เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561
จุฑานันทน์ บุญทราหาญ
ใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาล “สงกรานต์” เย็นชุ่มฉ่ำเข้ามาอีกนิดแล้ว ซึ่งกิจกรรมที่ควรทำกันช่วงสงกรานต์ก็คือ… การ ทำบุญตักบาตร รับวันขึ้นปีใหม่ของไทย การ สรงน้ำพระ ที่เป็นอีกกิจกรรมที่ไม่ควรพลาด อาจจะเป็นการรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน หรือที่วัด ซึ่งหลาย ๆ วัดก็มีการจัดให้สรงน้ำพระสงฆ์เพิ่มเติมด้วย รวมไปถึงการ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ โดยน้ำที่นำมาใช้รดในการนี้ควรเป็นน้ำที่เจือด้วยน้ำอบไทย ทั้งนี้ สงกรานต์เป็นอีกช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวจะได้มาอยู่พร้อมหน้า และทำกิจกรรมมงคล ต่าง ๆ ร่วมกันอย่างมีความสุข รวมถึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานดับร้อน…
“เล่นสาดน้ำ”เทศกาลสงกรานต์…
สงกรานต์ปีนี้ กระแส “แต่งชุดไทยเล่นสงกรานต์” ยิ่งมาแรง หลาย ๆ คน โดยเฉพาะคุณผู้หญิง คงไม่พลาดที่จะลุกขึ้นมานุ่งห่มแบบไทยย้อนยุค เพื่อให้เข้ากับเทศกาล เข้ากับกระแส ทั้งนี้ อ.กรณัท สุขสวัสดิ์ สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ และ อ.สุระจิตแก่นพิมพ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นและศิลปะ สิ่งทอ ภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็ร่วมกันให้ความรู้เกี่ยวกับชุดไทยว่า…
การแต่งกาย “ชุดไทย” ของไทยเรามีมาหลายยุคหลายสมัย ซึ่งแต่ละยุคแต่ละสมัย มีทั้งความคล้ายคลึงกัน และแตกต่างกันไป โดย การแต่งกายของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีวิวัฒนาการมาตามลำดับ…ในช่วง สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 จะแต่งกายคล้ายคลึงกับ สมัยธนบุรี และ สมัยอยุธยา ชาวบ้านนิยมนุ่งโจงกระเบน สำหรับชาววังนุ่งผ้าซิ่น ผ้าจีบ ห่มสไบเฉียง ชายจะนุ่งผ้าจีบและโจงกระเบน, ช่วง สมัยรัชกาลที่ 4 หญิงยังคงนุ่งโจงกระเบน แต่เปลี่ยนเป็นเสื้อแขนกระบอกผ่าอก คอปิด แล้วห่มสไบทับอีกชั้น ชายจะใส่เสื้อเหมือนชายชาวจีน และยังนุ่งโจงกระเบน
ช่วง สมัยรัชกาลที่ 5 หญิงยังคงนุ่งโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนกระบอกยาว ห่มผ้าแพรจีบตามขวาง หรือสไบเฉียงทับอีกชั้นหนึ่ง ต่อมาเปลี่ยนเป็นแบบสากลมากขึ้นโดยสวมเสื้อแบบตะวันตกแขนยาว ต้นแขนพอง เรียกว่าแขนหมูแฮมแล้วค่อย ๆ แคบมาที่ข้อมือ รวมทั้งสวมเสื้อแพรไหม ลูกไม้ มีการใส่ถุงเท้าและรองเท้า ชายจะนุ่งผ้าม่วง สวมเสื้อราชปะแตน ใส่ถุงเท้าและรองเท้า เวลาไปงานพิธี, ช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 หญิงยังคงนุ่งโจงกระเบน บ้างก็นุ่งซิ่นตามราชนิยม ใส่เสื้อลูกไม้คอลึก มีผ้าแพรบาง ๆ สะพายทับ หรือเสื้อผ้าแพรโปร่งบาง ชายจะนุ่งผ้าม่วงหรือไม่ก็เป็นกางเกงแพร สวมเสื้อราชปะแตน, ช่วง สมัยรัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลที่ 8 เป็นช่วงเลิกนุ่งโจงกระเบน เปลี่ยนเป็นผ้าซิ่นยาวแค่เข่า เสื้อตามแบบตะวันตก ขณะที่ชายก็ใส่สูทกันบ้างแล้วในยุคนี้
ต่อมาในช่วง สมัยรัชกาลที่ 9 จะเป็น ชุดไทยพระราชนิยมซึ่งสืบเนื่องมาจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริและทรงส่งเสริมผ้าไทยอย่างจริงจัง จนเกิดเป็นเครื่องแต่งกายแบบไทยตามพระราชนิยมขึ้น และต่อมากลายเป็น ชุดประจำชาติไทยที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์อันวิจิตรตระการตางดงามด้วยลวดลายไทยที่อ่อนช้อย ปักและทอลงบนผืนผ้าอย่างประณีตงดงาม โดย มี 8 แบบด้วยกันคือ… ชุดไทยเรือนต้น, ชุดไทยบรมพิมาน, ชุดไทยอมรินทร์, ชุดไทยจิตรลดา, ชุดไทยจักรพรรดิ, ชุดไทยจักรี, ชุดไทยศิวาลัย, ชุดไทยดุสิต ซึ่งเป็นชุดไทยพระราชนิยมที่
ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่งดงาม แต่ละแบบของชุดจะมีลักษณะการตัดเย็บ ออกแบบ ที่สวยโดดเด่นแตกต่างกันไป อยู่ที่ความชอบของแต่ละคนที่สวมใส่ว่าชอบชุดแบบใด โดยคนไทยนิยมใส่กันในโอกาสและพิธีการต่าง ๆ ที่เป็นทางการ
“ชุดไทย เป็นชุดประจำชาติไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนชาติอื่น ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ถูกนำมาใส่ในชีวิตประจำวัน แต่ชุดไทยก็ได้ถูกนำมาเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยที่ใส่กันในวันสำคัญ ๆ ต่าง ๆ โดยเฉพาะงานพระราชพิธี ตลอดจนงานบุญประเพณี งานแต่งงาน และงานเลี้ยงสำคัญ ๆ ต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันไม่เพียงแต่ชุดไทยพระราชนิยมเท่านั้น การแต่งกายของไทยแต่โบราณก็ถูกนำกลับมาใส่ให้เห็นกันมากด้วย” ทางผู้สันทัดกรณีระบุ
เทศกาล สงกรานต์ ก็เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่คนไทยพากันแต่งกายแบบย้อนยุค โดยเฉพาะสงกรานต์ปีนี้ ชุดไทยแบบโบราณเน้นความเป็นไทยก็คงจะมีการใส่กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ดี เป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมที่ดีของไทย
แต่กระนั้น… การแต่งกายแบบไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็มีจุดที่ต้องแตกต่างจากเทศกาลหรืองานอื่น ๆ คือ “ต้องแต่งให้เหมาะสม และรัดกุม” เพราะมีการเล่นสาดน้ำกันด้วย ซึ่งถามว่า…แล้วควรจะแต่งอย่างไร? ทางอาจารย์ทั้ง 2 ก็มีคำแนะนำว่า กระแสแต่งไทยช่วงนี้แรงเกินจะต้านทานจริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องดี และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ควรพลาดการแต่งกายให้มีกลิ่นอายของความเป็นไทยกัน แต่สิ่งที่ควรคำนึงสำหรับผู้หญิงคือ หลีกเลี่ยงชุดที่อาจถูกล้วง ควัก จับ หรือคุกคามทางเพศ ได้ง่าย
ผู้ที่จะห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน นุ่งซิ่น มีข้อจำกัดคือ สไบต้องใส่ให้เป็น รัดให้แน่น เพราะถ้าไม่แน่นก็จะหลุดได้ง่าย อีกทั้งถ้าโดนน้ำก็จะแนบติดเนื้อจนเห็นส่วนโค้งส่วนเว้าอย่างชัดเจน แนะนำให้ใส่เสื้อตัวในไว้ด้วย โดยเน้นสีทึบ อาจจะเป็นเสื้อยืด เสื้อคอกลม สีกรมท่า สีน้ำเงิน สีเทา แล้วค่อยคาดสไบเฉียง จะได้ไม่ต้องกลัวหลุด หรือกังวลว่าจะโป๊
คนที่ต้องการ ห่มสไบแบบคาดอก ก็ต้องรัดสไบให้แน่น กระชับ ให้มั่นใจว่าไม่หลุด แต่เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน ก็ควร ใส่เสื้อ คอร์เซ็ท (Corset) ไว้ด้านใน แล้วค่อยห่มสไบในแบบที่ต้องการทับอีกครั้ง ซึ่งเป็นการอำพราง ทำให้ดูไม่โป๊ด้วย หรือจะให้ดีควรใส่เสื้อด้านในก่อนห่มสไบทับ จะได้เล่นน้ำสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างสบายใจ
ส่วนท่อนล่าง นุ่งโจงกระเบน นุ่งซิ่น บางคนอาจไม่คล่องตัว เคลื่อนไหวลำบาก หากไม่ชินก็จะไม่สบายตัวในการเคลื่อนไหวร่างกาย แต่ก็มีการปรับประยุกต์ โดยนำผ้ามาผ่าข้าง ผ่าหลัง ให้เดินง่าย คล่องตัวขึ้น หรืออย่างโจงกระเบน ก็มีการตัดเย็บให้เป็นผ้าสำเร็จรูป ใส่ง่าย ถอดง่าย ไม่เกิดอุปสรรคในการเคลื่อนไหว ซึ่งหาก มีเข็มขัดรัดอีกทีก็จะช่วยให้มั่นใจขึ้น ได้กลับมาที่ท่อนบนอีกครั้ง ใครที่อยาก ใส่เสื้อลูกไม้ หากผ้ามีความบางก็ควรใส่เสื้อทับด้านใน จะเป็นเสื้อกล้ามหรือเสื้อซับในก็ได้ เพื่อไม่ให้โป๊เวลาโดนน้ำ จะได้เล่นน้ำอย่างมีความสุข ไม่ต้องคอยกังวล
ทั้งนี้ การ ใส่ผ้าไทย นั้น ก็มีการนำผ้าไทยมาตัดเป็นเสื้อ กระโปรง และกางเกง ในแบบต่าง ๆ ซึ่งแต่ละภูมิภาคก็จะมีรูปแบบชุด เสื้อผ้า ที่สวยงามแตกต่างกันไป มีให้เลือกใส่กันหลากหลาย เป็นการอนุรักษ์ไทยในอีกรูปแบบหนึ่ง หรือจะนำสไบมาห่มเฉียงทับอีกทีก็สวยงามขึ้น แต่ช่วงสงกรานต์เสื้อผ้าควรต้องสีเข้มหน่อย เนื้อผ้าไม่บาง และแต่งแบบเคลื่อนไหวได้คล่องตัว รัดกุม
ไม่ต้องกลัวหลุด-กลัวโป๊!!นอกจากแต่งกายแบบไทยย้อนยุคแล้ว ยังสามารถ ประยุกต์ชุดให้เข้ากับเทศกาล ได้อีกด้วย เช่นการใส่ เสื้อยืด หรือ เสื้อคอกลม ที่มีลูกเล่น เย็บด้วย ผ้าลายดอก จับคู่กับ ผ้าถุง ลายสวยสักผืน หรือใส่ โจงกระเบนสำเร็จรูป ซึ่งเดี๋ยวนี้หาง่าย แค่นี้ก็สามารถไปวัด ไปเล่นน้ำได้อย่างสบาย และไม่เพียงจะใส่ในเทศกาลสงกรานต์ แต่ยังเก็บไว้ใส่ในเทศกาลอื่น ๆ ได้อีกด้วย
สำหรับ สไบ ที่สาว ๆ ยุคนี้อยากใส่กันมาก ก็ สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับเสื้อผ้าสมัยใหม่ได้ไม่ยาก โดยใส่เสื้อลูกไม้
หรือชุดลูกไม้ แล้วห่มสไบสีสันสดใสทับ ก็เป็นแม่หญิงไทยเล่นสาดน้ำสงกรานต์ได้อย่างหมดความกังวลใจเรื่องชุด
อีกแบบหนึ่งที่สวยงามได้ไม่แพ้กันคือ การนำ เสื้อผ้าลูกไม้ มา ใส่คู่กับกระโปรงยาวเท่าเข่า โดยอาจจะใส่สีไปในทางเดียวกัน เป็นสีหวาน เช่น ชมพู เหลือง ฟ้า หรือจะใส่สีตัดกันระหว่างท่อนบนกับท่อนล่าง ก็สร้างความโดดเด่นขึ้นมาได้ ตรงนี้ก็จะหมดความกังวลเรื่องโป๊ ลุยเล่นสาดน้ำได้อย่างเต็มที่
รวมไปถึงในปัจจุบันคงไม่มีเสื้อลายอะไรที่จะเข้ากับการเล่นสงกรานต์ได้เท่ากับ เสื้อลายดอก ซึ่งเสื้อผ้าแนวนี้ตามท้องตลาดก็มีแบบออกมาให้เลือกเยอะ ทั้งดอกเล็ก ดอกใหญ่ ดอกพาสเทล ดอกสีสันสดใส หรือจะเป็นเสื้อลายดอกแบบวินเทจก็มี
ในส่วนของผู้ที่ต้องการใส่ชุดไทยโดยไม่ดัดแปลงหรือเพิ่มเติมอะไรลงไปในชุด อยากใส่ชุดอะไรก็ใส่ จัดเต็ม สวยงาม ถ้าแบบนี้ แทนที่จะสาดน้ำใส่กันจนเปียกไปทั้งตัว ก็ควรเปลี่ยนเป็นยื่นมือให้รดน้ำแทน พรมน้ำแบบพองาม หรือพอจะมีใครมาสาดน้ำก็รีบบอกเขาไปว่า “ใส่ชุดไทยสวยงาม ขอให้รดตรงมือนะคะ” ซึ่งเป็นการเล่นน้ำอย่างสุภาพ สร้างมิติใหม่ในการเล่นสงกรานต์แบบดั้งเดิม เป็นการนำวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมกลับมา แต่ตรงนี้ก็ต้องมั่นใจได้จริง ๆ ด้วยว่าจะไม่มีใครสาดน้ำใส่ชุดไทยสวยงามของเรา
“คนไทยสมัยก่อนเล่นสงกรานต์กันแบบเบา ๆ ไม่ได้ถือปืนฉีดน้ำ หรือขนน้ำขึ้นรถกระบะไล่สาดกันเหมือนในปัจจุบัน เราอาจจะถือขันใบหนึ่งไว้พรมใส่คนอื่น หรืออาจจะเป็นดินสอพองผสมน้ำไว้ปะหน้าเบา ๆ เขาจะได้ไม่สาดใส่เราจนเปียกไปทั้งชุด” เป็นคำแนะนำทิ้งท้ายเกี่ยวกับการ “ใส่ชุดไทยเล่นสงกรานต์”.”ชุดแต่งกายแบบไทย” ไม่ว่าจะแบบไหน พื้นที่ใด ล้วนมีความประณีต สวยงาม เหมาะจะนำมาใส่ในเทศกาล “สงกรานต์” ที่สำคัญและมีคุณค่ายิ่งต่อสังคมไทย เพื่อเป็นการ “ร่วมสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงาม” ของไทย…
ให้คงอยู่กับสังคมไทยไปตราบนาน…
“…สิ่งที่ควรคำนึงสำหรับผู้หญิง…”