มติชน ฉบับวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2561
การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยวนกลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 45 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นเจ้าภาพ ในชื่อว่า “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” แต่มีความพิเศษตรงที่ครั้งนี้มีเจ้าภาพร่วมครั้งแรกในประวัติศาสตร์กีฬาปัญญาชนไทยด้วย
ราชมงคลธัญบุรีเกมส์แข่งขันระหว่างวันที่ 22-31 มกราคม มี มทร.ธัญบุรีเป็นเจ้าภาพหลัก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒองครักษ์ เป็นเจ้าภาพร่วม แข่งขันรวมทั้งสิ้น 430 เหรียญทอง จาก 35 ชนิดกีฬา
ได้แก่ กรีฑา, ว่ายน้ำ, บาสเกตบอล, ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, ฟุตซอล, เทนนิส, เทควันโด, ฟันดาบ, เทเบิลเทนนิส, มวยสากลสมัครเล่น, ยิงปืน, ยูโด, ฮอกกี้, วอลเลย์บอลชายหาด, เปตอง, เรือพาย, ลีลาศ, ปันจักสีลัต, รักบี้ฟุตบอล, ยูยิตสู, คาราเต้โด, กอล์ฟ, แฮนด์บอล, ปีนหน้าผา, ซอฟต์บอล, เอแม็ท, เพาะกาย, ครอสเวิร์ด, บริดจ์, หมากกระดาน, มวยไทยสมัครเล่น, ดาบไทย และกีฬาสาธิต 2 ชนิด บาสเกตบอล ทรีออนทรี และเอ็กซ์ตรีม มีนักกีฬาจาก 112 สถาบันทั่วประเทศ กว่า 15,000 คนร่วมแข่งขัน
ความร่วมมือของ 3 สถาบันในย่านใกล้เคียงกัน ทำให้มีการแบ่งสนามแข่งขันออกเป็น 3 จุด ซึ่งทุกสนามได้มาตรฐานตามที่คณะกรรมการบริหารกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ก.ก.ม.ท.) กำหนดไว้เป็นอย่างดี โดยนำเอาความทันสมัยของเทคโนโลยีมาเป็นจุดเด่นในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดผ่านทางแอพลลิเคชั่น “ทรูไอดี” ซึ่งเป็นครั้งแรกๆ ที่กีฬาปัญญาชนถ่ายทอดสดให้ได้ติดตามกันผ่านทางเครื่องมือสื่อสารทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วย
มทร.ธัญบุรีนำเสนอเรื่องเทคโนโลยีในการแข่งขันผ่านทางแมสคอต หรือสัญลักษณ์นำโชค 2 ตัว คือ น้องอินโน ที่ย่อมาจากคำว่า “อินโนเวทีฟ” (Innovative) ซึ่งแปลว่าการปรับปรุงและพัฒนา และ น้องนีโอ มาจากคำว่า “นีโอ เทคโนโลยี” (Neo Technology) ตรงกับวิสัยทัศน์ของสถาบันเจ้าภาพที่เป็นมหาวิทยาลัยนักปฏิบัติมืออาชีพชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับประเทศและก้าวสู่ระดับสากลด้วย
มองในเรื่องการแย่งชิงเจ้าเหรียญทอง ยังคงเป็นการขับเคี่ยวกันของสถาบันระดับท็อปของวงการกีฬาปัญญาชนในช่วงหลัง จุฬาฯ, สถาบันการพลศึกษา (สพล.), ม.กรุงเทพธนบุรี, ม.เกษตรศาสตร์ และ ม.รัตนบัณฑิต โดยเฉพาะสองสถาบันแรกที่ผลัดกันคว้าเจ้าเหรียญทองในช่วงหลัง สพล.เพิ่งกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ในการแข่งขันครั้งที่ 44 “สุรนารีเกมส์” จากจุฬาฯได้ เมื่อปีที่แล้ว หลังจากคว้ารองแชมป์มา 3 ปีติด ส่วนจุฬาฯ แชมป์เก่าปี ครั้งที่ 41-43 หมายมั่นปั้นมือในการทวงแชมป์กลับมาให้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามต้องไม่ประมาท ม.กรุงเทพธนบุรีและ ม.รัตนบัณฑิต ที่เต็มไปด้วยนักกีฬาทีมชาติ เช่นเดียว ม.เกษตรศาสตร์ ที่อาจจะเงียบๆ ไปในช่วงหลัง แต่ยังเกาะกลุ่มท็อป 5 ในตารางเหรียญได้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับเจ้าภาพเองยังไม่เคยคว้าเหรียญรางวัลใดๆ ในกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยมาก่อน ครั้งนี้ตั้งเป้าจะสร้างประวัติศาสตร์หยิบเหรียญกีฬาปัญญาชนเป็นครั้งแรกให้ได้
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า เจ้าภาพส่งนักกีฬาร่วมชิงชัยกว่า 200 คน ถึงแม้ว่านักกีฬาของเราจะไม่ใช่แนวหน้าของไทย แต่เราก็จะพยายามให้นักกีฬาทำผลงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยหวังไว้ว่านักกีฬาของเราจะคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ได้เป็นครั้งแรกในศึกครั้งนี้ และยังหวังอีกอย่างน้อยอีก 2 เหรียญเงิน รวมถึงเหรียญทองแดงด้วย ซึ่งหากนักกีฬา มทร.ธัญบุรี คว้าเหรียญทองได้สำเร็จ จะมีเงินอัดฉีดเหรียญทองเป็นหลักแสนบาทแน่นอน
เมื่อไม่กี่วันก่อน ในการประชุม ก.ก.ม.ท. ซึ่ง ศ.บัณฑิตเอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ได้มีคณะกรรมการร้องขอให้มีการจัดการปัญหาการโกงในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีแนวทางป้องกันอะไรในการประชุมครั้งนั้น
หวังว่า “ราชมงคลธัญบุรีเกมส์” จะเป็นการยกระดับกีฬาปัญญาชนทั้งในแง่การแข่งขันและความโปร่งใสในการตัดสิน ให้เหมาะสมกับคำว่า “กีฬาปัญญาชน” นะขอรับ