ขี้แดดนาเกลือ หรือ ชาวบ้านเรียกกันว่า หนังหมา คือ สาหร่ายตะไคร่น้ำที่จับตัวกันเป็นแผ่นในนาเกลือ และตกตะกอนแห้งสนิทในนาเกลือ โดยในขี้แดดนาเกลือมีคุณสมบัติทางเคมี มีธาตุอาหารฟอสฟอรัสและโปรแทสเซียม สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ จากคุณสมบัติดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิตยา ศรขวัญ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี นำมาคิดค้นสูตรและผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ โดยใช้เชื้อราปฏิปักษ์อัดเม็ด Trichoderma เป็นตัวเร่ง
ปุ๋ยชีวภาพขี้แดดนาเกลือที่ย่อยสลายด้วยหัวเชื้อราปฏิปักษ์อัดเม็ด Trichoderma จะเกิดสารอินทรีย์ที่มีลักษณะคล้ายฮิวมัส โดยใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายวัสดุด้วยการหมักเพียง 20-30 วัน ส่งผลให้ค่าปริมาณคาร์บอนต่อไนโตรเจน (C/N) มีค่าเท่ากับ 10.14 เนื่องจากปริมาณอินทรียวัตถุ และอัตราส่วนของคาร์บอนต่อไนโตรเจนเป็นดัชนีชี้วัดในการแสดงถึงการย่อยสลายที่สมบูรณ์ของวัตถุอินทรีย์ เกิดการย่อยสลายยังที่สมบูรณ์ ใช้ปริมาณตัวเร่งที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การย่อยสลายเกิดได้ดีขึ้น ดังนั้นในงานวิจัยได้เลือกใช้ตัวเร่งในการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากขี้แดดนาเกลือโดยใช้เชื้อราปฏิปักษ์ Trichoderma 1 % ต่อน้ำหนักของวัสดุหมัก
ส่วนผสมในการผลิตปุ๋ยขี้แดดนาเกลือประกอบด้วย ขี้แดดนาเกลือ หัวเชื้อราปฏิปักษ์ มูลสัตว์แห้ง แกลบดิบ และรำละเอียด ขั้นตอนเริ่มจากนำขี้แดดนาเกลือมาบด จากนั้นนำมูลสัตว์ แกลบดิบ รำละเอียดคลุกเคล้าให้เข้ากัน ผสมหัวเชื้อราปฏิปักษ์อัดเม็ด Trichoderma กับกากน้ำตาล และน้ำสะอาด
พักไว้ 2-3 ชั่วโมง เพื่อขยายเชื้อ (เรียกว่า น้ำหัวเชื้อ) จากนั้นนำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้งในระดับความชื้นปริมาณ 60 % ทดสอบโดยใช้มือกำเป็นก้อนแล้วไม่แตก หมักปุ๋ยชีวภาพต่อเป็นเวลา 20 – 30 วันและต้องคอยกลับกองปุ๋ยทุกๆ 3 วัน จะได้ปุ๋ยชีวภาพขี้แดดนาเกลือที่พร้อมใช้งาน
จากผลการวิจัยพบว่า ปริมาณร้อยละของธาตุไนโตรเจน (N) 1.6 ฟอสฟอรัส(P) 1.88 และโพแทสเซียม(K) 2.42 ข้อดีของปุ๋ยชีวภาพขี้แดดนาเกลือ คือ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบจากการใช้สารเคมีต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ต่อดิน และสภาพแวดล้อม โดยนายเสน่ห์ พุทธา เกษตรกรบ้านหนองบวบหอม ตำบลหนองบวบหอม อำเภอสอสงพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ได้นำปุ๋ยชีวภาพขี้แดดนาเกลือไปใช้กับผักสวนครัว ชาวนาตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี นำไปใช้ในนาข้าว นอกจากนี้ยังทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ของดินดีขึ้นในระยะยาว การผลิตปุ๋ยชีวภาพขี้แดดนาเกลือใช้เอง เป็นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งส่งผลในมีการลดต้นทุนในการผลิต เพราะปุ๋ยเคมีมีราคาแพง และเกษตรกรก็จะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และสามารถสร้างชุมชนให้เข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยอาจารย์ได้นำมาถ่ายทอดให้แก่ชุมชนสหกรณ์หมู่ 3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นการสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในชุมชน เป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและพัฒนาชุมชนด้วยเทคโนโลยีแบบบูรณาการ
นอกจากนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิตยายังได้นำการผลิตปุ๋ยชีวภาพขี้แดดนาเกลือไปถ่ายทอดให้กับแหล่งชุมชนต่างๆ เช่น หมู่บ้านแสนสุขสกัดห้า ตำบลคลองสิบ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดปราจีนบุรี ชุมชนใดสนใจสามารถขอปุ๋ยไปทดลองได้ที่ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี หรือจะติดต่ออาจารย์เป็นวิทยากรพิเศษ อาจารย์ยินดีบริการให้ข้อมูล สอบถามรายละเอียด เพิ่มเติมได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐิตยา ศรขวัญ โทร.02-5494181-2 , 084-1279460
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ 02-549-4994