มติชน ฉบับวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2561
เมื่อวันที่ 26 มกราคม นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “นับหนึ่ง ครับผม ครับผม” เผยแพร่ข้อความอีเมล์ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งตอบปฏิเสธการรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และมหาวิทยาลัยเอกชน เข้าทำงานว่า ส่วนตัวคิดว่าขณะนี้ มรภ.และ มทร.ปรับตัวพัฒนาการเรียนการสอนไปในทิศทางที่ดี ตามปรัชญาในการเป็นที่พึ่งของชุมชนและท้องถิ่น ทั้งนี้ ทุกมหาวิทยาลัยมีมาตรฐานกำกับ ทุกแห่งมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ดังนั้น บริษัทเอกชน จึงไม่ควรมีความคิดแบบเหวี่ยงแหว่าเด็กที่จบจาก มรภ.หรือ มทร.ไม่มีคุณภาพ บริษัทเอกชนไม่ควรใช้ทัศนคติแบบนี้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน แต่ควรพิจารณาจากทักษะ ความสามารถเป็นรายบุคคล เพราะมีหลายคนแม้จะจบจาก มรภ.หรือ มทร. แต่ก็สามารถทำงานบางอย่างได้ดีกว่าเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยดังๆ
นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ในฐานะเลขานุการที่ประชุมอธิการบดี มทร. กล่าวว่า ส่วนตัวมั่นใจในคุณภาพของเด็กที่จบจาก มทร.ทั้ง 9 แห่ง เพราะเรามีการปรับปรุง พัฒนาการเรียนการสอนเน้นสมรรถนะผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นที่พอใจของสถานประกอบการทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เช่น เด็กที่จบจาก มทร.ธัญบุรี พบว่า เด็กที่จบไปมีงานทำถึง 87% กว่า ขณะที่ 20% มีงานทำก่อนจบการศึกษา และกว่า 50% ของผู้มีงานได้รับเงินเดือนสูงกว่าวุฒิที่จบ ทั้งนี้ ส่วนตัวได้ทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่แน่ใจว่า เด็กที่โพสต์ข้อความจบจากสถาบันใด อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล และไม่แน่ใจว่าบริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แต่คิดว่าการดำเนินการคัดเลือกคนเข้าทำงานเช่นนี้ อาจเป็นการตัดสินใจที่เร็วเกินไป โดยเฉพาะการมาตัดสินว่าสถาบันการศึกษาไม่มีคุณภาพ ก็ถือว่าไม่เป็นธรรม
ด้านนายเรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น โดยกรณีนี้แค่เป็นกระแส อย่างธนาคารแห่งหนึ่งไม่รับเด็กที่จบจาก มรภ. แต่สุดท้ายก็พบว่าเป็นทัศนคติของบุคลากรบางคน ไม่ใช่นโยบายธนาคาร ซึ่งกรณีนี้ตนเห็นว่าจะเป็นลักษณะเดียวกัน ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีบริษัทเอกชนหรือที่ไหนคิดแบบนี้อีก เพราะปัจจุบันการคัดเลือกคนเข้าทำงาน จะดูที่ทักษะ ความสามารถของแต่ละคนมากกว่าจะดูว่าจบจากสถาบันอะไร