ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 09 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
ว่าที่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โชว์ผลงานการออกแบบชุดอุปกรณ์เครื่องครัวจากดินเผาเตาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี แรงบันดาลใจจากปิ่นโต มี 4 ฟังก์ชันหลักเพื่องานครัว ทั้งหั่น-สับ-บด-คั้น
นิภาภัทร ตันประดับสิงห์ หรือ ไอซ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เจ้าของผลงาน เล่าว่าออกแบบอุปกรณ์เครื่องครัวสำหรับใช้หั่น สับ บดและคั้นเพื่อการประกอบอาหาร โดยใช้ดินเผาเตาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี และใช้แนวความคิดการออกแบบจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัด ผสมผสานความรู้ด้านศิลปะที่มุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลาย แปลกใหม่ สอดคล้องกับสรีระร่างกายต่อการใช้งาน และสามารถใช้เป็นต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
“จากการศึกษาข้อมูล แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อยเป็นแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่วัดพระปรางค์ ต.เชิงกลัด อ.บางระจัน วัตถุดิบสำคัญของการทำเครื่องปั้นดินเผาคือดินเหนียว ความพิเศษของเนื้อดินบริเวณดังกล่าวจะมีทรายละเอียดและก้อนกรวดผสมรวมอยู่ จึงทำให้เนื้อดินมีคุณสมบัติที่ทนความร้อนสูง แข็งแรงคงทน ช่างปั้นดินเผาในอดีตจึงเลือกเอาสถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา จากการลงพื้นที่ในภาพรวมยังขาดการพัฒนาต่อยอดสินค้าในเชิงสร้างสรรค์ ขาดความแปลกใหม่ ส่งผลต่อการตลาดในเชิงพาณิชย์ จึงหยิบยกประเด็นดังกล่าวนี้มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อออกแบบ” นิภาภัทรกล่าว
การออกแบบครั้งนี้ มี อาจารย์ณัฐพล ซอฐานา นุศักดิ์ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา โดยเน้นหน้าที่ใช้สอย 4 หน้าที่ คือ หั่น สับ บดและคั้น ด้านความปลอดภัยจะเน้นรูปทรงที่ไม่มีเหลี่ยม เพื่อง่ายต่อการใช้งานและทำความสะอาด ด้านความงามใช้แรงบันดาลใจจากปิ่นโต ใช้โทนสีธรรมชาติของสีดินดั้งเดิม เคลือบใส เพื่อให้เห็นเนื้อดินชัดเจน เห็นความสวยงามของธรรมชาติจากการเผา
กรรมวิธีการผลิตใช้กระบวนการขึ้นรูปแบบใบมีดเพื่อสะดวกต่อการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และยังได้สัดส่วนขนาดที่เที่ยงตรง เผาแบบไฟสูงเพื่อให้ผลิตภัณฑ์แข็งแรงคงทน และยังปลอดภัยจากสารปนเปื้อนและสารตะกั่ว
“ผลงานต้นแบบนี้เชื่อมโยงกัน 3 ส่วน คือ ความรู้และทักษะวิชาต่างๆ ในด้านศิลปกรรมศาสตร์ทั้งเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติ การออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ใส่ใจในเรื่องดีไซน์ ฟังก์ชันการใช้งาน และเป็นการอนุรักษ์ สนับสนุนและส่งเสริมเครื่องปั้นดินเผาที่แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย จ.สิงห์บุรี อีกด้วย อยากให้มีการพัฒนาและนำแนวคิดต้นแบบนี้ไปใช้จริงสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป” ไอซ์กล่าวสรุป
สนใจผลงานหรือร่วมแบ่งปันความรู้ทางด้านศิลปกรรมศาสตร์โดยตรงโทร. 09-2418-8902