สิ่งทอที่มีกลิ่นอายจากการนุ่งผ้าไทยแบบต่าง ๆ ได้อีกหลากหลาย ซึ่งมีมนต์เสน่ห์ น่าศึกษา
ทางด้าน สวธา เสนามนตรี ให้มุมมองเพิ่มอีกว่า การแต่งกายของไทยมีหลายเรื่องที่น่าศึกษา โดยถ้ามองในด้านประวัติศาสตร์มีมายาวนาน ด้านงานหัตถศิลป์ก็มากไปด้วยความประณีต งดงาม ส่งทอดมรดกภูมิปัญญาสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
“การแต่งกายยังบ่งบอกเชื้อชาติ และในรายละเอียดยังแยกย่อยไปถึงการแต่งกายในวาระโอกาส ในงานพิธี รวมถึงด้านนาฏศิลป์การแสดง และหนึ่งในรูปแบบการนุ่งผ้าที่ต้องกล่าวถึงก็คือโจงกระเบนซึ่งมีรูปแบบวัฒนธรรมมาจากอินเดียผ่านมาทางเขมร โดยวิธีการนุ่งและจากความหมายของคำที่เรียกโจงกระเบน ถ่ายทอดให้เห็นรูปแบบการนุ่งผ้าที่ม้วนผ้าผืนยาวเพียงผืนเดียวและเหน็บรั้งไว้ที่ขอบเอวด้านหลัง ลักษณะคล้ายกางเกง”
สวธา เล่าเพิ่มอีกว่า โจงกระเบน มีวิธีการนุ่งที่ซ่อนไว้ด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจศึกษา ทั้งยังแตกวิธีการนุ่งได้อีกหลายรูปแบบ อย่างเช่น การนุ่งหยักรั้งหรือเหน็บรั้ง เป็นการนุ่งโจงกระเบนอย่างหนึ่ง แต่จะเป็นการนุ่งสั้นเหนือเข่าเพื่อให้มีความกระฉับกระเฉง คล่องแคล่วมากขึ้น เห็นได้จากการนุ่งของทหารโบราณ หรือในการแสดงกระบี่กระบอง เป็นต้น
โจงกระเบน นอกจากใช้ในชีวิตประจำวัน ยังใช้กับ การเรียนนาฏศิลป์ นุ่งสวมใส่สำหรับฝึกหัดการแสดง เป็นเครื่องแต่งกายที่ช่วยให้มีความทะมัดทะแมง แลดูเรียบร้อยเมื่อต้องออกท่าทาง ไม่ว่าจะเป็นการยกขา หรือการจับดัดสรีระส่วนต่าง ๆ
“การนุ่งโจงกระเบน คนโบราณใช้การเหน็บ การสอดมัดผ้า ซึ่งช่วยให้เกิดความกระชับแน่น จากผ้าหนึ่งผืนนำมานุ่ง โดยวิธีการทบชายผ้าทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน จากนั้นนำผ้าทั้งสองฝั่งผูกตรงส่วนเอวให้แน่นหนา และจากปมที่ผูกค่อย ๆ ม้วนผืนผ้าไล่เรื่อยไปจนถึงปลายผ้าด้านล่าง จากนั้นโยงผ้าที่ม้วนไปด้านหลัง ใช้การเหน็บมัดเก็บผืนผ้าให้เรียบร้อย ซึ่งการม้วนผ้าก็ต้องให้มีความเหมาะสมกับสรีระของร่างกาย”
ส่วนอีกรูปแบบการนุ่งที่มีความต่อเนื่องจากอดีตมาถึงเวลานี้ได้แก่ การนุ่งหน้านางแบบมีชายพก เป็นอีกรูปแบบการนุ่งที่สวยงาม มีความประณีต การนุ่งหน้านาง มีวิธีการนุ่งที่มีส่วนคล้ายกันในวิธีการมัด การพับ พันผ้าที่คล้ายกัน แต่จะต่างกันในรายละเอียด
การนุ่งในลักษณะนี้จะใช้ผ้าประมาณ 4 หลาหรือประมาณ 3 เมตร มีวิธีการพับซ้อนเป็นชั้น ๆ สวยงามอย่างประณีตไว้ ในส่วนด้านหน้าผ้านุ่ง ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ของคนโบราณไว้อย่างแยบยล จากการสร้างขึ้นจากผ้าชิ้นเดียว อีกทั้งในรูปแบบการนุ่งลักษณะนี้ยังถ่ายทอดมาถึงปัจจุบัน ทั้งยังเชื่อมโยงนำมาสร้างสรรค์ในชุดเสื้อผ้าสมัยใหม่
นอกจากนี้ยังมี การนุ่งจีบโจงหางหงส์ ใช้กับตัวพระ โดยจะนุ่งอยู่ด้านนอกสนับเพลา ส่วนตัวยักษ์ ตัวลิงจะเป็น การนุ่งก้นแป้นลักษณะคล้ายกับการนุ่งโจงกระเบน ฯลฯ เป็นการนุ่งที่เกิดจากการใช้ผ้าผืนเดียวนำมาพับ พัน ผูกโยงเป็นสุนทรียศาสตร์ ถ่ายทอดศิลปะแห่งการสร้างสรรค์ที่มีมนต์เสน่ห์ให้กับผืนผ้านุ่ง
การนุ่งผ้าไทย นุ่งได้หลายรูปแบบและแต่ละรูปแบบมีเคล็ดลับ รายละเอียดที่คนโบราณสร้างสรรค์ไว้ควรค่าแก่การศึกษาและสืบรักษาไว้การจะนุ่งให้สวย สวธา แนะนำเพิ่มอีกว่า ต้องให้ความสำคัญกับส่วนต่าง ๆ ที่เป็นรายละเอียด อย่างเช่น สรีระของผู้สวมใส่ คนสูงควรนุ่งอย่างไรให้เหมาะสม
ขณะที่การจับจีบผ้า การพับตื้น ลึกไปหรือไม่ ขนาดเหมาะสมกับผืนผ้านุ่งหรือไม่ อีกทั้งการเก็บรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ต้องไม่มองข้าม ฯลฯ ทั้งนี้รายละเอียดที่ประกอบกันเหล่านี้ต้องศึกษา ฝึกฝนเรียนรู้ โดยช่องทางการเรียนรู้ในปัจจุบันมีมากมายเผยแพร่ให้ศึกษา เพื่อร่วมรักษาความงดงามของการนุ่งผ้าไทย
ถ่ายทอดมนต์เสน่ห์ผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์ของไทย.