กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561
กรุงเทพธุรกิจ “จีซี” ร่วม “เอ็มคิวดีซี- อาร์ไอเอสซี” วิจัยใช้ขยะพลาสติกผลิตวัสดุก่อสร้างครั้งแรกของโลก นำร่องผลิตอิฐปูทางเดินยาว 5 กิโลเมตร ใช้ขยะพลาสติก 55 ตัน
นางวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี เปิดเผยว่า จีซีร่วมกับแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเมนต์ คอร์ปอเรชั่น (เอ็มคิวดีซี) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (อาร์ไอเอสซี) นำพลาสติกใช้แล้วมาพัฒนาเป็นส่วนประกอบของวัสดุก่อสร้าง เช่น อิฐบล็อกสำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคาร ซึ่งนับเป็น ครั้งแรกของโลกที่นำขยะพลาสติกมาผลิตวัสดุก่อสร้าง
ทั้งนี้ ศูนย์อาร์ไอเอสซี เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีนำขยะพลาสติกใช้แล้วมาผสมเป็นส่วนหนึ่งในอิฐบล็อก ซึ่งต้องผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และเบื้องต้นจะนำมาปูทางเท้าระยะทาง 5 กิโลเมตร ในโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ บางนา โดยจีซีเป็นฝ่ายจัดหาพลาสติกใช้แล้วมาให้อาร์ไอเอสซีพัฒนาเป็นวัสดุอิฐบล็อก และให้เอ็มคิวดีซีนำไปใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์
“จีซีต้องการให้ทุกคนใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า และเน้นการนำขยะมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยทำให้เป็นวัสดุใหม่ที่นำมาใช้ได้ในรูปแบบใหม่ โดยไม่ให้ขยะกลับคืนสู่วงจรขยะพลาสติกอีกครั้ง โดยที่ผ่านมาจีซีรวบรวมพลาสติกใช้แล้ว เช่น ขวดน้ำดื่ม ในทะเลและชายหาดที่เกาะเสม็ด จ.ระยอง จำนวน 10 ตัน มาพัฒนาเป็นสินค้า เช่น เสื้อและกระเป๋า”
นอกจากนี้ ในอนาคตถ้าความต้องการพลาสติกเหลือใช้สูงขึ้น ก็จะ ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นรวบรวมพลาสติกใช้แล้วนอกพื้นที่ จ.ระยอง โดยกำลังร่วมมือกับโรงเรียน 10 แห่ง ใน จ.ระยอง ให้ร่วมคัดแยกพลาสติก
นายวิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็มคิวดีซี กล่าวว่า เอ็มคิวดีซีจะเริ่มนำอิฐบล็อกที่ผสมพลาสติกใช้แล้วมาใช้นำร่องในโครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ ซึ่งเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่บนพื้นที่ 300 ไร่ ซึ่งจะก่อสร้างในปี 2562 ใช้เวลา 3-4 ปี โดยนำอิฐบล็อกนี้จะนำมาทำทางเท้าระยะทาง 5 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้ขยะพลาสติก 55 ตัน และต่อไปจะนำไปใช้ในโครงการอื่นด้วย
นายสิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์อาร์ไอเอสซี และผู้อำนวยการ ศูนย์ Scrap Lab มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ทั่วโลกมีความต้องการใช้พลาสติกประเภทนี้มากขึ้น ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ซึ่งจะแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั้งระบบและพัฒนาเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าสูงได้ สำหรับการทดลองนำพลาสติกมาผสมเป็นอิฐบล็อกพบว่ามีคุณสมบัติใกล้เคียงกับอิฐบล็อกจากหินปูน แต่น้ำหนักเบากว่าและได้มาตรฐาน มอก. ซึ่งรับรองได้ว่าปลอดภัยและแข็งแรง