“ถ้าเทียบชุดประจำชาติในอาเซียนกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกล้วนมีความแตกต่างด้านวัฒนธรรม แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช้ใส่ในชีวิตประจำวัน เช่น ชุดกิโมโนของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะใส่เมื่อถึงวัยสาวในการใส่ไปถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึก ไม่ต่างจากชุดไทยพระราชนิยมจะใส่เมื่อมีงานสำคัญที่เป็นพิธีเสียส่วนใหญ่”
ถ้าเล่าถึงการรวมกลุ่มอาเซียน คงมีคนเล่ากันมามากแล้ว แต่สำหรับเรื่องชุดประจำชาติไม่ใช่แค่ความงามที่หลากหลาย แต่ยังรวมถึงภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรมประจำชาติอีกด้วย
ชุดประจำชาตินอกจากได้รับการหล่อหลอมมายาวนานแล้ว สำหรับ ผศ.มาลา ฤทธิ์นิ่ม หัวหน้าสาขาวิชาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มองว่า ชุดประจำชาติ 10 ประเทศที่มีความหลากหลายอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้จากพื้นเพทางศาสนา เช่น อิสลามชุดจะใกล้เคียงกัน อย่าง อินโดนิเซีย มาเลเซีย บรูไน ส่วนประเทศที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน เช่น ไทย กัมพูชา ลาว ก็มีความคล้ายคลึงกัน แต่มีบางประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมชาติตะวันตกมานาน ทำให้ชุดประจำชาติเป็นแบบตะวันตก
บางประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ อาจมีชุดประจำชาติที่หลากหลายอย่างอินโดนีเซียมีพื้นที่เป็นเกาะ ต่าง ๆ ทำให้มีหลายเชื้อชาติ การแต่งกายจึงมีมากและดูยากกว่าประเทศอื่น ด้านประเทศที่มีชุดแต่งกายใกล้เคียงกันอย่างไทยกับลาว ชุดผู้ชายมีความใกล้เคียงกันเพียงแต่เสื้อคลุมด้านนอกของลาวจะติดกระดุมทั้งหมด 7 เม็ด ส่วนไทยต้องติดกระดุมทั้งหมด 5 เม็ด
“ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยควรรู้จักชุดประจำชาติของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะอีกไม่กี่ปีก็จะรวมกลุ่มอาเซียน ถ้ามองตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่มองออกว่าแต่ละแบบเป็นชุดประจำชาติของประเทศใด แต่ยังไม่รู้ลึกพอ ทำให้ไม่ทราบถึงปัจจัยทางความคิดและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ขณะเดียวกันภาพบนโปสเตอร์ที่ใช้ในการศึกษาของนักเรียน บางชนิดยังมีการลงภาพชุดประจำชาติประเทศเพื่อนบ้านที่ผิดอยู่ อาจทำให้เยาวชนเข้าใจผิดได้”
ถ้ามองแจกแจงชุดประจำชาติแต่ละประเทศอย่างมาเลเซีย ผู้ชายจะใส่ชุดเรียกว่า ‘บาจู มลายู” เป็นเสื้อและกางเกงขายาว มีหมวกผ้าสวม ด้านผู้หญิงใส่ชุด ‘บาจูกุรุง” ที่เป็นเสื้อแขนยาว กระโปรงยาว ซึ่งชุดประจำชาติมาเลเซียคล้ายกับชุดของบรูไน ทำให้แยกออกจากกันได้ยาก
เช่นเดียวกับ การแต่งกายชุดประจำชาติของผู้หญิงอินโดนีเซียคล้ายกับมาเลเซีย แต่ผ้าที่นุ่งมาเลเซียจะเป็นผ้าซิ่นเรียบกว่า ไม่ต่างจากบรูไนที่คล้าย ๆ กัน แต่มีสีที่ฉูดฉาดกว่า ส่วนผู้ชายอินโดนีเซียจะนุ่งโสร่ง มีผ้าโพกศีรษะ ใส่เสื้อเชิ้ตไว้ด้านในและมีเสื้อคลุมด้านนอก
ส่วน ชุดประจำชาติเมียนมาร์เรียกว่า “ลองยี” โดยผู้หญิงแต่งกายปกปิดแบบเปิดเผย ใส่เสื้อแขนยาวเข้ารูป แต่เนื้อผ้าที่บางทำให้เห็นเสื้อชั้นใน เมียนมาร์จะนุ่งซิ่นไม่มีเข็มขัด ซึ่งจะใช้ความสามารถในการมัดที่มีความชำนาญ และอาจมีอุปกรณ์เพิ่มเติมให้เข้าชุด เช่น ร่ม ส่วนผู้ชายมีผ้าโพกหัวซึ่งแต่ก่อนจะทำเอง แต่ปัจจุบันมีขายแบบสำเร็จรูป
ด้าน ชุดประจำชาติของไทยมีมากที่สุดในช่วงรัชกาลที่ 9 เดิมมีชุดพระราชนิยมในช่วงรัชกาลที่ 8 ถึง รัชกาลที่ 9 คือ ชุดไทยพระราชทาน เป็นแบบสากลคอตั้งแขนยาว มีผ้าคาดเอว คนไทยนิยมใส่กันในพิธีแต่งงาน
สิงคโปร์เป็นอีกประเทศที่มีชุดประจำชาติหลากหลาย ทั้งแบบจีนและอินเดีย ด้วยมีประชากรของสองเชื้อชาติผสมผสานกัน ด้านฟิลิปปินส์ เป็นชุดที่มีความคล้ายคลึงแบบยุโรป ผู้หญิงเป็นชุดราตรีกระโปรงยาว แขนเสื้อตั้งยาวถึงข้อศอก กระโปรงทั่วไปจะยาวเข้ารูป เป็นชุดที่เสื้อและกระโปรงติดกัน ด้านผู้ชายเป็นเสื้อที่ทำจากใบสับปะรด เนื้อผ้าบางแต่มีความกระด้าง เสื้อเป็นแขนยาวหรือคอตั้งและมีแบบเหมือนเชิ้ตธรรมดา
การรู้จักเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายประจำชาติของประเทศต่าง ๆ ก็อาจช่วยให้คนที่มีแนวความคิดในการประยุกต์ใช้เครื่องแต่งกายในการออกแบบได้ อย่างผ้า บาติกของอินโดนีเซียที่มีลวดลายที่สวยงามสามารถนำมาตัดเย็บกับชุดสมัยใหม่ได้ เนื่องจากผ้าบาติกของไทยค่อนข้างได้รับความนิยมน้อย เพราะปัญหาของน้ำเสียในการย้อมผ้า แต่อินโดนีเซียยังไม่มีการจำกัดเรื่องเหล่านี้ทำให้สามารถย้อมผ้าได้มากกว่า
หรือผ้าไทยบางชนิดหากเรามีความรู้ผ่านการใช้ผ้าในชุดประจำชาติ จะทำให้สามารถมาปรับใช้ในการตัดชุดต่าง ๆ ซึ่งความคิดในแบบเดิมคนรุ่นใหม่จะมองว่า ผ้าไทยดูแลยากและเวลาใส่จะร้อน แต่ในปัจจุบันผ้าไทยมีการปรับเปลี่ยนให้ดูแลง่ายและไม่ร้อน สิ่งเหล่านี้เลยเป็นโจทย์สำคัญที่นักออกแบบรุ่นใหม่ต้องปรับเปลี่ยน
ถ้าเทียบชุดประจำชาติในอาเซียนกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกล้วนมีความแตกต่างด้านวัฒนธรรม แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใช้ใส่ในชีวิตประจำวัน เช่น ชุดกิโมโนของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะใส่เมื่อถึงวัยสาวในการใส่ไปถ่ายรูปเพื่อเป็นที่ระลึก ไม่ต่างจากชุดไทยพระราชนิยมจะใส่เมื่อมีงานสำคัญที่เป็นพิธีเสียส่วนใหญ่
ในอาเซียนมีประเทศเดียวที่ใส่ชุดประจำชาติในชีวิตประจำวันคือ เมียนมาร์ ที่รัฐมีการกำหนดให้ใส่ ส่วนในไทยจะมีการรณรงค์ให้เด็กนักเรียนใส่ในวันต่าง ๆ แต่ถ้ามองในการประยุกต์ใช้ด้วยการนำผ้าที่ไม่ร้อนหรือดูแลง่ายมาใช้กันอย่างแพร่หลายก็อาจทำให้ชุดประจำชาติได้รับความนิยมขึ้น
ชุดประจำชาติไทยเกิดขึ้นตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 3 โดยจะนุ่งโจงกระเบนห่มสไบ ซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างมากในช่วงรัชกาลที่ 2 ที่ท่านนิยมละครทำให้มีการพัฒนาในด้านการแต่งกาย ครั้นถึงสมัย รัชกาลที่ 5 เป็นจุดพลิกผันสำคัญในการแต่งกายของคนไทยเมื่อมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ ทำให้มีการผสมผสานการแต่งกายแบบสากลมากขึ้น และมีการนำเข้าผ้าลูกไม้ในการตัดชุด ตลอดจนเปลี่ยนจากสไบเป็นสายสะพายในรูปแบบต่าง ๆ เข้ามาแทน
ครั้นสมัยรัชกาลที่ 7 มีการประยุกต์โดยผู้หญิงนุ่งซิ่นยาว มีความทันสมัยในยุคใหม่ พอสมัยรัชกาลที่ 8 ปรับให้มีความเป็นสากลด้วยการแต่งผมให้เข้าชุด เมื่อถึงสมัย รัชกาลที่ 9 มีการจัดหมวดหมู่ตามแบบชุดไทยพระราชนิยม 8 ชุด ซึ่งแตกต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ คือ 1. ชุดไทยเรือนต้น 2. ชุดไทยจิตรลดา 3. ชุดไทยอมรินทร์ 4. ชุดไทยบรมพิมาน 5. ชุดไทยจักรี 6. ชุดไทยจักรพรรดิ 7. ชุดไทยดุสิต 8. ชุดไทยศิวาลัย
ชุดไทยพระราชทานเกิดขึ้นสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ โดยกางเกงจะเป็นสแลก และมีเสื้อพระราชทานซึ่งเป็นแขนยาว ผ่าด้านหน้า มีกระเป๋าบนซ้าย ตลอดจนมีกระเป๋าด้านล่างสองข้างไม่มีฝาปิด ส่วนใหญ่เสื้อจะใช้ผ้าไทยทำ เช่น ผ้ามัดหมี่
หากมองให้ดีชุดที่ใช้ในการแต่งกายประจำชาติ มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะชาติในอาเซียน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่รัฐจะสนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้มีความรู้เกี่ยวกับการแต่งกายของประเทศเพื่อนบ้านและเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นไปด้วยในตัว
การรวมอาเซียนนอกจากความเข้าใจทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคมแล้ว การปลูกฝังเยาวชนให้ออกไปเรียนรู้ในประเทศเพื่อนบ้านก็ถือเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน