สับปะรด หนึ่งในพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนซึ่งหลายพื้นที่ของประเทศไทยมีสับปะรดหลายพันธุ์ ปลูกอยู่ โดยพันธุ์ที่ใช้ปลูกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่
สับปะรด นอกจากเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานเป็นทั้งอาหารคาวและอาหารหวานแล้ว นอกจากการนำเนื้อมารับประทาน ทุกส่วนของสับปะรดยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ดังเช่น ส่วนใบ มีลักษณะเส้นใยที่ยาวสามารถนำมาผลิตเป็นกระดาษได้ ส่วนเปลือก สามารถนำไปทำน้ำหมักชีวภาพและเป็นอาหารสัตว์ เป็นต้น
ด้วยความโดดเด่นของเส้นใย อีกทั้งจากการผลิตแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณกากใยสับปะรดที่เกิดขึ้นอยู่มาก ที่ผ่านมา ผศ.สุจยา ฤทธิศร อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ธัญบุรี ได้ศึกษาวิจัยมีแนวคิดนำใยเปลือกสับปะรดผลิตเป็นกระดาษเชิงหัตถกรรม เพิ่มมูลค่าให้กับกากใยสับปะรด สร้างรายได้ ส่งเสริมเป็นอาชีพเสริมให้แก่ผู้ที่สนใจได้ทำกระดาษเชิงหัตถกรรม
ทั้งนี้การผลิตกระดาษหัตถกรรมจากเปลือกสับปะรด การผลิตต่อ 1 แผ่น ใช้เยื่อในการผลิตไม่มาก อีกทั้งกระดาษยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งในด้านลวดลายเส้นใยและความบางใส จากการวิจัยสร้างสรรค์ กระดาษจากใยเปลือกสับปะรด ผศ.สุจยา ให้ความรู้ว่า จากที่เรามีกระดาษจากปอสา กระดาษที่สร้างสรรค์ทำจากกาบกล้วย ฟางข้าว ฯลฯ ซึ่งอาจารย์ทดลองทำขึ้นแล้วนั้นก็มีแนวคิดสนใจศึกษาต่อ ยอด มองเห็นถึงเปลือกสับปะรดว่าน่า จะทดลองนำมาทำเป็นกระดาษได้ อีกทั้งด้วยแนวคิดการรีไซเคิลเพิ่มคุณค่าวัสดุเหลือใช้การเกษตรสร้างประโยชน์ให้มี เพิ่มขึ้นจึงศึกษาสร้างสรรค์กระดาษจากใยเปลือกสับปะรดนำมาใช้ในงานศิลปหัตถกรรม
“จากที่ศึกษากระดาษจากวัสดุการเกษตรไม่ว่าจะเป็นกาบกล้วย กระดาษจากฟางข้าว ฯลฯ หรือกระดาษจากวัสดุการเกษตรอื่น ๆ อาทิ ชานอ้อย ปอสา กระดาษเหล่านี้จะมีความทึบแสงกว่า กระดาษจากเปลือกสับปะรดหรือที่โรงงานเรียกว่ากากใยเปลือกสับปะรด แผ่นกระดาษจะมีความเหนียว ใส ลักษณะคล้ายกระดาษแก้ว เวลานำไปทาบกับสิ่งใดก็จะมองเห็นเด่นชัด นอกจากนี้ผิวกระดาษยังมีลวดลายสวยงามจากใยสับปะรด เส้นใย ลวดลายชัดเจน สามารถใส่สีเพิ่มสีสันให้กับกระดาษหรือวาดลวดลายตกแต่งกระดาษได้ ฯลฯ”
นอกจากนี้กรรมวิธีการทำกระดาษคล้ายคลึงกัน แต่กระดาษดังกล่าวมีความโดดเด่นไม่ต้องใช้เยื่อของกากใยจำนวนมาก ใช้เยื่อจากเปลือกใยสับปะรดประมาณ 50 กรัมต่อ 1 แผ่น เมื่อเส้นใยแห้งก็จะได้แผ่นกระดาษที่มีความเหมาะสมไม่หนาหรือบางเกินไป อีกทั้งแผ่นกระดาษดังกล่าวยังมีความเหมาะสมสามารถนำมา แปรรูป สร้างสรรค์ประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ไม่ว่า จะเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ดอกกุหลาบ โคมไฟ กระดาษห่อของขวัญ กล่องหรือ งานประดิษฐ์ที่มีดีไซน์ ฯลฯ ซึ่งขณะนี้ ได้เผยแพร่อบรมให้ความรู้กับผู้ที่สนใจเป็นอีกทางเลือกการสร้างสรรค์ทำกระดาษทำมือที่มีเอกลักษณ์ นำสิ่งเหลือใช้กลับมาเพิ่มประโยชน์ สร้างมูลค่าได้ อีกด้วย.