สยามกีฬา ฉบับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561
จอมวางหมากกอาร์แบคกระหึ่งครองเจ้าหมากกระดาน “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์”หลังโกยวันสุดท้ายถล่มทลาย 7 เหรียญทองบวกกับของเก่าที่เคยคว้ามาอีก 4 ทำได้ไปมากสุด 11 ทอง จากการชิงชัยทั้งหมด 28 ทอง ด้าน”ฉลามนก” ธนกฤต กิตติยะ น้องชายของ ”เงือกพลอย” ภัทรวดี กิตติยะ สังกัดรั้ว ม.รามคำแหง กระชากเหรียญทองที่ 3 ให้ตัวเองพร้อมพังสถิติว่ายน้ำฟรีสไตล์ 400 เมตรชายได้อย่างเยี่ยมยอด ด้วยเวลา 3.59.97 นาที ขณะเดียวกันยังล้มแชมป์เก่าเจ้าของสถิติเดิม พีระพัฒน์ เลิศสถาพรสุข จากจุฬาฯ ที่พลาดเสียท่าได้แค่เหรียญเงินไปได้อีก ส่วนคู่ยูยิตสูดูโอเจ้าของแชมป์โลก ”แน็ต” สุภวดี แก้วสระแสน กับ ”ส้ม” กุลสตรี คำสร้อย จาก ม.เกษมบัณฑิต โชว์เทคนิคขั้นสูงเข้าตากรรมการ งาบทองได้ตามคาดด้านผู้บริหาร ม.กรุงเทพธนบุรียิ้มร่าเหรียญทองรวมได้ 65 นำห่างสพล.9 เหรียญโอกาสคว้าเจ้าทองหนแรกมีสูง ย้ำชัด “น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ ขนไก่เบอร์ 1 ไทยรับปากเรียนป.โทต่อ ส่วนม.ทักษิร สนใจร่วมวงบิดเจ้าภาพปัญญานเกมส์ หวังจองอีก 2 ปีข้างหน้า
การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 ”ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” ที่ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา
“ฉลามนก”ทุบสถิติฟรีสไตล์400
ว่ายน้ำ ที่สระว่ายน้ำศูนย์กีฬาทางน้ำ มธ.รังสิต มีการพลิกล็อกพร้อมทำลายสถิติเกิดขึ้นในประเภทฟรีสไตล์ 400 เมตรชาย เมื่อ ”ฉลามนก” ธนกฤต กิตติยะ น้องชายของ ”เงือกพลอย” ภัทรวดี กิตติยะ ลงสระแข่งขันในสังกัด ม.รามคำแหง สามารถโชว์ฟอร์มสุดแกร่งว่ายแซง ”แชมป์เก่า” พีระพัฒน์ เลิศสถาพรสุข จากจุฬาฯ แตะขอบสระ คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จด้วยเวลา 3.59.97 น. พร้อมกันนี้ยังทำลายสถิติการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ที่ พีระพัฒน์ ทำไว้ที่ ม.อุบลราชธานี ปี 2016 ด้วยเวลา 4.02.53 น. อีกด้วย นับเป็นการคว้าเหรียญทองที่ 3 ให้ตัวเอง หลังจากก่อนหน้านี้คว้ามา 2 ทองจาก ผีเสื้อ 200 เมตรชาย และ ฟรีสไตล์ 200 เมตรชาย
ขณะที่ปีนี้ พีระพัฒน์ ทำเวลาได้เพียง 4.07.01 น. เข้าที่ 2 ได้เหรียญเงิน ส่วนทองแดงเป็นของ เสรีย์ แผนสมบูรณ์ จากสถาบันการพลศึกษา(สพล.) เวลา 4.22.93 น.
ขณะที่ ผีเสื้อ 50 เมตรชาย มีการทำลายสถิติเกิดขึ้นเช่นกัน โดย ”ฉลามวิน” ศุภกฤษฎิ์ พนานุรัตน์ จากม.เกษตรศาสตร์ที่ทำเวลาได้ 24.83 วิ. ถือเป็นสถิติใหม่ที่แทนของเดิมที่ กัญจน์กันต์ ปรีชาวุฒิคุณ ม.อัสสัมชัญ ทำไว้ที่ ”สุรนารีเกมส์” เมื่อปี 2017 เวลา 25.03 วิ. ขณะที่เจ้าของสถิติเดิม กัญจน์กันต์ ได้แค่เหรียญเงิน ทำเวลาได้ 25.05 วิ. และทองแดง กิติพัฒน์ ภิพิมพ์นันท์ (สพล.)25.90 วิ.
ส่วนผลแข่งขันอื่นๆ มีดังนี้ กบ 100 เมตรหญิงทอง พรสุดา ไวนิยมพงศ์ (จุฬาลงกรณ์ฯ) 01.15.76 น., เงิน ชะวัลนุช สลับลึก (ม.ธุรกิจบัณฑิตย์) 01.15.87 น., ทองแดง พรนภัส ตั้งตระการกูล (ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) 1.22.10 น., ฟรีสไตล์ 50 เมตรหญิง ทอง ศุภสุตา สุนทรโชติ (ม.เกษตรศาสตร์) 26.95 วิ., เงิน ภูษณิศา แสงโพลง (จุฬาฯ) 27.44 วิ., ทองแดง เบ็ญจมาภรณ์ สังขะวัตร์ (จุฬาฯ) 27.49 วิ. , กรรเชียง 100 เมตรชาย ทอง กศิภัทร ช่อกระถิน (จุฬาฯ) 58.57 วิ., เงิน เสฎฐวุฒิ มโนมัยสกุล (สพล.) 1.00.24 น., ทองแดง ธนกร อุดมธนกุลชัย (ม.บูรพา) 1.00.75 น. ผลัดฟรีสไตล์ 4×100 ม.ชาย ทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 03.34.99 น., เงิน ม.เกษตรศาสตร์ เวลา 03.37.20 น., ทองแดง ม.เกษมบัณฑิต เวลา 03.38.83 น.
คู่ดูโอแชมป์โลกไม่พลาดทองยูยิตสู
ยูยิตสู ประเภทศิลปะการต่อสู้ ประเภทดูโอ โชว์ หญิง คู่แชมป์โลก ”แน็ต” สุภวดี แก้วสระแสน กับ ”ส้ม” กุลสตรี คำสร้อย จากม.เกษมบัณฑิต เจอกับ ธนารีย์ วงษ์จันทร์ กับ ธิดามาศ วรรณภักดี จากสพล. และก็เป็นคู่แชมป์โลกที่ยังคงโชว์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมสมราคา สามารถทำคะแนนได้ 39.0 คะแนน คว้าเหรียญทองให้กับสถาบัน ขณะที่ทีม สพล. ได้ 34.0 คะแนนคว้าเหรียญเงิน และ เหรียญทองแดงเป็นของ ธนขวัญ กุลอิทธิมนต์-สมฤดี เทพปลื้ม (ม.สวนดุสิต) และ พิชาเมญชุ์ พุทธา -กุลิสรา กอปรเมธากุล (มธ.)
ส่วนผลอื่นๆ จับล็อกบุคคลชาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 56 กก. วีระยุทธ พินโยภรณ์ (ม.หอการค้าไทย) ชนะ ณัฐชนน ภู่อ่ำ (ม.บูรพา) 11-0 รุ่นน้ำหนักเกิน 56 กก. ถึง 62 กก. ชลธี อร่ามวิบูลย์ (ม.ธรรมศาสตร์) ชนะ สิริวัส สุขรัตน์นวโชติ (ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ 99-0 รุ่นน้ำหนักเกิน 62 กก. ถึง 69 กก. รัชราช ยิ้มพราย (ม.ศรีปทุม) ชนะ เอกชัย มุราชาวา (วิทยาลัยดุสิตธานี) 1-0 ”อาร์ม” ไม่พลาดซิวทองคาราเต้
คาราเต้-โด ที่ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ มทร.ธัญบุรี รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 61 กก.หญิง นักกีฬาทีมชาติไทย อาร์ม สุขเขียว จากม.รัตนบัณฑิต เอาชนะ อภสร อ่อนน่วม จากจุฬาฯ 1-0 รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 68 กก.หญิง กนกพร ทิพย์นาวา (จุฬาฯ) ชนะ สินิทธา ทองวันดี (ม.เกษตรศาสตร์) 2-1 รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 60 กก. ชาย มัชฌิมา เรืองศรี (สพล.) ชนะ ธนเดช มัจฉาน้อย (ม.นเรศวร) 2-0 รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 67 กก.ชาย ศุภ งามพึงพิศ (ม.รัตนบัณฑิต) ชนะ คฑาชัย ด้วงชื่น (ม.นเรศวร) 5-0
“ณัฐพงศ์”คว้าทองเพาะกายกีฬาปัญญาชน
เพาะกายที่ มทร.ธัญบุรี อาคารอเนกประสงค์คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพาะกาย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 70 กก.ชาย ทอง ณัฐพงศ์ ใยงูเหลือม (ม.กรุงเทพธนบุรี),เงิน วฤทธิ์ ตันกูล (ม.เกษตรศาสตร์),ทองแดง สิทธินันท์ ขยันทำ (มรภ.รำไพพรรณี),แอธเลติกฟิสิค ชาย รุ่นความสูงไม่เกิน 170 ซม. ทอง อนวัช กลิ่นด้วง (ว.เซาธ์อีสท์บางกอก),เงิน สุเมธ โตนุ่ม (มทร.ธัญบุรี),ทองแดง ณัฐพงษ์ บุญศิริโรจน์ (ม.มหาสารคาม),แอธเลติกฟิสิค ชายรุ่นความสูงไม่เกิน 175 ซม. ทอง ศักรินทร์ แขวงกรุง (มทร.ธัญบุรี),เงิน เจริญ สุนทร (ม.เทคโนโลยีสุรนารี),ทองแดง สิทธิชัย ยังโนนตาด (มรภ.จันทรเกษม), โมเดลฟิสิค หญิง รุ่นความสูงไม่เกิน 162 ซม. ทอง มุกดา เรืองสุขสุด (ม.สวนดุสิต),เงิน ชนิภรณ์ แก้วโชติ (ม.หอการค้าไทย),ทองแดง ศิวนาถ ตามพานนท์ (ม.หอการค้าไทย)
อาร์แบคโกย7ทองหมากกระดาน
หมากกระดาน วันสุดท้าย นักวางหมากจาก ม.รัตนบัณฑิต ช่วยกันกวาดทองได้เป็นกอบเป็นกำถึง 7 เหรียญทอง จาก หมากล้อม บุคคลหญิง ทอง อรุณกร ประทุมวัน (ม.รัตนบัณฑิต), หมากรุกไทย คู่ชาย ทอง ณัฐวีร์ ศักดิ์ศฤงคาร-ภาณุวัฒน์ เถาวัลย์ (ม.รัตนบัณฑิต), บุคคลชาย ทอง ณัฏฐ์ สุทธิธรรมวสี (ม.รัตนบัณฑิต), บุคคลหญิง ทอง มนันธรณ์ อติกาฬคชสีห์ (ม.รัตนบัณฑิต), หมากฮอส คู่ชาย ทอง ศาศวัต เอกสิทธิชัย (ม.รัตนบัณฑิต), บุคคลหญิง ทอง ธัญลักษณ์ กรลักษณ์ (ม.รัตนบัณฑิต), คู่หญิง ทอง อริสา ผุดผ่อง-น้ำทิพย์ ศรีทัศน์ (ม.รัตนบัณฑิต) ส่งผลให้เมื่อปิดฉากการแข่งขัน นักวางหมากจากอาร์แบคสามารถกระชากเหรียญทองรวมได้มากสุด 11 เหรียญทองครองเจ้ากีฬาชนิดนี้ซึ่งมีแข่งขันทั้งหมด 28 เหรียญทองทันที
ส่วนผลประเภทอื่นๆ หมากล้อม บุคคลชาย ทอง กฤษฎิ์ แจ่มขจรเกียรติ (ม.อัสสัมชัญ), ทีมหญิง 3 คน ทอง จุฬาฯ (ภัคจิรา เอิบกิตติสวัสดิ์, จินต์จุฑา สุขสุวรรณ, อิสรีย์ มหภาคโสภณพิศาล), ทีมชาย 3 คน ทองที่ 1 ม.เกษตรศาสตร์ (ธีระ รุ่งเรืองทวีพงศ์, พีรพัฒน์ เพิ่มสุวรรณเจริญ, ธเนศ เชื้อบุปผา), หมากรุกไทย คู่หญิง ทอง คนึงนิจ เฉียดไธสง (ม.เทคโนโลยีสุรนารี), คู่ผสม ทอง อรปรียา ฉายทองดี-ธนาพล ทัดสวน (สจล.), หมากฮอส บุคคลชาย ทอง ปณิธิ เสกสรรวิริยะ (จุฬาฯ), คู่ผสม ทอง ณัฏฐ์ ศิริภัทรโสภณ-กานติ์ชนิต วิไลกุล (จุฬาฯ), หมากรุกสากล คู่ชาย ทอง กันตพัฒน์ ปาละวัฒน์- ทัพฟ้า คำหน่อแก้ว (ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ), คู่หญิง ทอง ที่ 1 พรอุมา พรหมสิรินิมิต-ธวัลพร ธานินทร์ธราธาร (ม.กรุงเทพธนบุรี), คู่ผสม ทอง ณัฐกฤตา ธนโรจน์รุ่ง-รัชพล ธนโรจน์รุ่ง (ม.กรุงเทพธนบุรี), บุคคลหญิง ทอง รุจา พิตรชญารมย์ (ม.กรุงเทพธนบุรี), บุคคลชาย ทอง ธนดล กุลพฤทธานนท์ (ม.กรุงเทพนบุรี)
ขณะที่ผลการแข่งขันกีฬาอื่นๆ มีดังนี้ ยิงปืน ประเภทปืนยาว 3 ท่าบุคคลชาย ทอง ทองผาภูมิ วงศ์สุขดี(ม.ธรรมศาสตร์) 1139(29x) คะแนน, เงิน ชิษณุพงศ์ ภูรีโรจน์(ม.เชียงใหม่) 1128(29x) คะแนน, ทองแดง พงศธร ปัญญาทอง(สพล.) 1117(27x) คะแนน, ปืนสั้นยิงเร็ว บุคคลชาย ทอง ชีรณัฐ คล้ายสุบรรณ(ม.กรุงเทพธนบุรี) 541(10x) คะแนน, เงิน ภวินทร์ ตันตินวะชัย(ม.รามคำแหง) 535(12x) คะแนน, ทองแดง ติณณภพ แซ่โล่(ม.สงขลานครินทร์) 533(11x) คะแนน
รักบี้ฟุตบอล 15 คน ทีมชาย รอบรองชนะเลิศ ม.กรุงเทพ ชนะ ม.ธรรมศาสตร์ 20-3 จุด, จุฬาฯ ชนะ ม.เกษตรศาสตร์ 28-8 จุด
ม.ทักษิณ เล็งเจ้าภาพปัญญาชนเกมส์
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากปิดฉาก ”ราชมงคลธัญบุรีเกมส์”แล้ว ในปีหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จะเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 46 ส่วนในครั้งที่ 47 ในปี 2563 เดิม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนใจจะเป็นเจ้าภาพ แต่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ก.ก.ม.ท.) เนื่องจากยังต้องรอผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ความเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ก็มีกระแสข่าวว่า หากม.เชียงใหม่ พร้อมจัดในปีดังกล่าว ในการแข่งขันครั้งที่ 48 ในปี 2564 มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา ก็มีความสนใจจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้บริหารได้เดินทางมาให้กำลังใจนักกีฬาที่ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีและได้มาศึกษาดูงานการเป็นเจ้าภาพไว้บ้างแล้ว
อย่างไรก็ตามหากทาง ม.เชียงใหม่ ไม่สะดวกหรือยังไม่พร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพในครั้งที่ 47 ม.ทักษิณ เองก็อาจจะขยับขอมาจัดในปีดังกล่าวแทนได้ และในครั้งที่ 49 ปี 2565 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี รับเป็นเจ้าภาพแน่นอนแล้ว
ม.กรุงเพทธนฯขอลุ้นเจ้าทองถึงวันท้าย
ด้านดร.ดวงฤทธิ์ เบญจาธิกุล ชัยรุ่งเรืองรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เผยว่า ในตอนนี้ ม.กรุงเทพธนบุรีนำเป็นจ่าฝูงในตารางเหรียญ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ทางม.กรุงเทพธนบุรีมีลุ้นที่จะครองเจ้าเหรียญทอง ถึงแม้ว่า สพล.จะเบียดแย่งเจ้าเหรียญทองอยู่ก็มั่นใจว่านักกีฬาของม.กรุงเทพธนบุรี มีศักยภาพพอที่จะครองเจ้าเหรียญทองเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ได้สำเร็จ เนื่องจากยังเหลือลุ้นอีกหลายชนิดกีฬา ทั้งหมากกระดาน,เพาะกาย,ปันจักสีลัต,ยิงปืน,คาราเต้โด,เปตอง ว่ายน้ำ ซึ่งต้องลุ่นกันจนถึงวันสุดท้ายเลยทีเดียว
ขณะที่ดร.บังอร เบญจาธิกุล อธิการบดี ม.กรุงเทพธนบุรี ได้ออกมากล่าวว่า ก่อนการแข่งขันได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ทำผลงานได้ดีที่สุด เนื่องจากรู้ดีว่า สพล.มีนักกีฬามือดีจำนวนมาก สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างบุคลกากรเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 49 ในปี 2565 ทำให้ม.กรุงเทพธนบุรีต้องเตรียมทีมอย่างเข้มข้นมากขึ้นกว่าที่เคยทำมา เชื่อว่าในเร็วๆ นี้น่าจะมีลุ่นเจ้าเหรียญทองได้อย่างเต็มตัว และในปีที่เป็นเจ้าภาพจะต้องเป็นเจ้าเหรียญทองเท่านั้น
ยัน”เมย์”จองต่อป.โทไว้แล้ว
ดร.บังอรกล่าวอีกว่า “เมย์”รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันมือ 4 ของโลก ที่ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่คณะรัฐศาสตร์ ม.กรุงเทพธนบุรี ยืนยันแล้วว่าหลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ก็จะของเรียนต่อปริญญาโทที่ ม.กรุงเทพธนบุรีทันที ซึงมหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทำให้รัชนะจะเป็นกำลังสำคัญในการลุ้นเหรียญทองแบดมินตันของ ม.กรุงเทพธนบุรีได้อีกระยะหนึ่ง
นอกจากนี้ก็ยังมีนักกีฬาอีกหลายคนที่สนใจจะเข้ามาศึกษาต่อทั้งระดับปริญญาตรี และ ปริญญาโท ที่ม.กรุงเทพธนบุรี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ยินดีและดีใจที่เหล่านักกีฬาได้ให้ความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และ สนใจจะเข้ามาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยได้บริหารจัดการทั้งการศึกษา ดูแลนักกีฬา และนักศึกษาทุกคนอย่างเป็นระบบให้ทั้งความรู้ และสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาอย่างเต็มที่
ม.กรุงเทพธนฯนำต่อตารางทอง
สรุปตารางเหรียญ ”ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” วันนี้(29 ม.ค.) ยังคงเป็นม.กรุงเทพธนบุรี ที่ยังคงนำต่อเนื่องอีกวัน คว้าได้มากสุด 65 ทอง 24 เงิน 21 ทองแดง โดย ”แชมป์เก่า” สถาบันการพลศึกษา ตามเป็นที่ 2 คว้ามาได้ 56 ทอง 46 เงิน 40 ทองแดง และ ที่ 3 จุฬาฯ 37 ทอง 42 เงิน 48 ทองแดง ส่วนที่ 4 ม.รัตนบัณฑิต 30 ทอง 17 เงิน 15 ทองแดง และ ที่ 5 ม.เกษตรศาสตร์ 23 ทอง 11 เงิน 47 ทองแดง