สยามรัฐ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
เสกสรร สิทธาคม / เรียบเรียง
ชลธิชา ศรีอุบล มทร.ธัญบุรี / ข้อมูล
“…เมื่อมีโอกาสและมีงานให้ทำ ควรเต็มใจ ทำโดยไม่จำเป็นต้องตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใด ไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง คนที่ทำงานได้จริงๆ นั้น ไม่ว่าจะจับงานสิ่งใดย่อมทำได้เสมอ ถ้ายิ่งมีความเอาใจใส่ มีความขยันและซื่อสัตย์สุจริต ก็ยิ่งจะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในงานที่ทำสูงขึ้น…”
พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา, 8 กรกฎาคม 2530
“13 ปีที่ได้มาทำงานตรงนี้ จากจุดเริ่มต้นเป็นคนที่เคยอยู่แต่เรื่องใกล้ตัว ทำในเรื่องใกล้ตัว สอนหนังสือดูงานรับผิดชอบที่เป็นงานปกติ แต่เพราะได้เห็นภาพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทั้งทางโทรทัศน์บ้าง ทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อต่างๆบ้าง ปฏิทินบ้างเริ่มฉุกคิดว่าทำไมทรงทำงานหนักอย่างนั้น ทำไมทรงทำเพื่อคนอื่นมากมายอย่างนั้น มากจนไม่อาจยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบได้ เริ่มปรับตัวหันมามองตัวเองแล้วค่อยๆ มองคนอื่นมากขึ้น กลายเป็นคนที่มององค์กรมากขึ้นและมองว่าถ้าไม่มีองค์กรคงไม่มีเรา ไม่มีคนอื่นเราอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวได้หรือไม่ ก็ไม่ต่างอะไรถ้าไม่มีมหาวิทยาลัยเราอาจพลาดโอกาสที่จะได้ทำงานจิตอาสา และเกิดความประทับใจที่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ได้นำความรู้ความสามารถไปสร้างสรรค์ และแบ่งปันให้สังคมได้ ที่สำคัญผมว่าได้ซึมซับแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้ ด้วยทรงมุ่งหวังให้ประชาชนของพระองค์คิดแล้วลองเอาไปปฏิบัติ” คำบอกเล่าของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ แก้วสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่ปรึกษาชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรีคนอาสาทุ่มเท ผู้มีหัวใจอาสา เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับพื้นที่ห่างไกลจากที่มีโอกาสได้ถามไถ่พูดคุย อาจารย์ณัฐบอกว่าสำหรับตนเองไม่กล้าใช้ว่าจิตอาสา ใช้คำว่า ทดแทนคุณแผ่นดินดีกว่า เพราะว่าหลังจากได้เกิดความสำนึกจากที่เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างมิทรงรู้เหน็ดเหนื่อยเพื่อเป้าหมายประโยชน์สุขแก่ราษฎรของพระองค์และเมื่อเข้ามาเป็นข้าราชการที่ต้องทำงานถวายต่างพระเนตรพระกรรณ เป็นกำลังสำคัญของพระองค์ทำเพื่อส่วนรวม เมื่อมีความสามารถอย่างไรช่วยอะไรกับสังคมและประเทศนี้ได้ก็จะทำ
“บอกต้องขอให้ย้อนไปดูในหลวงรัชกาลที่ 9 การดึงความรู้สึกวิถีการดำเนินชีวิตกลับมาสู่การมองประโยชน์ส่วนรวมทรงเป็นต้นแบบของการทำงานทุกอย่างสำหรับชีวิตของผมแล้ว ในการทำงานค่ายมีหลายเรื่องรู้สึกท้อแท้ มีคำถามมากมายเกิดขึ้นจะทำเสร็จไหม ทำไมจะต้องมาใช้ชีวิตลำบาก บางพื้นที่ก็ทำงานยากมาก การเป็นอยู่หลับนอนตามสภาพพื้นที่จริงไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ทำงานตากแดด ตากลมตั้งแต่เช้าจนดึกทำไมต้องทำถึงขนาดนี้ แต่เมื่อเห็นรูปพระองค์ท่านในข่าวในปฏิทิน แล้วอ่านพระราชดำรัสพระบรมราโชวาทผมรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำมันน้อยนิดเหลือเกิน พระองค์ท่านเป็นพลังของแผ่นดิน สร้างแรงผลักดันทุกอย่าง ให้ผมเองทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงจังไม่ได้แต่ประโยชน์ตนดัง แต่ก่อนทรงเป็นแรงบันดาลใจของผมจริงๆเหนื่อยเมื่อไหร่ผมก็มองพระองค์ท่านจะหายเหนื่อย”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐ บอกสีหน้าเปี่ยมสุขแล้วพูดถึงประวัติตัวเองย่อๆ ว่า เป็นคนอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช พ่อเป็นข้าราชการครู ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ส่วนแม่ค้าขาย
“ลูกครูนะแต่ต้องไปทำนา เราเลยติดพื้นฐานความแข็งแกร่งมา เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นอยู่ อยู่ได้หมดแล้วยิ่งมาทำค่ายไม่ได้สะทกสะท้านอยู่ยังไงก็ได้เพราะว่าพื้นฐานเราก็เริ่มมาจากตรงนั้น ก็เลยไม่รู้สึกลำบากกับการที่ต้องไปอยู่กลางป่ากลางหุบเขาเพียงแต่ช่วงแรกๆ ยังรู้สึกว่าทำไมเราต้องมาอย่างนี้ไม่มาก็สบายอยู่แล้ว”
อาจารย์ณัฐบอกอีกว่าเมื่อปี 2531 เข้ามาเรียนในระดับ ปวช.และ ปวส. ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตพระนครเหนือ และเรียนต่อในระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์อุตสาหการ วิชาเอกวิศวกรรมงานเชื่อมประกอบ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเขตเทเวศร์ (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์) โดยอาศัยอยู่วัดลครทำ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานครหลวงตาสอนทุกวันว่า “คนเกิดก่อนต้องช่วยคนเกิดทีหลัง” เป็นสิ่งที่จำฝังใจตลอดมา
หลังสำเร็จการศึกษา ปี 2538 อาจารย์ณัฐบอกได้บรรจุรับราชการครูที่ ภาควิชาครุศาสตร์อุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เขตเทเวศร์ และเมื่อปี 2539 ได้ย้ายมาบรรจุราชการครูที่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมศูนย์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) เมื่อปี 2547 ได้เริ่มออกค่ายชมรมราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี ครั้งแรกที่ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
“ผมคิดและมองว่าสาขาที่เรียนมามันมีประโยชน์ มันทำได้ มันสามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งปลูกสร้างอาคารเรียนให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนและเกิดแก่โรงเรียนได้ ด้วยวิชาชีพที่เรามี ต้องคืนให้แผ่นดินบ้าง แล้วก็คิดถึงภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำงานเพื่อประชาชนผมตระหนักถึงสิ่งที่พระองค์ทำพระองค์ทรงแนะการดำเนินชีวิต จึงมีความมุ่งมั่นว่าจะเดินตามรอยพระยุคลบาทมีโอกาสทำอะไรให้สังคมได้จะทำ”
อาจารย์ณัฐให้ข้อสังเกตว่าปัจจุบันสังคมและโลกเปลี่ยนไป ความเป็นชาวค่ายเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งในอดีตคนอาสาเข้ามาทำงานค่ายอาสามีจำนวนมาก การออกค่ายสนุก ทำงานค่อนข้างสนุก แต่พักหลังนี่รู้สึกกลิ่นอายมันจะหายไป เพราะว่าเป้าหมายในการทำค่ายเปลี่ยนไปพอสมควร เพิ่มฟังก์ชันให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ค่ายอาสาล่าสุดในการสร้างอาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติหลังที่47 48 และ 49 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ตชด.บ้านห้วยสลุง อ.แม่ระมาด จ.ตาก อาคารเรียน 3 หลัง ใช้เวลาเพียง 35 วัน พื้นที่ก่อสร้างอาคาร3 หลัง ไม่น้อยกว่า 1,100 ตารางเมตร ต้องทำงานแข่งกับเวลาในการทำกิจกรรมระหว่างสร้างค่ายแทบจะไม่มีเลย การผ่อนคลายต่างๆอรรถรสของค่ายอาสาก็จะน้อยลง
“ในการออกค่ายอาสามีอุปสรรคทุกปีและทวีความท้าทายมากขึ้นทุกปี เกี่ยวกับลักษณะอุปนิสัยของเด็กๆ ที่จะเข้ามา ต้องมีการกระตุ้น อบรมสร้างจิตสำนึกทุกวันเพื่อให้ได้ขยับตัว เข้าไปมีส่วนร่วมทำงานกับเพื่อน ซึ่งนี่คือความแตกต่างของเด็กสมัยก่อนกับเด็กในปัจจุบันที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน ที่สำคัญต้องน้อมนำศาสตร์พระราชาหรือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงฯเข้าไปปลูกฝังหล่อหลอมกระตุ้นให้ตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวม ต้องย้ำให้มีความเพียร ขยัน อดทน เสียสละ เอื้อเฟื้อมีเมตตากรุณาต่อกัน ซึ่งถ้าไม่มีโครงการหรือกิจกรรมประเภทการปลูกสร้าง จะกระตุ้นจิตอาสาได้ค่อนข้างยาก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต่อไปในอนาคตคือบุคลากรของประเทศ ตนเองในฐานะของที่ปรึกษาของค่ายอาสาต้องรับผิดชอบสมาชิกค่าย ไม่เพียงสร้างอาคารเรียนเพียง 30 วัน แต่มากกว่านั่นทำงานกันนานมากกว่าจะจัดเตรียมกลุ่มสตาฟฟ์ทีมงานในชมรมอาสาเพื่อที่จะแบ่งสรรหน้าที่พาสมาชิกค่ายออกไปประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อหางบประมาณสนับสนุน”
ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯอาจารย์ณัฐบอกด้วยว่า โดยเนื้องานทุกอย่างเป็นการสร้างทักษะให้นักศึกษา ต้องสอนนักศึกษาทั้งหมดทุกกระบวนการ นักศึกษาที่ใฝ่รู้จะได้เนื้อหาได้ประสบการณ์ตรงนี้เต็มรูปแบบ หลักสำคัญที่ต้องย้ำเข้าสู่สำนึกนักศึกษาคือให้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจกรรมและชีวิตสุดท้ายก็ยืนดูผลงานแบบภูมิใจทุกครั้งที่นักศึกษาได้ลงมือและสำเร็จทุกครั้ง ภูมิใจที่เห็นลูกศิษย์ทำได้ ออกไปสู่สังคมและตลาดแรงงานที่จะพึ่งพาตัวเองได้ เป็นที่พึ่งของสังคมได้ แล้วยังเป็นคนดีด้วย
“การทำค่ายอาสาได้เห็นสภาพโรงเรียนที่ตนเองไปสร้าง มองว่าถ้าประเทศจะก้าวไปข้างหน้าทุกคนต้องมีพื้นฐานการศึกษาระดับหนึ่ง ต้องรู้ว่าหน้าที่ของตัวเองต้องทำอะไร กติกาสังคมมันเป็นยังไง การศึกษาจะช่วยสอนขัดเกลา ดังนั้นในการสร้างคนเป็นอะไรที่ท้าทายที่สุด พยายามปลูกฝังให้นักศึกษาในสาขาวิชาครู คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสา เนื่องจากการเรียนอยู่ในหลักสูตรอย่างเดียวไม่ได้ ต้องไปเห็นบริบทของการเป็นครูจริงๆ เพราะฉะนั้นการที่นักศึกษาได้ออกค่ายอาสา ไปอยู่ไปนอนอยู่ในโรงเรียนเวลา 30 วัน นักศึกษาได้เห็นบริบทของ คุณครูสำนึกความเป็นครู การเสียสละ ความเพียรความอดทน นอกเหนือจากการเรียนการสอนในห้อง ครูจะต้องดูแลเด็กต้องอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอน เพราะฉะนั้น การที่ให้นักศึกษาสายครูออกค่ายอาสานักศึกษาจะได้เห็นวิชาชีพครูจริงๆ ควรจะเติมแต่ง ทักษะหรือความรู้ความสามารถด้านไหน เพื่อที่จะไปปรับให้สภาพแวดล้อมในการเรียนการสอนมันเหมาะสมขึ้นและดีขึ้น โดยใช้วิชาชีพตัวเองที่มีอยู่”
อาจารย์ณัฐกล่าวทิ้งท้ายอย่างภาคภูมิใจว่าการทำกิจกรรมพวกนี้มันทำได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย แต่มีกิจกรรมอีกมากมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ออกค่ายอาสา กิจกรรมอะไรมองว่ามันเป็นประโยชน์แก่สังคมประโยชน์เพื่อส่วนรวม ดังที่เราคนไทยได้สัมผัสกับพระมหากรุณาธิคุณผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ทรงทุ่มเทพระองค์ทรงทำตลอดเวลา 70 ปีตราบเสด็จสวรรคตทรงทำแทบไม่ได้หยุดเพื่อสำราญพระราชหฤทัยส่วนพระองค์เลย เราคนไทยต้องร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานตามรอยพระยุคลบาทร่วมกันสร้างสังคมสมบูรณ์ดีงามเจริญด้านจิตใจอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบด้วยวิถีแห่งความพออยู่พอกินตามพระราชดำรัสขึ้นการที่จะหมกมุ่นคิดอยู่แต่เรื่องตัวเอง เรื่องส่วนตัวด้วยความโลภเป็นที่ตั้งที่สุดแล้วไม่มีสังคมดีงามเราก็อยู่ไม่ได้