‘หมออุดม’ รับลูก ‘บิ๊กตู่’ ปฏิรูปอาชีวศึกษา เดินหน้าปลดล็อกหลักสูตรเชื่อมอุดมศึกษา ดึง ‘9 มทร.-3 พระจอมเกล้าฯ’ ถกปรับการสอนให้เสร็จใน 2 ด.
เมื่อวันที่ 5 มกราคม นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ได้สั่งการให้ ศธ.เร่งดำเนินการปฏิรูปอาชีวศึกษาใหม่ ให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ ภาคธุรกิจ และทิศทางการพัฒนาประเทศนั้น นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพราะต้องการให้การเรียนการสอนมีความเชื่อมโยงกับสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งผู้ที่จบอาชีวศึกษามีความรู้ ความเชี่ยวชาญทักษะวิชาชีพมาระดับหนึ่งแล้ว หากต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ก็ไม่ควรต้องถึง 4 ปี ดังนั้น ต้องหาวิธีปลดล็อกตรงนี้เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีความเชื่อมโยงกับอุดมศึกษามากขึ้น กลุ่มเป้าหมายหลักจะเป็นสายวิชาชีพที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ เน้นสายช่างประเภทต่างๆ เช่น รถไฟฟ้าระบบราง โรโบติกส์ หลักสูตรแมคคาทรอนิกส์ และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจ ภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งรัฐบาลจะลงทุนในส่วนของอุปกรณ์การเรียนการสอนให้มีความทันสมัย ขณะเดียวกันผู้เรียนจะต้องเรียนภาคปฏิบัติมากขึ้นอย่างน้อย 50% ของการเรียนทั้งหมด โดย ศธ.จะขอความร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงจะเชิญผู้เชี่ยวชาญในบริษัทต่างๆ มาช่วยสอนเพื่อพัฒนาทักษะเด็กอาชีวะให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพชั้นสูง
ผมได้มอบหมายให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปคัดเลือกหลักสูตรที่ต้องการพัฒนาปรับปรุง และคัดเลือกสถาบันอาชีวศึกษาที่มีความพร้อม ทั้งด้านสถานที่ อุปกรณ์การเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอน เพื่อเข้าร่วมนำร่อง ส่วนความเชื่อมโยงกับสถาบันอุดมศึกษานั้น เดิมมีการวางแผนให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่รับช่วงต่ออาชีวะเข้าเรียนในระดับปริญญาตรี แต่ที่ผ่านมาพบว่า หลักสูตรไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น เร็วๆ นี้จะเชิญกลุ่ม มทร.ทั้ง 9 แห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มาหารือทิศทางการปรับหลักสูตร ปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ให้การเรียนการสอนมีความเชื่อมโยง เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน” นพ.อุดมกล่าว
นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยได้มีการหารือร่วมกันในเบื้องต้นพบว่า ที่ผ่านมาผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จบแล้วต่อปริญญาตรี 4 ปี ไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปมอยู่คือ ผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่าอนุปริญญา ซึ่งโดยหลักเรียนต่ออีก 2 ปี ควรได้วุฒิปริญญาตรี แต่ที่ผ่านมาจะติดปัญหากรอบมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาของ สกอ. ดังนั้น ทาง สอศ.และ สกอ.จึงเห็นชอบที่จะปรับกรอบมาตรฐานหลักสูตรทั้งของ สกอ. และของ สอศ.ในวิชาพื้นฐาน เพื่อให้เด็กที่จบ ปวส.แล้วสามารถเรียนปริญญาตรีต่อเนื่องได้ทันที จะเริ่มนำร่องใน 6 สาขา ที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และความต้องการของประเทศมุ่งพัฒนาศักยภาพให้เป็นอาชีวะพันธุ์ใหม่ หรืออาชีวะ 4.9 คือ รถไฟฟ้าระบบราง ช่างอากาศยาน หลักสูตรโรโบติกส์ หลักสูตรแมคคาทรอนิกส์ หลักสูตรการท่องเที่ยว และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
“สอศ. มีนโยบายในการสปรับปรุงหลักสูตรทุกระดับทั้ง ปวช. ปวส. และระดับปริญญาตรี ของ สอศ.อยู่แล้ว โดยนอกจากต้องเป็นไปตามกรอบมาตรฐานหลักสูตรระดับอาชีวศึกษาของ สอศ. แล้วยังต้องเทียบกับกรอบมาตรฐานหลักสูตรในระดับสากลของประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี จีน ฯลฯ รวมถึงวิเคราะห์สมรรถนะวิชาชีพที่สถานประกอบการ เพื่อให้ตรงความต้องการของผู้ใช้ โดยเน้นให้ความสำคัญกับหลักสูตรที่ตรงตามความต้องการของประเทศ และหลักสูตรในกลุ่มอีอีซีเป็นหลัก
ด้านนายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ในฐานะเลขานุการที่ประชุมอธิการบดี มทร. กล่าวว่า เชื่อว่า มทร.ทุกแห่งพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพราะผู้เรียนในสายอาชีวะเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่จะเข้ามาเรียนใน มทร. แต่ที่ผ่านมาผู้เรียนในสายอาชีวะเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่ มทร.น้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะหลายมหาวิทยาลัย ไม่ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง ที่จะรับผู้เรียนในระดับ ปวส. เข้าเรียนระดับปริญญาตรี 2 ปี โดยเปลี่ยนมาเป็นหลักสูตรเทียบโอน เมื่อเทียบรายวิชาแล้วผู้ที่จบ ปวส.ต้องใช้เวลาเรียน 3 ปี ทำให้เด็กอาชีวะไม่อยากมาเรียน เพราะใช้เวลานาน
“ผมเชื่อว่า มทร.ทุกแห่งยินดีให้ความร่วมมือกับทางรัฐบาล แนวทางที่ผ่านมามีความชัดเจนอยู่แล้วว่า กลุ่ม มทร. มจพ. สจล. และ มจธ. ที่เปิดสอนปริญญาตรีสายปฏิบัติการ เกิดขึ้นเพื่อรองรับเด็กอาชีวะต่อปริญญาตรี พัฒนาศักยภาพสายอาชีพ แต่ต่อมามหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีมากขึ้น รับปริญญาตรีต่อเนื่องลดลง หรือบางแห่งยกเลิกไม่รับ ทำให้เด็กที่เรียนจบ ปวส. หรือทำงานแล้ว มาต่อปริญญาตรีได้ยากขึ้น หมดความสนใจที่จะกลับมาเรียน ดังนั้น หากปรับปรุงหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่อง และมีการสนับสนุนทรัพยากรการเรียนการสอนในส่วนที่ขาด เชื่อว่าจะมีผู้สนใจมาเรียนสายช่าง หรือสายวิชาชีพมากขึ้น” นายประเสริฐกล่าว
–จบ–