“เพื่อรองรับความต้องการด้านอาหารในอนาคตเนื่องจากสาเหตุประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ปฏิวัติกระบวนการเกษตรกรรมแนวราบมาเป็นเกษตรแนวตั้ง เนื่องจากพื้นที่การเกษตรกรรมในปัจจุบันถูกใช้ไปแล้ว 80 % และการทำเกษตรแนวตั้งตัดปัญหาในเรื่องของพื้นที่ที่ไม่เพียงพอของคนเมืองกรุง” แนวคิดของ “โชค” นายอภิเกียรติ เจริญสุทธิโยธิน นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เจ้าของไอเดีย “INNOVATION VERTICAL FARMING FOR FUTURE IN BANGKOK” โครงการศึกษาและออกแบบนวัตกรรมเกษตรกรรมแนวตั้งเพื่ออนาคต กรุงเทพฯ โดยมีอาจารย์นิกร อินทร์พยุง คอยให้คำแนะนำ
โชค เจ้าของไอเดีย เล่าว่า การคิดและออกแบบเกษตรกรรมแนวตั้ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งหลายๆ ประเทศทั้งทวีปเอเชียและยุโรปได้มีการศึกษาและพัฒนาความคิดนี้ไปนานแล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่ให้ความสนใจในเรื่องของการทำเกษตรกรรมแนวตั้งในรูปแบบของเชิงรูปธรรม อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ยังมองไม่เห็น โดยมีการศึกษาอาคารตัวอย่างจากอาคารต่างประเทศ 3 อาคาร ได้แก่ 1. DRAGONFLY 2.ASIAN CAIRNS และ 3.VERTICAL FARM IN SAN DIEGO อาคารตัวอย่างทั้ง 3 อาคารได้มีการศึกษาและวิเคราะห์ถึงข้อดีของแต่ละอาคารและปรับนำไปใช้ในการออกแบบทั้งในเรื่องของการจัดวาง ZONING ของ PROGRAM ต่างๆ การใช้พื้นที่รวมไปถึง FUNCTION จำเป็นที่ต้องมี สามารถนำมาปรับใช้ในการออกแบบในครั้งนี้
สำหรับการออกแบบโครงการนวัตกรรมแนวตั้งเพื่ออนาคต กรุงเทพฯ เลือกศึกษาโครงการอยู่บริเวณสี่แยกเสนา เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เอกชนของโครงการเสนานิเวศน์ มีขนาดพื้นที่ 34,710 ตารางเมตร (21 ไร่ 2 งาน 77.50 ตารางวา) เป็นพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม พ.3-4 มีค่า FAR. 7 ต่อ 1 = 242,970 ตร.ม. (สูงสุด) OSR. ร้อยละ 4.5 = 10,933.65 ตร.ม. (สูงสุด)
สำหรับโครงการนวัตกรรมเกษตรกรรมแนวตั้งเพื่ออนาคต กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ใช้โครงการ 16,813 คน/วัน มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งโครงการ 183,474 ตารางเมตร โดยแบ่งเป็น 1.ส่วนบริหาร 1,150 ตารางเมตร 2.ส่วนพื้นที่การทำเกษตรกรรมแนวตั้ง 103,970 ตารางเมตร 3.ส่วนประกอบการค้า 16,250 ตารางเมตร 4.ส่วนห้องจัดสัมมนา 901 ตารางเมตร 5.ส่วนห้องทดลอง 1,406 ตารางเมตร
6.ส่วนสนับสนุนโครงการ 17,780 ตารางเมตร 7.ส่วนบริการโครงการ 1,386 ตารางเมตร 8.ส่วนเทคนิค 674 ตางรางเมตร และ 9.ส่วนที่จอดรถ 39,957 ตารางเมตร มีงบประมาณการลงทุนรวมทั้งหมด 5,603,643 บาท ระบบโครงสร้างของโครงการเป็นระบบคอนกรีตเสริมเหล็กและโครงสร้างหลักของอาคาร
ซึ่งโครงสร้างเกิดจากการแก้ไขปัญหา (PROBLEM SOLVING) ที่คิดล่วงหน้าในอนาคต โดยทำสถาปัตยกรรมที่ดูเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการทำเกษตรอย่างสิ้นเชิง ให้กลายเป็นสิ่งที่เดียวกันและอยู่ด้วยกันอย่างลงตัว ผ่านแนวคิดในการออกแบบซึ่งเกิดจากการศึกษาและวิเคราะห์องค์ประกอบสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการและมีผลกระทบต่อการออกแบบในทุกๆ เรื่อง ด้วยการเปรียบเทียบ (ANALOGY) การอุปมา (METAPHOS) สาระสำคัญ (ESSENCE) ของในแต่ละส่วน และสังเคราะห์ให้กลายเป็นแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองต่อปัญหาของโครงการนี้ได้ตั้งแต่แรกเริ่มและยังสะท้อนย้อนกลับไปยังวัตถุประสงค์ของการศึกษาและวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเกิดผลสำเร็จด้วยการแสดงผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรมของโครงการ
โครงการของตนเอง เป็นโครงการที่ต้องการศึกษาและออกแบบต้นแบบของสถาปัตยกรรม (ARCHITECTURAL PROTOTYPE PROJECT) โดยอนาคตจะเป็นการต่อยอดในการพัฒนาการทำเกษตรกรรมในประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดในอนาคต “ผลิตตรงไหน บริโภคตรงนั้น” โชคกล่าวทิ้งท้าย
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 084-4679527