กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561
กรุงเทพธุรกิจ
พลังงานถือเป็นเรื่องที่ผูกพันกับการใช้ชีวิตของคนเราตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการให้ แสงสว่างจากไฟฟ้า ชาร์จแบตเตอรี่ให้สมาร์ทโฟน เต็มน้ำมันขับรถยนต์ ซึ่ง คาบเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในอนาคตที่เคยมีการคาดการณ์กันว่า ในอีกไม่ช้าพลังงานจากเชื้อเพลิงอย่าง “น้ำมัน” จะหมดไป การค้นคว้า และพัฒนาพลังงานทางเลือกจากธรรมชาติจึงกลายเป็นสิ่งที่เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น
“การบริโภคพลังงานของโลกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยทุก 30 ปีเพิ่มเป็นเท่าตัว หากค้นพบพลังงานเพิ่มได้ 10 เท่า แต่ยังบริโภคเหมือนเดิม เราจะมีใช้ได้อีก 100 ปี”
รศ.ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง ศูนย์วิจัยระบบพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวใน ในการเสวนาเรื่อง “พลังงานชุมชน สร้างอนาคตพลังงานไทยอย่างยั่งยืน” ภายในงาน “สานพลังชุมชนท้องถิ่น เข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ โดยสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เมื่อเร็วๆ นี้
เขายกตัวอย่างการใช้พลังงานเมื่อปี 2559 ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 คิดเป็น 3 หมื่น เมกะวัตต์ ขณะที่ผลิตได้ 4 หมื่นเมกะวัตต์ จะเห็นว่ามีส่วนต่างไม่มากนัก
จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานภาครัฐ มีโครงการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ขึ้น ทว่า ภาคประชาสังคมไม่ เห็นด้วย เพราะมีความเห็นว่าสามารถหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาทดแทนได้บางส่วน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
อย่างการนำเอาแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ที่โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ เล่าว่าโรงพยาบาลเพิ่งติดตั้งแผง โซลาร์ 68 แผ่น (ผลิตไฟฟ้าได้ 20 กิโลวัตต์) มาราว 3-4 เดือนแล้ว โดยมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งครั้งแรกประมาณ 8 แสนบาท
ภายหลังการติดตั้งในเดือนแรกนั้นสามารถลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าลง 3.5 หมื่นบาท เดือนต่อมาประหยัดได้ 5.4 หมื่นบาท ค่าใช้จ่ายที่หายไปนั้นมีการทำร่วมกับมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วยไม่ว่าจะเป็น เปลี่ยนแอร์บางตัว เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน และสลับการใช้เครื่องมือแพทย์ ไม่ให้ทำงานพร้อมกัน
หลักการ คือ แผงโซลาร์บนหลังคารับแสงแดดแล้วเข้าเครื่องแปลงไฟ (อินเวอร์เตอร์) ผสมไฟจากแผงโซลาร์กับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งวันไหนเมฆมาก ไฟจากการไฟฟ้าเข้าเครื่องอินเวอร์เตอร์มาก วันไหนแสงแดดมาก ผลิตพลังงานได้เยอะ ไฟจากการไฟฟ้าเข้ามาน้อย เพื่อป้องกันระบบกระแสไฟในโรงพยาบาลมีปัญหา เพราะจะเกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คนไม่ว่าจะเป็นห้องฉุกเฉิน ห้องคลอดมีเจ้าหน้าที่ทำงาน 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ระบบจะต้องมั่นคง
คุณหมอสุภัทรบอกว่า โรงพยาบาลใช้ไฟฟ้าสูงสุดช่วงสิบโมงกับบ่ายโมง ตอนเที่ยงใช้น้อยเพราะปิดแอร์ ทำให้เห็นว่ากลางวันใช้ไฟเยอะ โดยระบบนี้คาดว่า จะคืนทุนภายใน 6 ปี แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในโรงพยาบาลให้เห็นความสำคัญ และรู้จักใช้พลังงานให้คุ้มค่าขึ้น
“เจ้าหน้าที่เคยบอกเมื่อก่อนหมอให้ประหยัดไฟปิดแอร์ เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง เขาประหยัดเองโดยอัตโนมัติ เพราะผลิตเอง จริงๆ มันทำให้เห็นว่า แสงอาทิตย์มีความมหัศจรรย์มากจริงๆ ก่อนหน้านี้เราคิดแต่ประหยัดไฟ กดดันกันเองในโรงพยาบาล ไม่เปิดแอร์ พิสูจน์ว่าไม่ได้ผล โลกมันร้อน ทำงานกันไม่ไหว พอเราเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อประหยัดไม่ไหวก็หาวิธีสร้างพลังงาน ติดแผงโซลาร์ดีกว่า”
ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบล ตงเปา (อบต.ปงเตา) อ.งาว จ.ลำปาง มีปัญหาที่ต่างออกไป โดยสภาพชุมชน อยู่ติดกับป่าไผ่มีพื้นที่ 5,000 ไร่ เป็นป่าชุมชนต้นแบบ ชาวบ้านดูแลกันเอง และตัดมาใช้สอย
ในพื้นที่มีโรงงานแปรรูปจากไม้ไผ่ 10 แห่ง ทำเป็นตะเกียบ ไม่จิ้มฟัน ไม้ปิ้งปลาดุก แปรรูปได้ 150 ลำ/โรง/วัน หรือ 1,800 กก./โรง/วัน โดยประมาณ และเหลือเศษทิ้งจำนวนมาก ที่ผ่านมาชาวบ้าน กำจัดเศษไม้เหลือทิ้งด้วยการเผา ทำให้เกิดฝุ่นควัน มีก๊าซอันตราย อย่าง ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งวกกลับมาที่คนในชุมชนเอง ทำให้ชาวบ้านมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ทางอบต.จึงร่วมกับชุมชนหาแนวทางแก้ไขร่วมกันโดยมีมติเห็นว่าควรมีการจัดการพลังงานแทนการเผาทิ้ง ได้ข้อสรุปว่าทำเป็น “ถ่านอัดแท่ง” ปิยะสันต์ ปัญจขันธ์ วิศวกรโยธา อบต.ปงเตา อธิบายว่า ในพื้นที่มีโรงงาน 10 แห่ง โดยช่วงที่แปรรูปสูงสุดโรงงานใช้ไม้ไผ่แห่งละ 150 ลำ (ลำหนึ่งๆ ยาว 12 เมตร) โดยไม้ไผ่ที่ นำมาแปรรูปมีส่วนที่ใช้ประโยชน์เพียง 12 เปอร์เซ็นต์ อีก 88 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นข้อและเศษไม้เหลือทิ้ง เมื่อก่อนชาวบ้านแอบเผาทิ้งตอน กลางคืน เกิดปัญหาหมอกควัน สุดท้ายส่งผลกระทบ ต่อตัวเขาเอง สูดดมเข้าไป ชาวบ้านมีปัญหาระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ปี 2554 ก่อนหน้านี้ทาง อบต.มีโครงการทำระบบไฟฟ้าชีวมวล โดยทำประชาคมหมู่บ้าน 13 แห่งแล้ว ชาวบ้านเห็นด้วย แต่ต่อมา รัฐบาลเปลี่ยนนโยบาย ทาง อบต.จึงต้องหาแนวทางใหม่ โดยปรึกษากับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยพะเยา และสำนักงานพลังงานจังหวัดลำปาง เกิดเป็นโครงการถ่านอัดแท่งจากไม้ไผ่ เพื่อแก้ปัญหา เศษไม้ไผ่เหลือทิ้ง ทั้งยังเป็นการสร้าง มูลค่าเพิ่มด้วย
สมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มทำถ่านอัดแท่งจากไม้ไผ่ สามารถยืมอุปกรณ์ไปใช้ โดยมีเงื่อนไขว่าทุก 1 เดือนต้องส่งผงถ่านให้กลุ่ม 100 กก. และกลุ่มรับซื้อในราคา กก. 3 บาท
จากโครงการดังกล่าว ทำให้การเผาเศษไม้ไผ่ในชุมชนลดลง เพราะตอนนี้เศษไม้ไผ่ไม่ใช่เศษขยะอีกต่อไป หากแต่เป็นวัตถุดิบสำหรับนำมาผลิตถ่าน รายที่ไม่ทำถ่านก็ขายเป็นเศษไม้ มีผู้รับซื้อ กก.ละ 50 สตางค์
ปัจจุบัน มีการเผาถ่านจากเศษไม้ไผ่เหลือใช้ประมาณ 15 ตัน/วัน ผลิตเป็นถ่านได้ 700 กก./วัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่โดยศักยภาพของอุปกรณ์ที่มี ทำให้กลุ่มผลิตได้ปริมาณข้างต้น และจำหน่ายในลักษณะพรี-ออเดอร์
“เราผลิตได้เท่านี้ จ้างสมาชิก ทำให้ค่าแรงวันละ 300 บาท เตาเผา เต็มประสิทธิภาพ ส่วนเศษไม้ไผ่ ที่เหลือ เราบอกชาวบ้านว่า ไม่ต้องเผา และติดต่อให้คนมาซื้อ” ปิยะสันต์บอก
ชาวบ้านที่ต้องการเป็นสมาชิกกลุ่ม ต้องซื้อหุ้นๆ ละ 100 บาท โดยจะได้สิทธิ์ดังนี้ คือ สามารถยืมถังซึ่งเป็นอุปกรณ์ขั้นต้นในการผลิตถ่านไปใช้ ต่อมา กลุ่มรับซื้อถ่านราคา 3 บาท/กก. กลุ่มรับซื้อเศษไม้ราคา 50 สตางค์/กก. ปลายปีมีเงินปันผลหุ้นให้ และหากกลุ่มมีเงินหมุนเวียนมากพอจะจัดสวัสดิการให้สมาชิก
“การทำเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านมี ส่วนร่วมและหวงแหน ไม่เผาเศษไม้ สามารถนำของเหลือทิ้งมาเป็นพลังงานได้ ถ่านอัดแท่งขายส่ง กก.ละ 12 บาท ทางกลุ่มขายปลีก กก.ละ 15-20 บาท ประสิทธิภาพของถ่านอัดแท่งดีกว่า ถ่านทั่วไป สมมติถ่านถั่วไปใช้เผาได้ 1 ชั่วโมง ตัวนี้ใช้ได้ 3 ชั่วโมง แต่ ราคาจะสูงกว่านิดหน่อย สิ่งที่ อบต.ทำเพื่อจะบอกว่า ยังมีพลังงาน จากแหล่งอื่น ซึ่งไม่ใช่แก๊ส หรือไฟฟ้า” ปิยะสันต์ กล่าว
“ถ่านอัดแท่งจากไม้ไผ่” ของ อบต.ปงเตาจึงมิเพียงแก้ปัญหาการ เผาเศษไม้ทิ้ง แต่ยังแก้ปัญหาระบบ ทางเดินหายใจ ชาวบ้านมีสุขภาพดีขึ้น ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อีกด้วย
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของทางเลือกการจัดสรรพลังงานให้เหมาะกับ สภาพพื้นที่ และยิ่งแสดงให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมของผู้คนในพื้นที่มี ส่วนสำคัญต่อวิธีการจัดการทรัพยากรอย่างแท้จริง
สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในโรงพยาบาล ให้ใช้พลังงานให้คุ้มค่าขึ้น