กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561
กรุงเทพธุรกิจ นักการศึกษา เรียกร้องรัฐบาลกำหนดทิศทาง พัฒนาหลักสูตรการศึกษาอย่างชัดเจน ยอมรับแม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่ควรศึกษา และพิจารณาแนวทางในการกำหนดการอุดหนุนหรือไม่ให้ งบประมาณ
หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ได้มีข้อสั่งการ เพิ่มเติมในเรื่องโครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ ในอุดมศึกษา รองรับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก (ทุนพัฒนาอาจารย์ โดยให้ศึกษาในประเด็นการเตรียมความพร้อมให้ได้คนที่มีศักยภาพ ตรงความต้องการของประเทศ รวมถึง กรณีการสนับสนุนงบประมาณให้อุดมศึกษา ให้ควบคุมสาขาที่ไม่มีงานทำ หรือไม่ตรงความต้องการ การลดหรือไม่ให้เงินอุดหนุนนั้น
นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี แสดงความเห็นว่า คำสั่งดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็น การให้มหาวิทยาลัยปรับตัว ในการปรับปรุงและปรับหลักสูตรใหม่เพื่อรองรับกับความต้องการของประเทศ แต่การจัดสรรงบประมาณก็ต้องดูบริบทของมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่ม เพราะมหาวิทยาลัยมีความถนัด และเชี่ยวชาญแตกต่างกัน อย่าง กลุ่มมทร. มีการรีโปรไฟล์มหาวิทยาลัยใหม่ โดยเน้นผลิตบัณฑิตเฉพาะทางรองรับในอุตสาหกรรมต่างๆ
ดังนั้น การที่รัฐบาลจะมีนโยบาย ให้ลดเงินอุดหนุนหรือไม่ให้ในสาขาหลักสูตรที่ไม่มีงานทำหรือไม่ต้องการนั้นจะทำให้มหาวิทยาลัยปรับตัว แต่ต้อง ทบทวนการจัดสรรงบประมาณแก่ มหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งรัฐบาลจะให้ งบประมาณเพียง 3-7% และมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในเรื่องเงินเดือนอาจารย์
อีกทั้ง ต้องมีการกำหนดชัดเจนว่าหลักสูตร หรือการพัฒนาคนว่าจะไปในทิศทางไหน อย่างไร และมหาวิทยาลัยแต่ละกลุ่ม ต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้การพัฒนาบัณฑิต มีคุณภาพ รองรับกับการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง รวมถึงสาขาที่ไม่มีงานทำ สถานประกอบการ อุตสาหกรรมไม่ต้องการ ก็ต้องมีข้อมูลชัดเจนให้แก่มหาวิทยาลัย
ทางด้านนายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.)กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นนโยบายที่ดีแต่ควรจะมีการศึกษาและพิจารณาถึงแนวทางในการอุดหนุน ลด หรือจะไม่ให้งบประมาณ เพราะขณะนี้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็ได้รับงบประมาณอย่างจำกัด และงบที่ได้ ก็ไม่เพียงพอ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องหาแนวทางในการหางบด้านอื่นๆ
ขณะนี้ เชื่อว่า มหาวิทยาลัยทุกกลุ่ม กำลังปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา หลักสูตร เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ กับความต้องการกำลังของประเทศ เพราะทุกแห่งต่างรู้ว่า หากไม่ปรับตัว ก็จะอยู่ไม่ได้ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัย ก็มีการสำรวจหลักสูตรต่างๆ ที่เป็นแนวโน้มของโลกอนาคต และหลักสูตรไหนที่ไม่ต้องการก็จะปิดตัวลง หรือยุบรวมกับหลักสูตรอื่นๆ เพื่อผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน มีงานทำ ไม่ตกงานโดยไม่กระทบต่อผู้เรียนอย่างแน่นอน