ปัจจุบัน “พลังงานสะอาด” หรือ “พลังงานทดแทน” เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และความร้อนใต้พิภพ หรือพลังงานขยะ ที่ถือเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ถูกพัฒนาและยกระดับความสำคัญ เพื่อสร้างเป็นแหล่งพลังงานหลักทดแทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล
“พลังงานสะอาด” จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ซึ่งการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานธรรมชาติ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ จึงจำเป็นต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพลังงานทดแทนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเต็มประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาความเหมาะสมทั้งทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง
โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัต- กรรมด้านพลังงานสะอาด” พร้อมเปิด ตัวโครงการนำร่อง “ศูนย์นวัตกรรมพลัง- งานสะอาด” แบบครบวงจรสำหรับผู้สนใจ ลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดระดับชุมชน โดยมุ่งหวังผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางต้นแบบธุรกิจพลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียน
“พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” คณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า สนช. กำหนดให้อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเป็นโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ และได้ดำเนินงานพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนของประเทศ โดยได้ให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดไปแล้ว 83 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน 78.09 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 2,481.95 ล้านบาท และได้เปิดโครงการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดใหม่ 3 รูปแบบ ได้แก่ โรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชั่นชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ใช้งบลงทุนแห่งละ 70-80 ล้านบาท
“การลงทุนร่วมกับ สนช.และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ผลิตและจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยโรงไฟฟ้ามีขนาด 1 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยพลังงานชีวมวล 500 กิโลวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 300 กิโลวัตต์ และพลังงานลม 200 กิโลวัตต์ธัญบุรี ใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาท มั่นใจว่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางต้นแบบธุรกิจพลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียน”
“ศุภชัย หล่อโลหการ” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า จากประสบการณ์การบริหาร “โครงการนำร่องเพื่อผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลในระดับชุมชน” ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานเป็นวงเงิน 46.2 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการสร้างต้นแบบการใช้พลังงานชีวมวลด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น แบ่งเป็นระบบผลิตความร้อนทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) จำนวน 8 ระบบ และโรงไฟฟ้าแก๊สซิฟิเคชั่นมวล ระดับชุมชน จำนวน 4 ระบบ ทำให้ สนช.มีความมั่นใจว่าความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาและส่งเสริมการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดแก่ผู้ประกอบการ ผ่านโครงการนำร่อง “ศูนย์นวัตกรรมพลังงานสะอาด” ที่พร้อมให้บริการข้อมูลแก่ผู้สนใจลงทุนให้สามารถตัดสินใจในแต่ละรูปแบบได้ และพร้อมที่จะดำเนินการลงทุนได้ทันที ทั้งแบบวิศวกรรม และข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ในการลงทุน เพื่อให้ได้รูปแบบที่สามารถตัดสินใจในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการให้บริการการเป็นที่ปรึกษาทั้งในด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ การบริหารโรงไฟฟ้าฯ การดำเนินการผลิตไฟฟ้า และการให้บริการซ่อมบำรุง ซึ่งจะเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ กฟภ. และ กฟน. ตามระเบียบและข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“รศ.ดร.ประเสริฐ ปุ่นปฐมรัฐ อธิการ บดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า มทร.ธัญบุรีเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการและใช้ประโยชน์จาก “พลังงานสะอาด” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นไปสู่ความเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสีเขียว (Green tech. university)” ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จึงถือเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดย มทร.ธัญบุรี จะดำเนินการเกี่ยวกับความพร้อมด้านผลงานวิจัยพลังงานในการสร้างต้นแบบและการขยายผลเชิงพาณิชย์ โดยจะเป็นผู้สนับสนุนด้านผลงานวิจัย บุคลากร นักวิจัยวิศวกร เครื่องมือทางวิศวกรรม อาคาร สถานที่ และพื้นที่ในการดำเนินการ เพื่อสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด ทั้งในระดับในประเทศและนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังรวมถึงการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการนวัตกรรมของไทย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือของทั้งสอง หน่วยงาน และร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมความตระหนักด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดแก่ผู้สนใจ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและติดตามความก้าวหน้าของโครงการ ตลอดจนประเมินผลการดำเนินงานความร่วมมือดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหา และอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อนำมาปรับปรุง และพัฒนาให้การดำเนินการสามารถบรรลุเป้าหมายได้ต่อไป
ด้าน “ผศ.ดร.วิรชัย โรยนรินทร์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน คณะวิศว กรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยมีพลังงานทดแทนที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ตลอดฤดูกาล อย่างเช่น แสงอาทิตย์ ลม และเศษวัสดุสินค้าเกษตรเพื่อผลิตพลังงานชีวมวล ซึ่งศูนย์นวัตกรรมพลังงานสะอาดแห่งนี้เป็นโครงการนำร่องเพื่อการเรียนรู้ โดยแต่ละชุมชนสามารถนำต้นแบบแห่งนี้ไปสร้างโรงไฟฟ้าได้ทุกพื้นที่ โดย เลือกใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ วงเงินเพียง 1 ล้านบาท ระยะคืนทุนภายใน 7 ปีเท่านั้น