เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2561
สมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดการแข่งขัน กีฬาหาทิศทางสัญญาณวิทยุ ARDF RAST TROPHY ครั้งที่ 1 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี
โดยมี 4 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
ในการแข่งขันครั้งนี้ 2 หนุ่มจาก ทีม HAM_RMUTT นายธนภัทร ยอดสุข และ นายกฤษฎา ไกลพาล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชมรมนักวิทยุ สมัครเล่น มทร.ธัญบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ รุ่นอุดมศึกษามาครองได้
น้องธนภัทร ยอดสุข บอกว่า สำหรับโจทย์ในการแข่งขันครั้งนี้ คือ การหาแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุ โดยใช้อุปกรณ์วิทยุโทรคมนาคม ซึ่งจะซ่อนอยู่ตามจุดต่าง ๆ จำนวน 6 ตัว โดย 5 ตัวจะเป็นตัวที่ต้องหา และอีก 1 ตัวเป็นจุดเส้นชัย โดยมีการกำหนดเวลาที่ใช้ในการหา 140 นาที
ทางทีมชมรมวิทยุสมัครเล่น มทร.ธัญบุรี ได้คิดค้นอุปกรณ์และสายอากาศที่ใช้ในการหาแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุดังกล่าว โดยใช้แนวคิด สร้างง่าย แม่นยำ ซึ่งใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ผนวกกับสัญญาณ RF จากเครื่องวิทยุสื่อสาร มาแสดงผลขึ้นจอ LCD และส่งสัญญาณเสียงออกลำโพง เมื่อเข้าใกล้แหล่งกำเนิดสัญญาณส่วนสายอากาศยังคงรูปแบบเดิม ๆ ที่ใช้กันคือทำจากตลับเมตร แต่ปรับแต่งเพื่อให้มุมการรับสัญญาณให้แคบลงเพื่อที่จะให้รับสัญญาณได้แม่นยำ
ส่วนอุปกรณ์ลดทอนสัญญาณใช้ทิ้งแบบ Passive และ Active ผนวกกันทำให้สามารถลดทอนสัญญาณเมื่อ เข้าใกล้แหล่งกำเนิดสัญญาณทำให้สามารถค้นหาได้ง่าย
สำหรับในการคิดค้นอุปกรณ์ใน ครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่ชมรมคือ นายวรรณชนะ ปรากฏผล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์
ด้าน น้องกฤษฎา ไกลพาล บอกเพิ่มเติมว่า ในการแข่งขันครั้งนี้ ช่วยกันหาทิศทางของสัญญาณโดยใช้อุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งทางกรรมการจะให้แผนที่ (ดาวเทียม) ที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อกำหนดขอบเขตของสนาม โดยจะต้องใช้ความรู้และทักษะวิชาแผนที่และเข็มทิศ เพื่อการวางแผนในการหาตัวปล่อยสัญญาณ สมาชิกทั้งสองคนในทีมจะไปเป็นบัดดี้ โดยจะมีระยะห่างกันได้ไม่เกิน 5 เมตร
ซึ่งในการแข่งขันจะพบอุปสรรคทางด้านภูมิ ประเทศ เช่น บ่อน้ำ หนาม และต้องเคารพในการตัดสินใจ ร่วมกันในการค้นหา โดยที่มีเวลาจำกัด โดยเวลาเฉลี่ยทีม HAM_RMUTT คือ 124 นาที สามารถหาแหล่งกำเนิดสัญญาณได้ครบทั้งหมด
สุดท้าย น้องกฤษฎา บอกว่า ในการแข่งขันครั้งนี้ได้รับประโยชน์มากมาย ได้นำความรู้จากการศึกษาในภาควิชามาประยุกต์ใช้ในการสร้างอุปกรณ์ ได้ฝึกทักษะในการค้นหาแหล่งกำเนิดสัญญาณ เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเกิดภัยพิบัติ รู้จักการทำงานเป็นทีม ได้แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยุสื่อสารเพื่อนำไปพัฒนาอุปกรณ์.