สยามกีฬา ฉบับวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561
บุญภา
ผมขอพยากรณ์เลยว่า “เส้นรังสิต-นครนายก” ต่อไปคือคลัสเตอร์ใหญ่ของการกีฬาเมืองไทย
ถ้าผู้กุมนโยบายกีฬาของประเทศเล็งเห็นนะครับ ให้มีการส่งเสริมกีฬาแถบนี้อย่างเป็นระบบ เขตนี้จะก้าวมาเป็นกำลังสำคัญใน “การสร้าง” หลาย ๆ ด้าน รวมทั้งจะมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของแถบภาคตะวันออก ที่มีชลบุรีเป็นหัวหอก และสุพรรณบุรีที่แย่งชิงเจ้าเหรียญทองกับ กทม. ในหลายมหกรรมกีฬา
อนาคตถ้าสร้างดี ๆ นะครับ ปทุมธานี-นครนายก จะมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญไม่แพ้จังหวัดข้างต้นมาแข่งกับ กทม. อีกแห่ง และการแข่งขันในระนาบของกีฬาระดับจังหวัดจะทวีความเข้มข้นชนิดปรอทแตกได้เลย
สิ่งที่พอจะพิสูจน์เลา ๆ ให้เห็นถึงการพยากรณ์ดังกล่าวของผมคือ ขณะนี้มี 2 มหกรรมใหญ่จัดแข่งอยู่แถบดังกล่าว
หนึ่ง กีฬามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 45 “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” ที่ มทร.ธัญบุรี อยู่คลอง 6 ปทุมธานี
สอง กีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 39 “ขุนด่านเกมส์” ที่ จ.นครนายก เป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมพลศึกษา
แถบรังสิต (เขตปทุมธานี) เลียบคลองรังสิตไล่ไปจนถึงนครนายก ต้องบอกว่ามีศักยภาพสูง ศูนย์กีฬาคลอง 6 กรมพลศึกษาก็อยู่ติดกับ มทร.ธัญบุรี (พื้นที่ใหญ่โตถึง 720 ไร่ มีนักศึกษากว่า 23,000 คน) นอกจากนี้ยังมี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ซึ่งใหญ่โตไม่แพ้กัน หรือโรงเรียนนายร้อย จปร. ก็อยู่เขตนครนายก และยังมีสถานศึกษาใหญ่ ๆ อีกเป็นจำนวนมากในย่านนี้เพิ่มศักยภาพได้มากมาย
เอาแค่นักกีฬาของสถาบันศึกษาต่าง ๆ มาร่วมทีมจังหวัดแค่นี้ ผลงานด้านเหรียญรางวัลก็ไปไกลแล้วครับ
สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนถึงกีฬามหาวิทยาลัย “ธัญบุรีเกมส์” ที่มี รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ เป็นอธิการบดี ได้มีการแนะนำให้รู้จักตามสมควร
มาสัปดาห์นี้ขอถือโอกาสไปเมียงมองอีกมหกรรมหนึ่ง ซึ่งแข่งซ้อนกันพอดี นั่นคือ “ขุนด่านเกมส์” หรือ กีฬานักเรียน นักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 39 รายการนี้มีกรมพลศึกษาเป็นโต้โผร่วมกับจังหวัดต่าง ๆ โดยหนที่ 39 นี้ร่วมมือกับ จ.นครนายก นำนักกีฬาร่วมหมื่นไปเป็นอาคันตุกะ
ผมเคยเขียนไปบ้างแล้วว่ามันค่อนข้างซ้ำซ้อนกับกีฬาเยาวชนแห่งชาติ คุณสมบัตินักกีฬาคล้าย ๆ กัน เพียงแต่ของกรมพละเน้นระบบโรงเรียนก่อนคัดเป็นนักกีฬาของเขตการศึกษา, กีฬาเยาวชนแห่งชาติ ของ กกท. เน้นระบบจังหวัด แต่อายุไม่เกิน 18 ปีทั้งคู่ พอมาแข่งก็นักกีฬาชุดเดิมนั่นแหละเข้ามาแข่ง ซ้ำร้ายอะไรรู้มั้ยครับ! กีฬานักเรียน แข่งมกราคมทุกปี เว้นอีก 2-3 เดือน กีฬาเยาวชนก็แข่งต่อ บรรดาครูบาอาจารย์บ่นกับผมมานานว่า ทำไมไม่แยกกันคนละเทอม อันนึงเทอมต้น อันนึงเทอมปลายได้มั้ย เคยเขียนไปประมาณนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกอย่างเหมือนเดิม
เค้าคงจัดง่ายมั้ง! แบบทุกวันนี้
เอาล่ะ มาดูการส่งเสริมกีฬาเยาวชนในเวอร์ชั่นของกรมพลศึกษาดู
“ขุนด่านเกมส์” เปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา นับว่าผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความสำคัญมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับเกียรติจาก พลเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์ ผู้แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีที่สนามกีฬากลางโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยมี ดร.ปัญญา หาญลำยวง อธิบดีกรมพลศึกษา, นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก, นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตบเท้าร่วมงาน
เรียกว่าบรรดาบิ๊ก ๆ ฝ่ายข้าราชการมากันคับคั่ง
มีกีฬาทั้งหมด 34 ชนิด ชิงชัย 350 เหรียญทอง มีเจ้าหน้าที่และนักกีฬาจาก 10 เขตการแข่งขันร่วมชิงชัย 8,430 คน
ดร.ปัญญา หาญลำยวง อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า การแข่งขันขุนด่านเกมส์ครั้งนี้ ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันทั้งในส่วนของกรมพลศึกษา และนครนายก ได้ประชุมเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ มาอย่างสมบูรณ์
“เราได้ประชุมซักซ้อมกันทุกด้าน ทั้งด้านการรักษาความปลอดภัย, ที่พัก, หน่วยแพทย์พยาบาล และการขนส่ง ทุกด้านพร้อมเต็มที่ในการจัดการแข่งขัน รวมทั้งพร้อมรองรับนักกีฬา และเจ้าหน้าที่จากทุกเขตที่เดินทางมาเข้าร่วมชิงชัย ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีกับน้อง ๆ นักกีฬาทุกคนที่ได้เป็นตัวแทนเขตเข้ามาร่วมการแข่งขันครั้งนี้” นายปัญญากล่าว
อธิบดีกรมพลศึกษากล่าวว่า อยากให้นักกีฬาทุกคนมีความสุขในการเข้าร่วมการแข่งขัน และสิ่งสำคัญที่สุดคือ อยากให้ทุกคนได้ใช้ประสบการณ์ในการแข่งขันกีฬา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกับเพื่อนนักกีฬาต่างเขตต่างพื้นที่และอยากให้ทุกคนเข้าร่วมการแข่งขันด้วยน้ำใจของนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย อีกด้วย
ผมเติบโตในยุคที่กีฬานักเรียนกรมพลศึกษาไม่ได้เป็นรูปแบบนี้นะครับ แต่ในการมีส่วนร่วมแล้วบอกได้เลยว่าสนุกมาก
กีฬานักเรียนแข่งกันทั้งปี เดี๋ยวกีฬาชนิดนั้นชนิดนี้ รุ่นนั้นรุ่นนี้ แข่งขันกันในระบบโรงเรียนครับ โรงเรียนของผมส่งแข่งถ้าเข้ารอบลึกก็มาเชียร์เพื่อน ๆ กัน ยิ่งเข้าชิงทางอาจารย์ก็จะเหมารถบัสมาเชียร์กันหลายร้อยคน สร้างความรักความสามัคคีในสถาบันของตนอย่างสูง ถ้าว่าง ๆ เสาร์-อาทิตย์ก็ชวนเพื่อน ๆ แอบไปดูสาว ๆ เขาตบวอลเลย์บอลกันที่ยิม 2 สร้างความกระชุ่มกระชวยอย่างยิ่ง
โตมาอย่างนั้นก็รักอย่างนั้น พอมาเห็นเขาปรับปรุงเป็นอีกแบบก็มีข้อดีหลายด้าน แต่เขาแข่งกันเป็นเขตต่อเขต (10 เขตการศึกษา) ไม่ได้แข่งกันเป็นโรงเรียน สิ่งที่ขาดหายไปคือ ขาดการมีส่วนร่วมของนักเรียนที่จะเข้าไปเชียร์ ทำให้ขาดเสน่ห์
นักกีฬาที่เข้าแข่งสมัยก่อนเขาจะแจกกระเป๋ากรมพลศึกษา รูปลักษณ์อาจจะดูเชย ๆ แต่คนถือเขารู้สึกเท่ หิ้วไปไหนมาไหนให้เขารู้ว่าเป็นนักกีฬาโรงเรียน
สุดท้ายก็คือ อยากให้กลับมาเป็นโรงเรียนแข่งขันมากกว่าเขตครับ