อาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ “เครื่องกำจัดฝุ่นแบบเปียกชนิดแรงดันน้ำสูง” เพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดฝุ่น ตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรม
ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยถึงการตั้งโรงงานใหม่ในเดือนกันยายน 2557 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า มีจำนวน 536 โรงงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.67 ประกอบกับโรงงานและสถานประกอบการแต่ละแห่ง จะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันมลภาวะทางอากาศ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อมลภาวะทางอากาศเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้ระบบบำบัดอากาศเสียเข้ามาบำบัด โดยอุปกรณ์ที่เป็นที่นิยมของโรงงานส่วนใหญ่ คือ เครื่องดักจับฝุ่นด้วยหยดน้ำ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการดักจับอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กต่ำ และไม่จำเพาะเจาะจงที่ฝุ่นประเภทโลหะ จากเหตุผลดังกล่าว อาจารย์เรวัต ซ่อมสุข หัวหน้าสาขาครุศาสตร์อุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงได้พัฒนาเครื่องกำจัดฝุ่นแบบเปียกชนิดแรงดันน้ำสูง
อาจารย์เรวัต ซ่อมสุข เผยว่า เครื่องกำจัดฝุ่นแบบเปียกชนิดแรงดันน้ำสูงนี้ ถูกออกแบบให้มีความสามารถในการดักจับฝุ่นละลองที่มีขนาดเล็กที่ปนมาในอากาศได้ โดยใช้น้ำเป็นตัวดักจับผงฝุ่นแล้วผ่านไปยังถังหมุนเวียนน้ำ ซึ่งมีหลักการทำงาน คือ ใช้หลักความสมดุลระหว่างแรงดันน้ำกับอากาศ โดยใช้โบเวอร์ (Blower) เป็นตัวดูดอากาศเสียเข้าไปในระบบ และใช้หัวฉีดสเปรย์เพียง 1 หัว ทำการพ่นน้ำที่แรงดันสูง จนน้ำที่ออกจากหัวฉีดกลายเป็นละลองฝอย เมื่ออากาศปะปนด้วยอนุภาคละอองฝุ่นที่เข้ามาจากท่อลำเลียงอากาศ เข้าสู่หอบำบัด ละอองน้ำที่ถูกพ่นจากหัวฉีด จะเกิดการสัมผัสกันและจับตัวกลายเป็นหยดน้ำ ตกตะกอนลงไปในถังด้านล่าง จากการพิจาณาสัดส่วนของน้ำกับอากาศที่เหมาะสม ด้วยระบบการควบคุมทั้งแรงดันน้ำและปริมาณของอากาศของเครื่องที่ถูกพัฒนาขึ้นมา ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นได้มากยิ่งขึ้น
“เครื่องกำจัดฝุ่นแบบเปียกชนิดแรงดันน้ำสูงนี้ มีวัสดุและอุปกรณ์สำคัญหลักๆ คือ ถังบำบัด ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบหอแนวตั้ง อุปกรณ์ควบคุมการจ่ายปริมาณน้ำ ลักษณะที่ให้แรงดันที่สูง ระบบดูดอากาศควบคุมด้วยอินเวอร์เตอร์ ถังไหลเวียนและแผ่นดักไอน้ำ ซึ่งต้นทุนในการผลิตเครื่องต้นแบบนี้มีราคาอยู่ประมาณ 60,000 บาท และผลที่ได้จากการทดสอบ พบว่า เครื่องกำจัดฝุ่นแบบเปียกชนิดแรงดันน้ำสูง มีประสิทธิภาพในการดักจับผงฝุ่นขนาดเล็ก จากการทดสอบ อนุภาคฝุ่นที่ 3 ไมครอนและที่สูงกว่า 10 ไมครอน มีประสิทธิภาพดักจับฝุ่นได้มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เมื่อแรงดันน้ำที่สูงขึ้น มีผลให้ประสิทธิภาพการบำบัดสูงขึ้น อนุภาคฝุ่นมีโอกาสสัมผัสกับอนุภาคของหยดน้ำมากขึ้น ผงฝุ่นที่นำมาใช้ทดสอบจึงถูกดักจับได้ทั้งหมด และยังสามารถลดปริมาณการใช้น้ำลงได้” อาจารย์เรวัต กล่าว
ทั้งนี้ เครื่องกำจัดฝุ่นแบบเปียกชนิดแรงดันน้ำสูง ได้ผลตอบรับจากโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง เนื่องจากเป็นประโยชน์และตอบโจทย์การบำบัดมลภาวะทางอากาศ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร ผู้สนใจสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติม โทร.02 549 4710
นายอลงกรณ์ รัตตะเวทิน
นักประชาสัมพันธ์ กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
โทร. 02 549 4990 / 086 106 4454