กุมภาพันธ์ เดือนที่อบอวลไปด้วยความสุขในการแสดงออกถึง “ความรัก” ซึ่งคนส่วนใหญ่มักพากันมอบดอกไม้ ช็อกโกแลต และของขวัญ ให้คนที่ตัวเองหมายตา แต่ในช่วงเทศกาล “วาเลนไทน์” ที่ผ่านมา นักศึกษา 7 สาขาวิชา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ต่างพร้อมใจพากันเข้าวัด เพื่อทำกิจกรรม โครงการปลูกต้นไม้ด้วยสารชีวภาพนาโนเคลือบหัวเชื้อจุลินทรีย์และสารสกัดชีวภาพ THAN Nano ณ วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันปลูกต้นไม้และปรับภูมิทัศน์บริเวณรอบวัดปัญญานันทารามแถมยังได้นักวิจัยผู้คิดค้นสารสกัดชีวภาพ THAN Nano ผศ.ดร.สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม และพระเณร วัดปัญญานันทารามด้วย
เป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆที่น่าหนับหนุนแต่ก่อนจะไปเปิดใจตัวแทนน้องๆนักศึกษาที่มาทำกิจกรรม “นิสิตา” ขอมีสาระด้วยการจับเข่าคุยกับนักวิจัยผู้คิดค้นสิ่งดีๆก่อน ผศ.ดร.สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์ เปิดประเด็นว่า “คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมทางชีวภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพจุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อราแบคทีเรีย แอกติ โมมัยซิส ปฏิปักษ์ เรียกว่า กล้าหัวเชื้อราหัวเชื้อชีวภาพอัดเม็ด หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน ตามสิทธิบัตรสุกาญจน์ 2555 และ 2557 ภายใต้เครื่องหมายการค้า THAN และได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยหรือ RMUT Tengagements เปิดให้บริการวิชาการสู่ชุมชน ซึ่งวัดปัญญานันทารามเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของชาวพุทธและเป็นชุมชนใกล้มหาวิทยาลัย จึงเข้ามาช่วยจัดภูมิทัศน์รอบบริเวณวัดให้ร่มรื่นเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม เพื่อพัฒนาวัดตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ ผ่านโครงการปลูกต้นไม้ด้วยสารชีวภาพนาโนเคลือบหัวเชื้อจุลินทรีย์และสารสกัดชีวภาพ THAN Nano นอกจากนี้ ยังเป็นการบูรณาการการบริการวิชาการกับการเรียน การสอน งานวิจัย และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมแบบมีส่วนร่วมด้วย”
หันมาที่วัยจี๊ดผู้ร่วมลงแรงมอบความรักและทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม “ณัฐชา”…พลชา เจียกขจร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขา วิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ อดีตประธานฝ่ายนักศึกษาสัมพันธ์สโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับช่วงสานต่อว่า “สโมสรนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดกิจกรรมจิตอาสาและบริการวิชาการร่วมกับฝ่ายพัฒนานักศึกษาของคณะเพื่อให้นักศึกษาทั้ง 7 สาขาวิชาได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมซึ่งมีหลากหลายและกิจกรรมก็จะต่างกันออกไป เมื่อทราบว่ามีโครงการปลูกต้นไม้ให้กับวัดปัญญานันทารามจึงพาน้องๆในสาขาวิชามาเข้าร่วม เพราะว่าเป็นกิจกรรมที่ดีสร้างจิตสำนึกให้กับตนเองและปลุกจิตสำนึกหน้าที่ชาวพุทธในเดือนแห่งความรัก ซึ่งน้อยมากที่จะด้มาทำกิจกรรมแบบนี้ในวัด”
ตามมาติดๆ ด้วย “เตอร์”…พรหมเมธ พินิจการ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาชีววิทยาบอกว่า “การใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน THAN ดีต่อธรรมชาติเพราะเป็นปุ๋ยชีวภาพที่มีส่วนประกอบจากพวกเชื้อรา จุลินทรีย์ต่างๆเป็นการส่งเสริมและรักษาธรรมชาติ ไม่มีสารตกค้าง มีคุณสมบัติเด่นและแตกต่างจากจุลินทรีย์อื่นในท้องตลาด เป็นตัวเร่งการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองมีค่ามากกว่าค่ามาตรฐานของกรมที่ดินที่กำหนดไว้ พืชสามารถดูดสารประกอบธาตุอาหารหลัก รองและเสริม ในรูปที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตหลังการเพาะปลูกได้ดีกว่าปกติที่เกษตรกรปลูกด้วยปุ๋ยเคมี 2-3 เท่า สามารถควบคุมเชื้อราก่อโรคและเพิ่มการสร้างภูมิคุ้มกันต่อพืชเตอร์รักธรรมชาติและอยากจะอนุรักษ์ธรรมชาติจึงเลือกเรียนสาขานี้ดีใจมากครับที่ได้มาทำกิจกรรมในครั้งนี้เพราะเป็นการนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมามาปรับใช้กับสิ่งแวดล้อม”
“ไอซ์”…ประภา ชินไธสง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อนร่วมสาขาวิชาชีววิทยา เล่าเสริมว่า “สารชีวภาพนาโนเคลือบหัวเชื้อจุลินทรีย์และสารสกัดชีวภาพ THAN Nano มีคุณสมบัติเด่น คือช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างในดินให้เป็นกลางกำจัดโลหะหนักที่ปนเปื้อนในดินน้ำ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่มีสารโลหะปนเปื้อนปลอดภัยต่อผู้บริโภค ได้มาตรฐานผลผลิตตาม GAP หรือ organic Thailand ทำให้ดินร่วนซุย และเก็บความชื้นในดินนานและลดการสูญเสียธาตุอาหารในดิน ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น รู้สึกดีมากๆที่ได้มาร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ในวัดในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์เพราะโอกาสน้อยมากที่จะได้มาทำกิจกรรมดีๆในวัดเมื่อเราปลูกต้นไม้ทำให้วัดร่มรื่น น่าอยู่ มีอากาศบริสุทธิ์ให้คนมาปฏิบัติธรรม ถือว่าเราก็มีส่วนได้สร้างบุญกุศล”
หันมาที่ “ธร”…พสธร ฉวีวรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาสถิติประยุกต์ ฉีกยิ้มก่อนสาธยายว่า “สำหรับพวกผมไม่มีอะไรมากเพราะช่วงเช้าไม่มีเรียนและอยู่ว่างๆจึงชักชวนเพื่อนๆในสาขาวิชามาเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจปกติจะไม่ค่อยได้มีโอกาสเข้าวัด ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าวัดแล้วยังได้บำเพ็ญประโยชน์ด้วยการปลูกต้นไม้ในวัด ซึ่งจะสร้างร่มเงาให้กับคนที่มาปฏิบัติธรรม สำหรับขั้นตอนการปลูกต้นไม้ไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยากอะไรแค่ขุดหลุมแล้วก็รองด้วยปุ๋ยของอาจารย์ ซึ่งเป็นปุ๋ยที่อาจารย์คิดค้นสูตรขึ้นเองและทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องปุ๋ยชีวภาพเพิ่มเติม การมาร่วมทำกิจกรรมในครั้งนี้ผมถือว่าได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมอีกวิธีหนึ่งเพราะวัดเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธภูมิใจที่ได้ทำอะไรดีๆเพื่อคนอื่น”
ปิดท้ายด้วย “แจม”…รุจิรา ดินไธสง นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาเคมี บอกว่า “ดีใจที่ได้เป็นตัวแทนของสาขาวิชาเคมีมาร่วมกิจกรรมเพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาปลูกต้นไม้ในวัดปกติจะเข้ามาทำบุญถวายสังฆทานการลงมือปลูกต้นไม้ก็ต้องขุดดิน ซึ่งดินอาจจะแข็งไปหน่อยแต่รู้สึกดีที่ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ เพราะต้นไม้ที่พวกเราลงมือปลูกจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้นในวัด ทำให้อากาศบริสุทธิ์ ด้วยหนูเองเรียนสาขาวิชาเคมี ซึ่งสารเคมีที่ตกค้างถ้าสะสมเยอะๆจะอันตรายมาก รู้สึกดีที่ได้นำปุ๋ยชีวภาพมาใช้ในครั้งนี้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ามีโอกาสอยากเข้าร่วมโครงการดีๆในวัดแบบนี้อีกถือเป็นการทำหน้าที่ชาวพุทธที่ดีอีกทางหนึ่ง”
เห็นความตั้งใจและฟังมุมมองของน้องๆแล้ว “นิสิตา” ว่าเป็นกิจกรรมดีๆที่น่าเอาเยี่ยงอย่างเพราะนอกจากจะปลูกต้นไม้เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับวัดแล้ว ต้นไม้ที่ปลูกยังใช้สารชีวภาพที่ไม่มีสารพิษตกค้างที่สำคัญเป็นการดึงนักศึกษาเข้าวัดเพื่อทำสิ่งดีงามในช่วงเทศกาลแห่งความรัก