สยามกีฬา ฉบับวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2561
สระ “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” ยังสะเทือนเมื่อ”เงือกเอมี่” เอมมิกา หิมะทองคำ นักว่ายน้ำสาวจากรั้วจามจุรี จุฬาฯ โชว์ฟอร์มจ้วงสมราคาแชมป์เก่า ว่ายน้ำม้วนเดียวเข้าแตะขอบสระกระชากทองฟรีสไตล์ 1,500 เมตรหญิงพร้อมพังสถิติเก่าได้อีกด้วยเวลา 17.18.01 นาที ขณะที่ “เงือกพลอย” ภัทรวดี กิตติยะ สุดแกร่งงาบคนเดียว 2 ทองให้ ม.กรุงเทพธนบุรี, “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ กินนิ่มผีเสื้อ 100 เมตรชาย ด้าน จรัญ สะเทิ้งรัมย์ นำทีมวิ่งผลัด 4 x 100 เมตรชายอาร์แบคป้องแชมป์ได้อย่างเยี่ยมยอด แต่ยอดเหรียญรางวัลรวมทัพนักกีฬา สพล.ยังนำต่อเนื่อง 39 ทอง 25 เงิน ทองแดง โดย ม.กรุงเทพธนบุรี ตามมาติดๆ 35 ทอง 16 เงิน 13 ทองแดง ด้านเทคนิค ก.ก.ม.ท.เล็งลดจำนวนกีฬาแข่งปัญญาชนเกมส์ หลังพบว่าจัดมากชนิดสีสันหาย ความน่าสนใจลดลง ชี้ไม่ควรมีแข่งเกิน 30 กีฬา
การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 45 “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” ที่ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา สถาบันการพลศึกษา (สพล.) ยังคงรั้งจ่าฝูงต่ออีกวันหลังกวาดเหรียญรางวัลนำที่ 39 ทอง 25 เงิน 22ทองแดง โดยมี ม.กรุงเทพธนบุรี ตามมาติดๆ 35 ทอง 16 เงิน 13 ทองแดง และ จุฬาฯ ที่ 3 คว้ามาได้ 23 ทอง 31 เงิน 27 ทองแดง
ว่ายน้ำ วันที่สอง มีการทำลายสถิติกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นอีกแล้ว ในประเภทฟรีสไตล์ 1,500 เมตรหญิง โดย “เงือกเอมี่” เอมมิกา หิมะทองคำ เงือกสาวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของแชมป์เก่ารายการนี้ ยังคงโชว์ฟอร์มได้อย่างเยี่ยมยอดว่ายนำแบบม้วนเดียวจบเข้าแตะขอบสระคนแรกด้วยเวลา 17.18.01 น. พร้อมกับทำลายสถิติเก่าที่เงือกสาวรุ่นพี่สถาบัน “เบญ” เบญจพร ศรีพนมธร ทำไว้ 17.23.28 น. ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยฯ ครั้งที่ 43 ที่ม.อุบลราชธานี ขณะที่เหรียญเงินเป็นของ ฟ้าใส แย้มสรวล จากจุฬาฯ เวลา 18.38.84 น. และ ทองแดง พิมพ์พันธุ์ ชูพงศ์ (ม.เกษมบัณฑิต) 18.50.70 น.
ขณะที่ “เจมส์บอนด์” ณัฐพงษ์ เกษอินทร์ ฉลามหนุ่มทีมชาติสามารถคว้าเหรียญทองี่ 2 ให้ตัวเองและต้นสังกัดม.กรุงเทพธนบุรี จากประเภทผีเสื้อ 100 เมตรชาย เมื่อแตะขอบสระทำเวลาได 56.14 วิ. โดยมีนวพรรษ วงค์เจริญ จากจุฬาฯ ตามเป็นที่ 2 ได้เหรียญเงินเวลา 56.49 วิ. และเหรียญทองแดง กัญจน์กันต์ ปรีชาวุฒิคุณ จากม.อัสสัมชัญ 56.67 วิ. แต่ในประเภทกบ 50 เมตรชาย เหรียญทองเป็นของ กิติพัฒน์ ภิพิมพ์นันท์ จากสถาบันการพลศึกษา (สพล.) 29.67 วิ.โดย ณัฐพงษ์ เข้าเป็นที่สอง ได้เหรียญเงิน เวลา 30.05 วิง และเหรียญทองแดง ประสบชัย แก้วรุ่งเรือง จากจุฬาฯ 30.53 วิ.
ด้าน “เงือกพลอย” ภัทรวดี กิตติยะ นักว่ายน้ำดีกรีทีมชาติจากม.กรุงเทพธนบุรี สุดเจ๋งเก็บคนเดียว 2 ทอง จากเดี่ยวผสม 400 เมตรหญิง ทำเวลาได้ 5.13.58 น., ขณะที่เหรียญเงิน จุฑามาส สุทธิสน (ม.เกษมบัณฑิต) 5.21.66 น. และทองแดง พรสุดา ไวนิยมพงศ์(จุฬาฯ) 5.34.22 น. และกรรเชียง 200 เมตรหญิง ทำเวลาได้ 2.27.80 น. โดยมี จุฑามาส สุทธิสน(ม.เกษมบัณฑิต) ได้เหรียญเงิน 2.29.11 น. และ ทองแดง สภาวินี อยู่สุข (จุฬาฯ) 2.30.10 น.
ส่วนผลการแข่งขันรายการอื่นๆ ฟรีสไตล์ 200 เมตรชาย ทอง ธนกฤต กิตติยะ (ม.รามคำแหง” 1.54.84 น., เงิน เสรีย์ แผนสมบูรณ์ (สพล.) 1.55.58 น. ทองแดง เจียรพงษ์ สังขะวัตร์(จุฬาฯ) 1.58.51 น., ผลัดฟรีสไตล์ 4 คูณ 100 เมตรหญิง ทอง จุฬา, อารยา วงษ์วาท, เปรมปรีดา แสงแก้ว) 4.01.67 น., เงิน ม.เกษมบัณฑิต 4.05.18 น. , ทองแดง ม.เกษตรศาสตร์ 4.15.16 น.
ไต้ฝุ่นอาร์แบคป้องแชมป์
กรีฑา ไฮไลต์อยู่ที่ วิ่งผลัด 4×100 ม.ชาย เจ้าของแชมป์เก่า ม.รัตนบัณฑิต ที่มีนักวิ่งทีมชาติไทย จรัญ สะเทิ้งรัมย์ วิ่งไม้สุดท้าย ยังทำได้อย่างยอดเยี่ยม 40.68 วิ. ป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ เหรียญเงินเป็น สพล. 40.74 วิ., ทองแดง ม.ธรรมศาสตร์ 41.18 วิ.
ขณะที่วิ่งผลัด 4×100 ม.หญิง ทอง สพล. 46.59 วิ., เงิน ม.ธรรมศาสตร์ 47.29 วิ., ทองแดง มรภ.สุราษฎร์ธานี 47.85 วิ. รั้ว 100 ม.หญิง ทอง สุชาดา มีศรี (ม.ธรรมศาสตร์) 14.63 วิ., เงิน นัทตะวัน ดาวันดี (ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์) 14.97 วิ., ทองแดง อารีรัตน์ ทินปราณี (มรภ.ศรีสะเกษ) 15.56 วิ.
ส่วนผลแข่งขันรายการอื่นๆ มีดังนี้ รั้ว 110 ม. ชาย ทอง อภิสิทธิ์ พองลำใย (ม.ธรรมศาสตร์) 14.56 วิ., เงิน ภานุซัฒน์ ขวัญยืน (สพล.) 14.65 วิ., ทองแดง ณัฐพล ดันสูงเนิน (ม.ขอนแก่น) 14.66 วิ.,วิ่ง 800 ม.หญิง ทอง จุฑามาศ โขนขำ (มรภ.สุราษฎร์ธานี) 2.19.93 น., เงิน พรกมล ไตรแก้ว (ม.มหิดล) 2.20.41 น., ทองแดง อภิญญา อาธิเดวช (ม.กรุงเทพธนบุรี) 2.21.48 น., วิ่ง 800 ม.ชาย ทอง จิรายุ ปรีนารัมย์ ( ม.ธรรมศาสตร์) 1.55.12 น., เงิน ทนงศักดิ์ ลิ่มเนี่ยว (ม.รัตนบัณฑิต) 1.56.56 น., ทองแดง ณัฐดนัย กาการ (มรภ.ศรีสะเกษ) 1.56.56 น.,ทุ่มน้ำหนัก ทอง ธวัฒ คชินทร์ (ม.กรุงเทพธนบุรี) 16.52 ม., เงิน วัธนชัย กล่อมวัฒนา (มรภ.บุรีรัมย์) 14.09 ม., ทองแดง อธิวุฒิ บุญเจริญ (ม.เกษตรศาสตร์) 12.62 ม., เขย่งก้าวกระโดดหญิง ทอง ปริญญา เฉือยมะเริง (ม.กรุงเทพ) 12.96 ม., เงิน พจนาฎ สมศณี (มรภ.ศรีสะเกษ) 12.26 ม., ทองแดง อฑิรัตน์ ศรีภักดี (สพล.) 11.93 วิ.
“ไบร์ท-หญิง” นำทีมคว้าแชมป์
เทเบิลเทนนิส ประเภททีม รอบชิงชนะเลิศ ทีมชาย ทีมลูกเด้งหนุ่ม ม.รัตนบัณฑิต นำโดย “ไบร์ท” ภาดาศักดิ์ ตันวิริยะเวชกุล มือ 1 ทีมชาติไทย, ทักษิณ ประชุมฉลาด และ พีรพล คุณประเสิรฐ พบกับ “แชมป์เก่า” ม.ธนบุรี ที่นำทีมโดย สุชาติ พิทักษ์กุลสิริ ซึ่งผลปรากฏว่า ทีมนักตบลูกเด้ง ม.รัตนบัณฑิต โดยในคู่ 3 ภาดาศักดิ์ ลงตบเอาชนะ ศรายุทธ ตันเจริญ 3-0 เกม ช่วยให้ทีมลูกเด้งหนุ่ม ม.รัตนบัณฑิต เอาชนะไป 3-1 คู่ 3-1, 3-0, 2-3, 3-0 คว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ
ด้านทีมหญิง “รองแชมป์เก่า” ม.รัตนบัณฑิต ที่นำทีมโดย “หญิง” สุธาสินี เสวตรบุตร นักตบลูกเด้งสาว มือ 1 ของไทย, จิตสุภา ศิริไทย, กรชนก สุขหอม ลงสนามพบกับ ม.กรุงเทพธนบุรี ที่นำโดย “แตงโม” ธมลวรรณ เขตต์เขื่อน นักตบสาวทีมชาติไทย ซึ่งการแข่งขันทั้งสองทีมสู้กันเสมอที่ 2-2 คู่ ต้องตัดสินคู่สุดท้าย และเป็นฝ่าย จิตสุภา ที่พลิกกลับเอาชนะ อุษณี ทวีสัตย์ 3-2 เกม ช่วยให้ทีมลูกเด้งสาว ม.รัตนบัณฑิต เอาชนะไป 3-2 คู่ 3-0, 0-3, 1-3, 3-0, 3-2 คว้าเหรียญทองไปครองได้สำเร็จ
หลังการแข่งขัน ภาดาศักดิ์ กล่าวว่า ดีใจที่สามารถคว้าเหรียญทองในประเภททีมได้เป็นครั้งแรก หลังจากครั้งที่ผ่านมาได้เพียงแชมป์ชายเดี่ยว โดยจากนี้ยังเหลือแข่งขันอีก 3 รายการในประเภทชายเดี่ยว, ชายคู่ และคู่ผสม ก็หวังว่าจะคว้าทองได้ในประเภทเดี่ยว และประเภทคู่ ส่วนคู่ผสมดูแล้วยังคงเป็นรองคู่แข่ง ม.ธนบุรี อยู่แต่ก็ต้องลุ้นในการแข่งขันต่อไป
“ต้นน้ำ” นำทีมเอเป้จุฬาฯ คว้าทอง
ฟันดาบ รอบชิงชนะเลิศ ประเภทดาบเอเป้ ทีมหญิง ซึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี “ต้นน้ำ” กัญญาพัชร มีชัย นักกีฬาฟันดาบสาวสวยดีกรีทีมชาติชุดซีเกมส์ ครั้งที่ 29 นำทีมลงสนามชิงดำกับ ม.ศรีปทุม โดยผลการแข่งขันปรากฏว่า เป็นนักดาบสาวจากรั้วจามจุรีที่โชว์สเต็ปการออกดาบจ้วงแทงได้เข้าเป้าแม่นยำกว่าคว้าชัยชนะ 45-36 คะแนนคว้าเหรียญทองไปครอง สาวศรีปทุมได้เหรียญเงิน และ ทองแดง ม.กรุงเทพ กับ ม.เกษตรฯ
ส่วนประเภทเซเบอร์ทีมชาย แชมป์ตกเป็นของทีมจากม.กรุงเทพ ที่สามารถเอาชนะ ม.เกษตรศาสตร์ 45-35 คะแนน โดยมีม.ธรรมศาสตร์ กับ จุฬาฯ ได้เหรียญทองแดง
ขณะที่ผลการชิงชัยเหรียญทองกีฬาอื่นๆ มีดังนี้ ยิงปืน ปืนยาวอัดลม บุคคลหญิง ทอง ศุภลักษณ์ พิมพ์พันธุ์ (ม.กรุงเทพธนบุรี) 412.5 คะแนน, เงิน นวิดา เกษมเกียรติไทย(ม.กรุงเทพ) 409.7 คะแนน, ทองแดง ชณัฐกานห์ บุตรชา(ม.เกษมบัณฑิต) 408 คะแนน, ทีมหญิง ทอง ม.กรุงเทพธนบุรี 1220.9 คะแนน, เงิน จุฬาฯ 1218 คะแนน, ทองแดง ม.เกษมบัณฑิต 1208.2 คะแนน, ปืนสั้นมาตรฐาน บุคคลชาย ทอง วรพจน์ ศิริรัตน์ (ม.กรุงเทพ) 559(12x) คะแนน, เงิน ภานุ สุธีรศักดิ์ (ม.กรุงเทพธนบุรี) 546(7x) คะแนน, ทองแดง ภวินทร์ ตันตินวะชัย (ม.รามคำแหง) 542(4x) คะแนน, ทีมชาย ม.กรุงเทพธนบุรี 1575(20x) คะแนน, เงิน ม.ธรรมศาสตร์ 1517(14x) คะแนน, ทองแดง สถาบันการพลศึกษา 1489(12x) คะแนน
ยูยิตสู ประเภทศิลปะการต่อสู้ ดูโอ้ โชว์ ซิสเท็ม รอบชิงชนะเลิศ สุภวดี แก้วสระแสน กับ ธรรมนูญ โปไธสง จากม.เกษมบัณฑิต พบกับ จิรายุ วงศ์สวรรค์ กับ อรภา เสนาธรรม จากม.กรุงเทพธนบุรี โดยผลการแข่งขันปรากฏว่า ทั้ง 2 คู่ต่างโชว์ท่าศิลปะการต่อสู้ได้คะแนนรวมเท่ากันที่ 40.5 คะแนน ทำให้กรรมการต้องมาใช้คะแนนเทคนิคจากกรรมการ 3 ท่านเป็นตัวตัดสิน ซึ่ง สุภวดี กับ ธรรมนูญ ได้คะแนนรวมที่ 19.5 คะแนน และ จิรานุ กับ อรภา ได้เพียง 19 คะแนน ทำให้คู่ของ ม.เกษมบัณฑิต คว้าเหรียญทองไปครองทันที
คาราเต้-โด ท่ารำ บุคคลหญิง ทอง มนสิชา ธารารัตนากุล(ม.รัตนบัณฑิต), ท่ารำบุคคลชาย ทอง อัมคา วงพระจันทร์(ม.รัตนบัณฑิต), ทีมหญิง ทอง ม.รัตนบัณฑิต(อาร์ม สุขเขียว, ทิพวัลย์ คำศรี, มนสิชา ธารารัตนากุล), ทีมชาย ทอง จุฬาฯ (วัชระพงษ์ หินแก้ว, ชาตินิธิ ชัยโชตกิจ, ศุภวุฒิ วอนเพียร)
จ่อลดชนิดกีฬาปัญญาชนเกมส์
ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ในคณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ก.ก.ม.ท.) กล่าวว่า การจัดการแข่งขันราชมงคลธัญบุรีเกมส์ยังพบว่ามีปัญหาอยู่หลายปัญหา ทั้งเรื่องของสูจิบัตรที่รายละเอียดตกหล่นหลายจุด การประสานงานของเจ้าภาพกับสถาบันอื่นๆ ยังถือว่ามีช่องว่างอยู่มาก ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน เช่นเดียวกับการรายงานผลการแข่งขันที่ล่าช้า ไม่ครบถ้วน ส่วนเรื่องการกระจายสนามแข่งขันใน 3 จุด คือ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, มศว องครักษ์ และ มทร.ธัญบุรี นั้นไม่ถือว่าสนามที่กระจายออกไปห่างไกลกันนัก แต่ที่ดูไกลก็เพราะว่าอาจจะเป็นปัญหาเรื่องการจราจร เนื่องจากจัดแข่งขันในย่านชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมื่อเทียบกับการแข่งขันในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดก็มีการกระจายสนามแข่งเช่นกัน แต่การเดินทางนั้นคล่องตัวกว่ากันมากจึงทำให้ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการเดินทางไปดูแลนักกีฬาของแต่ละสถาบัน
ส่วนที่เห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ควรเอาหารือในที่ประชุม ก.ก.ม.ท.มากที่สุด รศ.ดร.วิชิต กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องของการบรรจุจำนวนชนิดกีฬาในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ซึ่งในช่วงหลายปีหลังๆ มานี้มีการบรรจุชนิดกีฬาไว้ค่อนข้างเยอะและจะมีกีฬาใหม่ๆ ที่ถูกดึงเข้ามาจัดเพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาแล้วถือว่ามากเกินไป ดังนั้นก็จะมีการกลับมาหารือกันใหม่ว่าควรจะให้มีการบรรจุกีฬาที่พอเหมาะ และเป็นกีฬาที่มีนักศึกษา มีชมรมกีฬาในแต่ละมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพื่อไม่ให้มีจำนวนแข่งที่มากเกินไป และทำให้ขาดความน่าสนใจและขาดบรรยากาศความเป็นกีฬามหาวิทยาลัยไป ส่วนตัวคิดว่าควรจะจัดที่ 24-28 ชนิดกีฬาก็เพียงพอแล้ว ซึ่งนอกจากจะทำให้การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และ ได้รับความสนใจจากนักศึกษา ผู้คนทั่วไปแล้ว ยังจะช่วยเจ้าภาพในการประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันอีกด้วย