นอกเหนือจาก น้ำยาง สีขาวขุ่นของต้นยางพาราจะสามารถนำไปผลิตแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบแล้ว ล่าสุดในการศึกษาวิจัยนำน้ำยางพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้มีการจัดทำทั้งแม่พิมพ์ สารเหลวเขียนลวดลายผ้าบาติกทดแทนการใช้เทียนและพาราฟิน เพื่อลดปริมาณการนำเข้า อีกทั้งผสานการย้อมสีธรรมชาติจากพืชให้สีในท้องถิ่น สร้างเอกลักษณ์บนผืนผ้า ยกระดับคุณภาพสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สืบเนื่องจากโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาสและสตูล) สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สานต่อโครงการฯ โดยระยะที่สองในปีนี้พัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในด้านการออกแบบพัฒนาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์รวมถึงบรรจุภัณฑ์ การขยายช่องทางโอกาสทางการตลาด
ด้วยแนวคิดนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นผสมผสานและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วัสดุการเกษตรที่มีอยู่ สร้างอัตลักษณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ซึ่งทั้งยางพาราและพืชให้สีที่มีอยู่มากในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ โครงการได้ศึกษาวิจัยสามารถนำน้ำ
ยางพาราใช้เขียนผ้าบาติกแทนการใช้เทียนได้ พร้อมทั้งนำน้ำยางพาราประยุกต์จัดทำแม่พิมพ์และใช้พืชที่ให้สีในท้องถิ่นร่วมสร้างลวดลาย เติมสีสันให้กับผืนผ้าบาติก
สุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โครงการวิจัยการประยุกต์ใช้น้ำยางพาราและพืชให้สี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยส่วนหนึ่งของกิจกรรมโครงการฯ คือการถ่ายทอดองค์ความรู้นับแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น 5 จังหวัดโดยเฉพาะน้ำยางพารา ซึ่งมีผลผลิตค่อนข้างมากต่อปีและถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้มาต่อยอดให้สอด คล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติก สร้างเอกลักษณ์เป็นแนวทางการพัฒนาความรู้ ทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
“จากโครงการซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมาซึ่งนับแต่ปีแรกกระทรวงอุตสาห กรรม ตลอดจนรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำรงชีวิต เศรษฐกิจของจังหวัดชายแดน การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น พัฒนา
ศักยภาพโดยเพิ่มรูปแบบมูลค่าสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในปีที่ 2 ระยะที่ 2 ของกิจกรรมภายใต้โครงการซึ่งประกอบด้วย 4 กิจกรรม อย่างเช่นครั้งนี้เกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ผลิตสิ่งทอเครื่องนุ่งห่มให้มีความแตกต่างจากเดิม
ดังที่ทราบเทคนิคการทำผ้าบาติกอาจมีต่างกันอยู่บ้าง อย่างการพิมพ์จะมีทั้งบล็อกโลหะซึ่งให้ความคมชัด บล็อกพิมพ์ที่เป็นไม้ ขณะที่การใช้เทียน พาราฟิน ซึ่งเป็นวิธีการเขียนแบบเดิม เป็นต้น จึงมีการคิดค้นหาแนวทาง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เช่นเดียวกับงานวิจัยครั้งนี้ที่ นำส่วนผสมของน้ำยางพาราเขียนลายบาติกแทนเทียน”
นวัตกรรมจากยางพารา ลวดลายผ้าบาติกกับน้ำยางพาราที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกับมหา วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยร่วมกันสร้างนวัตกรรมงานวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อวิจัยเรื่อง การประยุกต์ใช้น้ำยางพาราและพืชให้สีเพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นการศึกษาเป็น 2 ระยะ ได้แก่ การศึกษาอัตราส่วนผสมของน้ำยางพาราที่เหมาะสม ในการกั้นสีบนลวดลายผ้าบาติกในจังหวัด 5 ชายแดนภาคใต้ การพัฒนาแม่พิมพ์ลวดลายผ้าบาติกจากยางพารา และการศึกษาพันธุ์พืชให้สีและการสกัดสีย้อมผ้าบาติก
อาจารย์ศุภนิชา ศรีวรเดชไพศาล สาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผู้ร่วมวิจัยให้ความรู้เล่าถึงการวิจัย การประยุกต์ใช้น้ำยางพาราและพืชให้สีว่า ผ้า บาติกเป็นผืนผ้าที่มีเอกลักษณ์จุดเด่นของภาคใต้ ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของภาคใต้เช่นกัน จากโจทย์ซึ่ง มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรสำหรับการเพิ่มมูลค่าของสองสิ่งนี้ โดยแนวทางการศึกษางานวิจัยได้ศึกษาถึงอัตราส่วนการผสมที่เหมาะสมสำหรับการเขียนผ้าบาติก มีวัตถุ ประสงค์เพื่อใช้ทดแทนเทียนหรือพาราฟินที่นำเข้ามา
อีกทั้งพัฒนาแม่พิมพ์ ศึกษาพันธุ์พืชให้สีที่นำมาสกัดน้ำสีซึ่งพืชที่นำมาสกัดเป็นพืชที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น อย่างเช่น ใบยางพารา เปลือกยางพารา ใบลองกอง เปลือกโกงกาง เปลือกสะเดา ดอกดาหลา ส้มแขก ฯลฯ มาศึกษาทดลอง นอกจากนี้ทำการเปรียบเทียบประสิทธิ ภาพการกั้นสีของน้ำยางพาราในผ้า 3 ชนิดได้แก่ ผ้าฝ้าย ผ้าเรยอนและผ้าไหม ผลการศึกษาที่ได้พบว่าการกั้นสีของน้ำยางพารากับผ้าไหมให้ผลดีที่สุด นอกจากนี้ผ้าไหมยังมีลักษณะโดดเด่นในเรื่องความเงามันร่วมด้วย แต่อย่างไรแล้วการ วิจัยยังดำเนินต่อโดยจะปรับปรุงสูตรน้ำยางให้สมบูรณ์ สอดคล้อง เหมาะสมกับการนำมาใช้ ยิ่งขึ้น
“การนำน้ำยางพาราวาดลายบนผืนผ้า บาติกเป็นนวัตกรรมใหม่ น้ำยาง โดยลักษณะหากจะนำมาใช้ร่วมกับผ้าอาจไม่เข้ากัน ด้วยความที่ยางมีความเหนียว ในครั้งแรกของงานวิจัยก็มีอุปสรรค
อยู่มากแต่ทีมวิจัยพยายามที่จะทดลอง หาส่วนผสมต่าง ๆ เพื่อให้ได้สูตรในอัตราที่มีความเหมาะสม สะดวกในการนำมาใช้ซึ่งจะช่วยทั้งผู้ประกอบการ เพิ่มมูลค่าให้กับน้ำยางพารา รวมทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ
นวัตกรรมจากยางพาราครั้งนี้ น้ำยางที่นำมาเขียนผ้าบาติกในงานวิจัยมีส่วนผสมไม่มากและไม่ต้องใช้ความร้อน แต่อย่างไรแล้วคงต้องวิจัยต่อเนื่องเพื่อพัฒนาต่อยอดทั้งในอัตรา ส่วนผสม โดยอาจจะมีวัสดุอื่นเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างให้เนื้อน้ำยางมีคุณภาพมากขึ้น”
สำหรับส่วนผสมที่นำมาใช้เบื้องต้นไม่ว่าจะเป็น กาวลาเท็กซ์หรือแบะแซ เมื่อผสมเข้าด้วยกันจะทำให้เป็นเส้นที่เกาะตัวมีความเหนียวหนืด โดยถ้าเหลวเกินไปเส้นก็จะกระจาย ไม่สวยคม การใช้น้ำยางเขียนผ้า บาติกในรูปแบบนี้เป็นเทคนิคเย็นต่างจากการใช้เทียนเขียนที่เป็นเทคนิคร้อน
การถ่ายทอดให้กับเด็กเยาวชนได้เรียนรู้ สืบสานการทำผ้าบาติกก็จะสะดวกขึ้น โดยไม่ต้องห่วงกังวลกับเรื่องของความร้อน อีกทั้งเมื่อวาดลายเส้นเสร็จแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้รอแห้ง จากนั้นทำตามขั้นตอนของการทำบาติกทั่วไป เมื่อเสร็จทุกขั้นตอนนำไปแช่น้ำและล้างออกได้ด้วยน้ำสะอาดก็เป็นการเสร็จสิ้น
น้ำยางพาราที่นำมาเขียนวาดลายบนผืนผ้าจากที่ศึกษาวิจัย ทำหน้าที่ดั่งเทียน กั้นสีไม่ให้แทรกซึมไปผสมผสานกัน ลักษณะของเส้นน้ำยางก็เป็นเช่นเดียวกันทำหน้าที่เหมือนกับน้ำเทียน สามารถใช้ทดแทนการใช้เทียนได้ซึ่งขณะนี้ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการได้ทดลองใช้จริง
ส่วนขั้นต่อไปของการวิจัยยังคงติดตามศึกษาประสิทธิภาพการติดสีและความคงทนของสีในผ้าบาติกย้อมสีธรรม ชาติ เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอให้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ เพิ่มศักยภาพให้แก่อุตสาหกรรมการผลิตผ้าบาติก.