ในฐานะของประธานชมรมจักรยานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และในฐานะที่ปั่นจักรยานบนท้องถนน ประมาณ 4 ปี ที่ปั่นจักรยานมาเรียนมหาวิทยาลัยฯ และใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง เพราะว่าต้องการประหยัดเงิน ทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ที่สำคัญยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยครับ” น้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจ “อั๊ฟ” นายพันธนันท์ ดวงศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปะไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ภาพที่คุ้นตาของหลายๆ คน บนถนนเส้นรังสิต-นครนายก
อั๊ฟ เล่าว่า เข้ามารับหน้าที่ประธานชมรมจักรยานคลอง 6 ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เทอม 2 โดยปัจจุบันมีสมาชิกชมรมประมาณ 100 คน ซึ่งภายในชมรมจะจัดกิจกรรมในการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพภายในมหาวิทยาลัยฯ ทุกอาทิตย์ เพื่อเป็นการช่วยโลก กว่า 4 ปีที่ตนเองปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ ระยะทางจากบ้านที่ลำลูกกาคลอง 2 ถึงมหาวิทยาลัยฯ ประมาณ 20 กิโลเมตร ถ้านั่งรถโดยสารประจำทางใช้เวลา 2 – 3 ชั่วโมง แต่ตนเองใช้ระยะเวลาในการปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ออกจากบ้านเวลา 07.00 – 08.00 น. ซึ่งสามารถประหยัดเงินไปกลับบ้านได้ถึง 160 บาท
จักรยานผูกพันกับตนเองมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้ เห็นพ่อและแม่ปั่นจักรยาน โดยพ่อและแม่จะปั่นจักรยานเพื่อออกไปขึ้นรถหน้าปากซอย โดยพ่อทำงานเป็น รปภ. อยู่ที่บิ๊กซี นวนคร ส่วนแม่เป็นพนักงานขายรองเท้าอยู่ที่ห้าง ได้เห็นพ่อและแม่ปั่นทุกวัน เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้รักในการปั่นจักรยาน ปัจจุบันการปั่นจักรยานได้รับความนิยมเป็นอย่างมาในสังคมไทย รวมไปถึงมีการรณรงค์ให้คนไทยหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น หรืออาจจะมีกระแสมาจากดาราบางคนให้ความสนใจกับการปั่นจักรยาน ร่วมไปถึงชมรมต่างๆ “ดีใจที่คนไทยหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น”
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์นักปั่นจักรยาน 5 ทวีป ชาวชิลีที่ถูกรถกระบะชนจนเสียชีวิต กลุ่มนักปั่นจักรยานชาวเชียงใหม่ถูกรถของนักศึกษาพุ่งชนจนเสียชีวิต 3 ศพ และได้รับบาดเจ็บ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนเส้นรัชดา-รามอินทรา นักปั่นสาวถูกรถชนจนเสียชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงถนนของประเทศไทยที่ยังไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการใช้จักรยาน ตั้งแต่ตนเองปั่นจักรยานมา เคยประสบอุบัติ 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดจากความประมาทของตนเอง จักรยานล้มเพราะว่ามองไม่เห็นหลุม และครั้งที่สอง รถมอเตอร์ไซต์ชนข้างหลังขณะปั่นจักรยานในหมู่บ้าน แต่เหตุการณ์ทั้งสองครั้ง ตนเองไม่ได้รับบาดเจ็บ
มุมมองของคนปั่นจักรยาน ถ้าท้องถนนในประเทศไทยยังไม่เอื้อต่อการปั้นจักรยาน แต่ต้องใช้จักรยานในการเดินทางไปไหนมาไหน ดังนั้นต้องมี “สติ” ต้องระมัดระวังตนเองไม่ประมาทเมื่ออยู่บนท้องถนน พยายามเซฟความปลอดภัยตนเองให้มากที่สุด ใส่หมวก ติดไฟ ใส่ชุดที่ป้องกัน พยายามใส่เสื้อผ้าที่มองเห็นชัดเจน ฝากถึงน้ำใจบนท้องถนนของผู้ใช้พาหนะชนิดอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซต์ รถยนต์ ผู้ขับควรมีสติไม่ประมาท “เมาไม่ขับ” รักษากฎจราจรบนท้องถนน อุบัติเหตุอาจจะลดลง และที่สำคัญผู้รักในการปั่น บางคนชอบใส่หูฟังเพลง ควรจะหลีกเลี่ยงเปิดเสียงดัง จะทำให้ไม่ได้ยินเวลามีเสียงแตร ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ปัจจุบันตนเองมีจักรยานอยู่ 4 คัน เป็นจักรยานโบราณทั้ง 2 คัน โดยคันแรกวงล้อ 128 ซื้อมาจากร้านขายของเก่าในราคา 4,500 บาท และรุ่นพี่ที่สาขาวิชาให้มาเมื่อเทอมที่ผ่านมา เนื่องจากรุ่นพี่เห็นว่าตนเองชอบปั่นจักรยาน สำหรับจักรยานโบราณจะใช้งานเฉพาะเวลาที่ต้องขนของมาส่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งช่วงนี้ตนเองปั่นจักรยานมาเรียน เนื่องจากต้องส่งงานอาจารย์ทุกอาทิตย์ ส่วนอีก 1 คันเป็นจักรยานเสือภูเขารุ่น GT เป็นจักรยานที่ตนเองทำงานพิเศษผ่อน ซึ่งปัจจุบันผ่อนหมดแล้ว สำหรับจักรยานคันนี้มีน้ำหนักค่อนข้างเบา เหมาะที่จะปั่นที่ต้องการความคล่องตัวเดินทางไปไหนมาไหน หรือวันที่ไม่มีงานส่งอาจารย์ จะปั่นมามหาวิทยาลัย และคันที่ 4 วงล้อ 126 ซื้อมาจากร้านขายของเก่าในราคา 400 บาท เอามาซ่อมคันนี้ตนเองเคยปั่นมาเรียน แต่ตนเองได้ให้รุ่นน้องคนในชมรมไปใช้งาน
จักรยานมีให้เลือกหลายรุ่นในปัจจุบันมีหลายราคา ใครที่จะซื้อจักรยานอยากให้มองในเรื่องประโยชน์ใช้สอยดีกว่า ถ้าซื้อมาแพง แต่ซื้อมาจอดไว้ที่บ้าน หรือว่าต้องการซื้อมาออกกำลัง ควรซื้อให้เหมาะกับการออกกำลังกาย ประสบการณ์ในการเดินทางปั่นจักรยานของตนเอง “ผมปั่นไปสัมมนาองค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นการปั่นจักรยานที่ไกลที่สุดในชีวิต สำหรับผู้ที่สนใจอยากลองหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง นอกจากที่จะปั่นแล้ว ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ส่วนตัวจะปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา เนื่องจาก 1. ในเรื่องของสุขภาพ ถือเป็นการออกกำลังกาย 2. ประหยัดเงิน 3. ช่วยสิ่งแวดล้อมไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ
“หมวก เสื้อเชิ้ตนักศึกษาแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้นหนัง อาศัยตอนเช้าไม่มีแดดปั่นมาเรียนมหาวิทยาลัยฯ ระยะทาง 20 กม. เหนื่อยบ้าง หรือว่ามีอุปสรรคบนท้องถนนบ้าง แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาการเดินทางของผม เพื่อช่วยโลกของเรา ลดโลกร้อน ถึงผมจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ถ้าเราไม่ช่วยกันทำแล้วใครจะทำครับ” ประธานชมรมจักรยาน คลอง 6 มทร.ธัญบุรี กล่าวทิ้งท้าย