แบเบอร์ ม.กรุงเทพธนบุรี ผงาดขึ้นครอง “เจ้าทองปัญญาชนเกมส์” เป็นครั้งแรกและเป็น ม.เอกชนแห่งที่ 3 กับการคว้าตำแหน่งนี้ หลังจากที่โค้งสุดท้าย “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” งาบเหรียญได้อื้อซ่า 77 ทอง 27 เงิน 29 ทองแดง ทิ้ง “แชมป์เก่า” สพล. ไปถึง 6 ทอง ขณะที่วันสุดท้ายยังมีลุ้นคว้าเพิ่มได้อีกจาก ฟุตบอลชาย, เทนนิส ชายเดี่ยว และ ว่ายน้ำ ส่วน เด็กพละดันเต็มที่น่าจะมีติดมือไม่เกิน 2 ทอง ทั้งฟุตบอลหญิง และ วอลเลย์บอลชายหาดทีมชายที่เข้าชิงชนะเลิศแล้ว โอกาสไล่ไม่ทันแน่ ด้าน “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ ฉลามหนุ่มทีมชาติฮึดพังสถิติเดี่ยวผสม 200 เมตรชาย คว้าทองที่ 4 ให้ตัวเองอย่างสวยงาม ขณะที่เจ้าภาพครั้งต่อไป มรภ.อุบลฯ เผยทุ่มงบกว่า 230 ล้านบาทสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ที่จะเสร็จส่งมอบ ก.พ.นี้ และจัดการแข่งขันไว้พร้อมแล้ว มั่นใจจัดได้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร วางล็อกกีฬาแข่งขันที่ 27 ชนิดแต่อาจมีเพิ่มอีกยันไม่เกิน 30 กีฬาแย่ พร้อมตั้งค่ายมวยเล็งให้เป็นกีฬาเด็ดเก็บเหรียญทองให้สถาบัน ยึดวันจัดลงล็อกที่ 11-20 ม.ค.ปีหน้า
การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” ที่ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย โดยทัพนักกีฬาจากม.กรุงเทพธนบุรี ค่อนข้างจะแบเบอร์กับการขึ้นครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองปัญญาชนเกมส์ได้เป็นสมัยแรกแล้ว หลังจากที่คว้ามาได้แล้ว 77 ทอง 27 เงิน 29 ทองแดง นำเป็นที่ 1 ตารางเหรียญ ในขณะที่ยังเหลือการแข่งขันในวันสุดท้าย 31 ม.ค. อีก 26 เหรียญทอง ซึ่งมองตามสถานการณ์แล้ว สถาบันการพลศึกษา ที่ตามเป็นที่ 2 คว้ามาได้แล้ว 71 ทอง 54 เงิน 44 ทองแดง ไม่น่าจะไล่ตามทันเนื่องจากเหลือลุ้นคว้าเหรียญทองจากฟุตบอลทีมหญิง ที่เข้าชิงชนะเลิศกับ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย และ วอลเลย์บอลชายหาด ทีมชาย ซึ่งเข้าชิงชนะเลิศกับ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ
ส่วน ม.กรุงเทพธนบุรี ยังมีลุ้นคว้าเหรียญทองได้อีกหลายเหรียญจาก ว่ายน้ำ ที่มีชิง 6 ทอง และยังมีลุ้นที่ “เงือกพลอย” ภัทรวดี กิตติยะ จากเดี่ยวผสม 200 ม.หญิง และ ผีเสื้อ 50 ม.หญิง รวมถึง “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ ที่จะลงแข่งรายการที่ 5 ในรายการกบ 200 ม.ชาย และ ฟุตบอลชาย ซึ่งเข้าชิงชนะเลิศกับ ม.เกษมบัณฑิต นอกจากนี้ยังมี เทนนิสชายเดี่ยว “จูเนียร์” วิชยา ตรงเจริญชัยกุล จะพบกับ จิรัฏฐ์ นวสิริสมบูรณ์ จากม.สวนดุสิต อีกด้วย ส่วนกีฬาอื่นๆ อย่าง ยูยิตสู กับ คาราเต้-โด ก็อาจจะมีลุ้นคว้ามาเพิ่มได้บ้างแต่ไม่มากเนื่องจากทั้ง 2 กีฬารวมกันยังมีเหรียญให้ชิงเพียงแค่ 3 ทองเท่านั้น
จากการก้าวขึ้นมาคว้าตำแหน่ง “เจ้าเหรียญทอง” กีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยของ ม.กรุงเทพธนบุรี ในครั้งนี้ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนแห่งที่ 3 ที่คว้าตำแหน่งนี้ได้สำเร็จ หลังจากก่อนหน้านี้เคยมี ม.ศรีปทุม ที่คว้าเหรียญทองปัญญาชนมาแล้ว ในการแข่งขันครั้งที่ 28 และ ครั้งที่ 30 ส่วนครั้งที่ 31-34 เป็นทัพนักกีฬาจากม.กรุงเทพ ที่ได้เจ้าเหรียญทอง
“เจมส์บอนด์”ทุบสถิติเดี่ยวผสม 200 ม.
ว่ายน้ำ เดี่ยวผสม 200 ม.ชาย “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ จากม.กรุงเทพธนบุรี จ้วงเข้าสระด้วยเวลา 2.07.44 น. ทำลายสถิติกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ของ รดมยศ มาตเจือ ซึ่งทำไว้เมื่อปี 2008 ที่จุฬาลงกรณ์ฯ 2.08.35 น. นับเป็นการคว้าเหรียญทองที่ 4 ให้ตัวเองใน “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” ได้อีกด้วย ส่วนเหรียญเงินเป็นของ ภูวดล สุขเขียว (จุฬาฯ) 2.09.51 น., ทองแดง ธนกร อุดมธนกุลชัย (ม.บูรพา) 2.11.22 น., อีกรายการที่มีการทำลายสถิติ ฟรีสไตล์ 1,500 ม.ชาย ธนกฤต กิตติยะ จาก ม.รามคำแหง ทำสถิติได้ 15.57.73 น. ทำลายสถิติกีฬามหาวิทยาลัยของ พีระพัฒน์ เลิศสถาพรสุข จากจุฬาฯ ซึ่งทำไว้ที่นครราชสีมาปี 2017 ด้วยเวลา 16.01.44 น. เหรียญเงินเป็นของ ปรินทร์ เข็มนาจิตร (จุฬาฯ) 18.37.66 น., ทองแดง ชาคร วันเพ็ญ (ม.เชียงใหม่) 17.42.97 น.
ด้านผลแข่งขันรายการอื่นๆ ฟรีสไตล์ 100 ม.หญิง ทอง ศุภสุตา สุนทรโชติ (ม.เกษตรศาสตร์) 59.03 วิ., เงิน เบ็ญจมาภรณ์ สังขะวัตร์ (จุฬาฯ) 59.26 วิ., ทองแดง จุฑามาส สุทธิสน (ม.เกษมบัณฑิต) 59.49 วิ., ฟรีสไตล์ 100 ม.ชาย ทอง กฤตเมธ คำลือ (จุฬาฯ) 52.38 วิ., เงิน ศุภกฤฎิ์ พนานุรัตน์ (ม.เกษตรศาสตร์) 52.45 วิ., ทองแดง ธนกฤต กิตติยะ (ม.รามฯ) 53.42 วิ., กบ 200 ม.หญิง ทอง พรสุา ไวนิยมพงศ์ (จุฬาฯ) 2.42.90 น., เงิน ชะวัลนุช สลับลึก (ม.ธุรกิจบัณฑิตย์) 2.48.61 น., ทองแดง วริศรา แข็งขัน (ม.เกษมบัณฑิต) 2.49.58 น., กรรเชียง 100 ม.หญิง ทอง ภัทรวดี กิตติยะ (ม.กรุงเทพธนบุรี) 1.07.16 น., เงิน สภาวินี อยู่สุข (จุฬาฯ) 1.08.78 น., ทองแดง ณัฎฐา ฐิตศิริ (ม.อัสสัมชัญ) 1.09.79 น.
ม.กท.ธนฯ-สพล.แชมป์ตะกร้อเดี่ยว
เซปักตะกร้อ รอบชิงชนะเลิศ ทีมเดี่ยวหญิง เป็นการพบกันระหว่าง “แชมป์เก่า” สถาบันการพลศึกษา ที่มี วิภาดา จิตพรวน ตัวเสิร์ฟดีกรีทีมชาติเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 17 และเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 28 และครั้งที่ 29 เป็นหลักของทีมพบกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ยังได้ ปริมประภา แก้วคำไสย์ เป็นตัวเสิร์ฟ เริ่มต้นเซตแรก เป็นสาวพลศึกษาที่ได้แต้มไหลจากการเสิร์ฟเป็นหลัก บวกกับการมีเกมรุกที่ดุดันและปิดแต้มได้ดีเอาชนะไปก่อน 21-11 เซตสองกลับมาเป็นจุฬาฯ ที่เริ่มตั้งรับได้ดีและชิงจังหวะรุกเร็วจนสาวพลศึกษาตั้งตัวไม่ติดเสียคะแนนไปหลายครั้ง ทำให้จุฬาฯ กลับมาชนะ 21-11 เซตสาม สาวสพล.ออกสตาร์ตทำแต้มนำก่อนทำให้ได้เปรียบและเล่นง่ายขึ้น ขณะที่จุฬาฯ ต้องเร่งเกมและกลายเป็นพลาดเสียคะแนนหลายครั้ง ทำให้สพล.มีโอกาสที่จะปิดแมตช์พร้อมกับการคว้าชัย 2-1 เซตด้วยสกอร์ 21-11, 11-21 และ 21-14 คว้าแชมป์ไปครองได้อีกสมัย
นอกจากนี้ วิภาดา จิตพรวน จอมเสิร์ฟของสถาบันการพลศึกษายังคว้ารางวัลนักกีฬาดีเด่นหญิงไปครองอีกด้วย
ขณะที่ประเภททีมชาย รอบชิงชนะเลิศ เป็นการพบกันระหว่าง “แชมป์เก่า” สถาบันการพลศึกษา กับ ม.กรุงเทพธนบุรี ซึ่งคู่นี้เคยเจอกันในรอบแรก ซึ่งสถาบันการพลศึกษาเป็นฝ่ายคว้าชัย 2 เซตรวด 21-14 และ 21-14 ส่วนครั้งนี้เป็น ม.กรุงเทพธนบุรีที่โชว์ฟอร์มได้แข็งแกร่งกว่าทั้งเกมรุกและเกมรับ ทำให้คว้าชัยชนะ 2 เซตรวดด้วยสกอร์ 21-13, 21-12 คว้าแชมป์ไปครองได้สำเร็จ
ปันจักสีลัตสพล.กวาดส่งท้าย7ทอง
ปันจักสีลัต ชิง 13 รายการ โดยนักกีฬาจากสถาบันการพลศึกษาผ่านเข้ามาชิงดำได้ถึง 13 รุ่น แต่ปรากฏว่าสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้ 7 ทอง จากรุ่นน้ำหนักเกิน 45 กก. แต่ไม่เกิน 50 กก. บุคคลชาย ภัทรพล แท่นนิล, รุ่นน้ำหนักเกิน 50 กก. แต่ไม่เกิน 55 กก. บุคคลชาย ฟาฏิล ดามะ, รุ่นน้ำหนักเกิน 50 กก. แต่ไม่เกิน 55 กก. บุคคลหญิง สุดา เหลืองอภิชาติกุล, รุ่นน้ำหนักเกิน 55 กก. แต่ไม่เกิน 60 กก. บุคคลชาย ซอบรี เจะนิ, รุ่นน้ำหนักเกิน 55 กก. และไม่เกิน 60 กก. บุคคลหญิง ปภาวิณี เกื้อก่อบุญ, รุ่นน้ำหนักเกิน 65 กก. แต่ไม่เกิน 70 กก. บุคคลหญิง นงคพรรณ ทิพย์ทอง, รุ่นน้ำหนักเกิน 65 กก. แต่ไม่เกิน 70 กก. บุคคลชาย กูอิบรอเฮม กูบาฮา
ขณะที่ผลรุ่นอื่นๆ มีดังนี้ รุ่นน้ำหนักต้องเกิน 40 กก. แต่ไม่เกิน 45 กก. บุคคลหญิง ทอง ธัญญ์ฐิตา หิรัญเกษมสัณห์ (ม.กรุงเทพธนบุรี), รุ่นน้ำหนักเกิน 45 กก. แต่ไม่เกิน 50 กก. บุคคลหญิง ทอง ฟิรดาวส์ ดุรอแม (ม.รัตนบัณฑิต), รุ่นน้ำหนักเกิน 60 กก. แต่ไม่เกิน 65 กก. บุคคลชาย ทอง ณัฐกิจ หัตถประดิษฐ์ (มรภ.นครศรีธรรมราช), รุ่นน้ำหนักเกิน 60 กก. แต่ไม่เกิน 65 กก. บุคคลหญิง เรวดี ดำศรี (ม.กรุงเทพธนบุรี), รุ่นน้ำหนักเกิน 70 กก. และไม่เกิน 75 กก. บุคคลชาย ทอง ธวัชชัย ไกรทอง (ม.กรุงเทพธนบุรี)
ลูกเด้งคู่ชายธนบุรีพิชิตทอง
เทเบิลเทนนิส ที่มทร.ธัญบุรี หอประชุมประเภทชายคู่ ทอง สุชาติ พิทักษ์สกุลสิริ-ศรายุทธ ตันเจริญ(ม.ธนบุรี), เงิน เมทนี ตะวัน-ศรัณย์ ยิ่งยืนยง(ม.หอการค้าไทย), ทองแดง ภาดาศักดิ์ ตันวิระยะเวชกล-ทักษิณ ประชุมฉลาด(ม.รัตนบัณฑิต), ศุกร วัฒนศิริชัยพร-ณัฐชภัทร ศิริพัฒนานันทกูร(จุฬา)
“น้องอาร์ม” แชมป์โลกโชว์ฟอร์มสวย
เพาะกาย ที่มทร.ธัญบุรี อาคารอเนกประสงค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพาะกายชายรุ่นน้ำหนักเกิน 70 กก. “น้องอาร์ม” อภิชัย วันดี จากม.กรุงเทพธนบุรี เจ้าของแชมป์โลกเพาะกายชาย รุ่น 85 กก.ทำไดด้อย่างยอดเยี่ยม คว้าเหรียญทองไปครอง, เงิน พีรวิชญ์ คล้ายพรหม(จุฬาฯ), ทองแดง อธิวัฒน์ จำเนียรทรัพย์(ม.เทโนโลยีสุรนารี), แอธเลติกฟิสิคชายรุ่นความสูงเกิน 175 ซม.ทอง ธนวัฒน์ เวชพันธ์(มทร.ธัญญบุรี), เงิน เนติพงษ์ จงจอหอ(ม.ราชภัฏนครราชสีมา), ทองแดง ฐานที เลิศฤทธิ์(มรภ.พระนครศรีอยุธยา),โมเดลฟิสิคชายรุ่นความสูงไม่เกิน 175 ซม.ทองสหรัฐ เคลือมาศ(ม.กรุงเทพธนบุรี),เงิน สรรวัชญ์ พิชิตอริพ่าย(ม.หอการค้าไทย),ทองแดง ทศพล มูลมาตย์(มธ.), โมเดลฟิสิคชายรุ่นความสูงไม่เกิน 175 ซม.รัฐวิชญ์ ฉัตรพิริยกรณ์(มรภ.จันทเกษม),เงิน ธนัทกฤศฎ์ สุดยอด(มทร.ธัญบุรี),ทองแดง ธนากร กลมเกลียว (ม.หอการค้าไทย),ฟิตเนสหญิงรุ่นทั่วไป ทอง อาจารี แท่นทรัพย์(ม.กรุงเทพธนบุรี),เงิน มุกดา เรืองสุขสุด(ม.สวนดุสิต), ทองแดง พัชรเพ็ญ ธรรมญาณรังสี(ม.อัสสัมชัญ)
มก.-สพล.แบ่งทองฮอกกี้
ฮอกกี้ ชิง 2 ทอง ทีมหญิง รอบชิงชนะเลิศ ม.เกษตรศาสตร์ สามารถเอาชนะ สถาบันการพลศึกษา 3-2 คว้าเหรียญทองไปครองทันที ขณะที่เหรียญทองแดงเป็นของจุฬาฯ กับ มรภ.อุตรดิตถ์ ส่วนทีมชาย เป็นสถาบันการพลศึกษาที่แก้แค้นให้ทีมหญิง เอาชนะ ม.เกษตรศาสตร์ ในนัดชิงชนะเลิศ 2-1 คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ ขณะที่เหรียญทองแดงเป็นของจุฬาฯ กับ ม.สงขลานครินทร์
“น้องหมิว”ตบสมราคาซิวทองให้จุฬาฯ
แบดมินตัน ประเภทหญิงเดี่ยว “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ นักตบลูกขนไก่ทีมชาติไทย จากรั้วจามจุรี ตบเอาชนะ ศุภนิดา เกตุทอง จากม.สยามไปแบบขาดลอย 2-0 (21-9, 21-9) คว้าเหรียญทองไปตามคาด เงิน ศุภนิดา เกตุทอง (ม.สยาม), ทองแดง ลักษิกา กัลละหะ (ม.รามฯ) และ นันท์กาญจน์ เอี่ยมสอาด (ม.กรุงเทพ), ประเภทชายเดี่ยว เมฆ ณรงค์ฤทธิ์ (ม.รามฯ) ชนะ อดุลรัชต์ นามกูล (ม.กรุงเทพ) 2-1 (21-11, 19-21, 21-17), ทองแดง กรกฤต เหล่าตระกูล (จุฬาฯ) และ กิติพงศ์ อิ่มนาค (ม.รามฯ), คู่ผสม สุภัค จอมเกาะ-ลักษิกา กัลละหะ (ม.รามฯ) ชนะ กานต์ภพ อรรถวิโรจน์-ชญานิษฐ์ ฉลาดแฉลม (ม.รัตนบัณฑิต) 2-0 (21-17, 21-16), ทองแดง อาย์กรณิช ทับทิมแดง-ฟารีดา ลุก (มธ.) และ หทัยกาญจน์ คำดี-วรพล ทอสง่า (ม.มหาสารคาม), หญิงคู่ รวิมน เอี่ยมรัตนเมธีกุล-พชพรรณ ช่อชุวงศ์ (จุฬาฯ) ชนะ ณัชชา แสงโชติ-ชญานิษฐ์ ฉลาดแฉลม (ม.รัตนบัณฑิต) 2-1 (21-14, 12-21, 21-18), ทองแดง ขวัญชนก สุดใจประภารัตน์-กรกมล สุขกลัด (ม.รัตนบัณฑิต), ฤทัยชนก ไล้สวน-ศุภมาศ มิ่งเชื้อ (ม.กรุงเทพธนบุรี) ชายคู่ เสริมสิน วงศ์ญาพรหม-ปริญญวัฒน์ ทองน่วม (ม.กรุงเทพธนบุรี) ชนะ สุภัค จอมเกาะ-ณัฐดนัย เอื้อกูลวราวัต (ม.รามฯ) 2-1 (21-19, 17-21, 30-28), ทองแดง จักรกฤษ ตันติราศิลป์-ตนุภัทร วิริยางกุร (ม.กรุงเทพธนบุรี) และ เฉลิมพล เจริญกิจอมร-ภานุ รักมีศรี (ม.สยาม)
ม.รังสิต-สพล.ซิวเปตองทีม3คน
เปตอง ประเภททีม 3 คนหญิง ม.รังสิต ประกอบด้วย พิกุล ทั่งทอง, พิมพ์พิไล พระคำจันทึก, แก้วทพย์ กรรโณ ช่วยกันเอาชนะม.กรุงเทพ ซึ่งประกอบด้วย ลลิตา เชี่ยวชาญ, ชลาลัย สาสนะ และ สุนิตา พ่วงอยู่ ไป 13-2 คะแนน ทองเป็นของ ม.รังสิต, เงิน ม.กรุงเทพ, ทองแดง ม.เกษมบัณฑิต, ม.กรุงเทพธนบุรี, ประเภททีม 3 คนชาย ทองเป็นของ สพล., เงิน ม.รัตนบัณฑิต และทองแดง ม.เกษมบัณฑิต, ม.กรุงเทพธนบุรี
ด้านผลการแข่งขันกีฬาอื่นๆ มีดังนี้ มวยไทยสมัครเล่น ชิง 8 รายการ รอบชิงชนะเลิศ รุ่นฟลายเวต น.น. เกิน 48 กก. ไม่เกิน 51 กก. ชาย ทอง ธนาณัติ เจาะพรมมา (ม.เทคโนฯ ราชมงคลพระนคร), รุ่นแบนตั้มเวต น.น. เกิน 51 ไม่เกิน 54 กก. ชาย ทอง ภูวนัย ชำนาญสิน (สพล.), รุ่นเฟเธอร์เวต น.น. เกิน 54 กก.ไม่เกิน 57 กก. ชาย ทอง ศักดา หนูหมาด (สพล.), รุ่นไลต์เวต น.น. เกิน 57 กก.ไม่เกิน 60 กก. ชาย ทอง ธีระศักดิ์ เนตรหนองเทา (มรภ.มหาสารคาม), รุ่นไลต์เวลเตอร์เวต น.น. เกิน 60 กก.ไม่เกิน 63.5 กก. ชาย ทอง พลากร ทาละโล (มรภ.ร้อยเอ็ด), รุ่นเวลเตอร์เวต น.น. เกิน 63.5 กก.ไม่เกิน 67 กก. ชาย ทอง ประวันวิทย์ ประทุมวงศ์ (ม.ธรรมศาสตร์), รุ่นไลต์มิดเดิลเวต น.น. เกิน 67 กก.ไม่เกิน 71 กก. ชาย ทอง วิทวัส อินทรโอภาส (มรภ.นครสวรรค์), รุ่นมิดเดิลเวต น.น. 71-75 กก. ชาย ทอง จักรเพชร ปาปะขัง (ม.รัตนบัณฑิต)
มวยสากลสมัครเล่น ชิง 9 ทอง รอบชิงชนะเลิศ รุ่นแบนตั้มเวตชาย น้ำหนักเกิน 52 กก. แต่ไม่เกิน 56 กก. ณัฐพงศ์ จันทร์แก้ว (ม.รัตนบัณฑิต) ชนะคะแนน โสภณ กล้าฉุน (มรภ.ศรีสะเกษ), รุ่นไลต์เวต ชาย น้ำหนักเกิน 56 กก. แต่ไม่เกิน 60 กก. ณัฐพล ศรีโกศล (สพล.) ชนะคะแนน อนุรักษ์ มะเดือ (มรภ.ศรีสะเกษ), รุ่นไลต์เวลเตอร์เวต ชาย น้ำหนักเกิน 60 กก. แต่ไม่เกิน 64 กก. สหรัฐ เพียรดี (จุฬาฯ) ชนะคะแนน ณัฐพร น้อยใส (ม.รัตนบัณฑิต), รุ่นเวลเตอร์เวต ชาย เกิน 64 กก. ไม่เกิน 69 กก. นุทธพงษ์ สีกระโดน (สพล.) ชนะคะแนน นันทวัฒน์ พงษ์พันธ์ (ม.เกษตรศาสตร์), รุ่นมิดเดิลเวต ชาย น้ำหนักเกิน 69 กก. แต่ไม่เกิน 75 กก. สมศักดิ์ กูบโคกกรวด ชนะแต้มขาด ณัฐวุฒิ ประทุมชาติ (มรภ.ร้อยเอ็ด), รุ่นไลต์เฮฟวี่เวต ชาย น้ำหนักเกิน 75 กก. แต่ไม่เกิน 81 กก. ณัฐพง พรมไตร (ม.เกษมบัณฑิต) ชนะคะแนน ภคพล ไหลงาม (ม.เทคโนฯ พระจอมเกล้าพระนครเหนือ), รุ่นแบนตั้มเวต หญิง น้ำหนักเกิน 51 กก. แต่ไม่เกิน 54 กก. ธารทิพย์ วรรณพรม (สพล.) ชนะคะแนน นิสิตา อินทนอย (มรภ.นครสวรรค์), รุ่นเฟเธอร์เวต หญิง น้ำหนักเกิน 54 กก. แต่ไม่เกิน 57 กก. อัญชลี มั่นคง (มรภ.นครปฐม) ชนะคะแนน สุกัญญา นวนไชย (ม.อุบลราชธานี), รุ่นไลต์เวต หญิง น้ำหนักเกิน 57 กก. แต่ไม่เกิน 60 กก. พรนภัส คาธิพาที (ม.รัตนบัณฑิต) ชนะคะแนน ณัฐมน ตรีสาด (ม.มหาสารคาม)
ยูยิตสู จับล็อกบุคคลชาย รุ่นน้ำหนักเกิน 69 กก. ถึง 77 กก. ทอง บรรพต เลิศไธสง (สพล.), เงิน ปุณณวิช บุญแรง (ม.แม่ฟ้าหลวง), ทองแดง จิรายุ วงศ์สวรรค์ (ม.กรุงเทพธนบุรี) และ ฐิติพันธ์ ต่อเติมกิจชัย (ม.รังสิต), จับล็อกบุคคลชาย รุ่นน้ำหนักเกิน 77 กก. ถึง 85 กก. ทอง สุขณธี สุนทรา (ม.เกษมบัณฑิต), เงิน เมธี แว่นมณี (สพล.), ทองแดง ศิวกร มาตขาว (ม.รังสิต) และ นพรัตน์ มิฉายี (ม.ธุรกิจบัณฑิตย์), จับล็อกบุคคลชาย รุ่นน้ำหนักเกิน 85 กก. ถึง 94 กก. ทอง สกลทร โสสุทัน (ม.รังสิต), เงิน ภานุ เจนชัย (สพล.), ทองแดง รัชพล กลึงกลางดอน (ม.หอการค้าไทย) และ สกล แซ่จึง (มรภ.สวนสุนันทา), จับล็อกบุคคลชาย รุ่นน้ำหนักเกิน 94 กก. ขึ้นไป ทอง ณัฐดนัย เนตรทิพย์ (ม.กรุงเทพธนบุรี), เงิน คุณาธิป เยี่ยอ้น (ม.รังสิต), ทองแดง บุรินทร์ ขุนศรี (ม.สวนดุสิต) และ อนุชา เจริญผล (มทร.ธัญบุรี), ต่อสู้บุคคลหญิง รุ่นน้ำหนักเกิน 62 กก. ถึง 70 กก. ทอง อรอนงค์ แสงศิริโชค (ม.เกษมบัณฑิต), เงิน อรอุมา พลมาต (มศว), ทองแดง อรพรรณ แสงศรี (สพล.) และ กมวรรณ อัคจันทร์ (มรภ.สวนสุนันทา), ต่อสู้บุคคลหญิง รุ่นน้ำหนักเกิน 70 กก. ขึ้นไป ทอง รัชชาพร อุสาหวงษ์ (ม.บูรพา), เงิน สิรินภา แจ้งประจำ (มรภ.ธนบุรี), ทองแดง พัชรพร น้อยต้น (ม.รังสิต) และ ธันยพร มังคละคีรี (ม.สวนดุสิต)
คาราเต้-โด รุ่นน้ำหนักมากกว่า 68 กก. บุคคลหญิง ทอง ศรัญพร บุราณ (ม.ขอนแก่น), รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 75 กก. บุคคลชาย ทอง ทรงวุฒิ หมุนแทน (ม.ธุรกิจบัณฑิตย์), รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 84 กก. บุคคลชาย ทอง ธีรวัฒน์ คลังทอง (ม.รัตนบัณฑิต), รุ่นน้ำหนักมากกว่า 84 กก. บุคคลชาย ทอง พิชัยยุทธ กนกวิไลกุล (สพล.)
เทนนิส ชายคู่ รอบชิงชนะเลิศ สุธินันท์ ตัณฑเศรณีวัฒน์-ปุณณกฤศ กฤษดากร (ม.กรุงเทพ) ชนะ อวิรุทธ์ ผาผุย-กฤตบุญ พราหมณีย์ (ม.ศรีปทุม) 6-2, 7-5, หญิงคู่ รอบชิงชนะเลิศ ฉัตรมณี-นภาวี จันทร์เขียว (ม.ศิลปากร) ชนะ กมลลักษณ์ กิตติถนอม-อารีพร วณิชยาพณิชย์ (จุฬาฯ) 6-3, 6-1
ปิด”ราชมงคลธัญบุรีเกมส์”เรียบง่าย
ด้านพิธีปิดการแข่งขัน “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” วันที่ 31 ม.ค. นี้ จะจัดขึ้นที่สนามกีฬากลาง ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยจะเริ่มตั้งแต่เวลา 16.30 น. ซึ่งมี นายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นประธาน หลังการกล่าวปิดการแข่งขันฯ โดย รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีแล้วก็จะเข้าสู่พิธีเชิญธงคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ก.ก.ม.ท.), ธงประจำการแข่งขัน ลงจากยอดเสา ก่อนจะเข้าสู่พิธีดับไฟในกระถางคบเพลิงอย่างเรียบง่าย จากนั้นไฮไลต์อยู่ที่การส่งมอบธงก.ก.ม.ท.ส่งต่อให้กับเจ้าภาพครั้งที่ 46 มรภ.อุบลราชธานี ซึ่งมี รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีเป็นผู้มารับด้วยตัวเอง และปิดด้วยการแสดงของเจ้าภาพครั้งต่อไป
มรภ.อุบลฯทุ่ม230ล.จัดปัญญาชนเกมส์หน46
รศ.ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เป็นประธานแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” โดยจะจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 11-20 มกราคม 2562 ที่ มรภ.อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าภาพกำหนดชนิดกีฬาไว้ 27 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา ว่ายน้ำ บาสเกตบอล ฟุตบอล วอลเลย์บอล แบดมินตัน เซปักตะกร้อ เทควันโด ฟุตซอล เทนนิส วอลเลย์บอลชายหาด เปตอง ลีลาศ เทเบิลเทนนิส ปันจักสีลัต คาราเต้โด ยูโด เรือพาย ปีนหน้าผา กอล์ฟ มวยสากลสมัครเล่น รักบี้ฟุตบอล แฮนด์บอล ครอสเวิร์ด บริดจ์ หมากกระดาน มวยไทยสมัครเล่น
อธิการบดีมรภ.อุบลฯ กล่าวว่า สถาบันได้เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทางมหาวิทยาลัยได้สร้างศูนย์กีฬาขึ้นมาใหม่บนพื้นที่ 1,000 ไร่ ใช้งบประมาณ 180 ล้านบาท บริเวณบ้านยางน้อย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งภายในสปอร์ตคอมเพล็กซ์นี้ก็จะมีสนามกีฬามาตรฐาน อาทิ สนามกรีฑา อินดอร์สเตเดียม สระว่ายน้ำมาตรฐาน ยิมเนเซี่ยม และ หอพักนักกีฬา ซึ่งจะมีการส่งมอบในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ และจะมีการสร้างสนามต่างๆ ในพื้นที่ที่เหลืออยู่ เพื่อรองรับการแข่งขันครั้งนี้ โดยการแข่งขันเบื้องต้นวางไว้ที่ 27 ชนิดกีฬาทั้งนี้อาจจะมีเพิ่มเติมเข้ามาอีกจากการเข้ามาทาบทามของ 3 สมาคมกีฬา คือ เพาะกาย ฮอกกี้ ดาบไทย แต่ยังต้องมีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ก.ก.ม.ท.)ให้พิจารณาอนุมัติอีกครั้ง ทั้งนี้ชนิดกีฬาต่างๆที่จะจัดยืนยันว่าจะไม่เกิน 30 ชนิดกีฬาอย่างแน่นอน ส่วนงบประมาณในการจัดแข่งขันวางไว้ที่ 50 ล้านบาท เมื่อรวมกับที่สร้างศูนย์กีฬาแล้วในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ มรภ.อุบลฯ ทุ่มเงินกว่า 230 ล้านบาทเลยทีเดียว
“เนื่องจากครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฎได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ดังนั้นการเตรียมการทุกอย่างจึงต้องวางแผนและเตรียมไว้อย่างดีซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเตรียมเป็นเจ้าภาพ และการเตรียมนักกีฬา ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยฯได้จัดตั้งค่ายมวยไทยและมวยสากลสมัครเล่นขึ้นซึ่งจะเป็นกีฬาไฮไลต์ที่เป็นความหวังในการคว้าเหรียญทองของมหาวิทยาลัยในการเป็นเจ้าภาพปีหน้าด้วย” รศ.ธรรมรักษ์กล่าว