หมาก นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย ด้วยสรรพคุณที่หลากหลาย ใช้เป็นยาสมานแผล เป็นย่าถ่ายพยาธิในสัตว์ ใช้ขบเคี้ยวเพื่อรักษาเหงือก และฟันให้คงทน ในทางอุตสาหกรรมเมล็ดหมากนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยาง และสารอัลคาลอยด์ ชื่อ Arecoline มีแทนนิน (Tannin) สูงจึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรมและยารักษาโรคได้หลายชนิด การผ่าผลหมากในปัจจุบันยังคงต้องใช้แรงงานคนในการผ่าอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาและแรงงานคนจำนวนมาก และต้องมีความชำนาญในการผ่าผลหมาก แต่อาจเกิดความเมื่อยล้าจากการทำงาน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ดังนั้นจึงมีแนวความคิดที่จะนำเครื่องจักรมาประยุกต์ใช้ จึงทำการออกแบบและสร้างเครื่องผ่าผลหมากให้มีลักษณะเล็กเหมาะกับการนำไปใช้ในระดับครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม เสียงถ่ายทอดแนวคิดความเป็นมาของเครื่องผ่าหมากสดของอาจารย์มานพ แย้มแฟง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยมี อาจารย์จักรวาล บุญหวาน ,อาจารย์วรินธร ยิ้มย่อง และ นายทินกร สุยอย , นายธีรพงษ์ เนินพุทธ และ นายเอกพงษ์ ภู่สากล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมคิดค้นและประดิษฐ์ เครื่องผ่าหมากสด ต้นแบบขึ้นมา การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำปี 2556
อ.มานพ เล่าว่า เครื่องผ่าผลหมากสดเครื่องต้นแบบ ประกอบด้วย ชุดผ่าผลหมาก ระบบลำเลียง ระบบส่งกำลัง โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1 แรงม้าเป็นต้นกำลัง หลักการทำงานของเครื่องนำผลหมากที่ไม่ต้องคัดขนาดใส่ลงกะพ้อ จากนั้นระบบลำเลียงที่ออกแบบจะลำเลียงผลหมากไปยังชุดผ่าผลหมากจะถูกผ่าตรงกลางเป็นสองซีกตามแนวยาวของผลลงสู่ทางออก จากการทดสอบเครื่องต้นแบบเปรียบเทียบกับแรงงานคน แรงงานคนสามารถผ่าผลหมากได้ 780 ผล/ชั่วโมง เครื่องสามารถผ่าผลหมากได้ 4,920 ผล/ชั่วโมง การผ่าด้วยเครื่องจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการผ่าด้วยแรงงานคน 6 เท่า
โดยจุดเด่นเครื่องผ่าผลหมากสดสามารถผ่าผลหมากได้ตรงกลางตามแนวยาว และผ่าผลหมากได้ทุกขนาดโดยไม่ต้องมีการคัดขนาด ระบบการลำเลียงผลหมากไม่ติดขัดโดยไม่ต้องใช้ระบบการสั่นสะเทือนระบบการทำงานไม่ซับซ้อน เกษตรกรสามารถใช้เครื่องและบำรุงรักษาได้ ขนาดเครื่องไม่ใหญ่สามารถเคลื่อนย้ายและทำงานได้สะดวก ใช้คนคุมเครื่อง 1 คน ขณะเครื่องทำงาน เพื่อนำมาทดแทนแรงงานคนสามารถลดระยะเวลาการผ่าผลหมากให้สั้นลง และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน
เครื่องผ่าผลหมากสด เป็นเครื่องต้นแบบที่คิดค้นขึ้น โดยไม่มีวางจำหน่าย เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อาจารย์มานพ โทร. 086-6634562
ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 02-549-4994