สับปะรดเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนมีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ สำหรับประเทศไทยมีการปลูกสับปะรดกระจายอยู่ทั่วไป สับปะรดในประเทศไทยมีหลายพันธุ์ ปลูกทั่วทั้งประเทศ พันธุ์ที่ใช้ปลูกนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ จึงทำให้สับปะรดแต่ละสายพันธุ์มีรสชาติที่แตกต่างกัน สำหรับการผลิตเพื่อแปรรูปในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดกระป๋อง ขยายเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันประเทศไทยผลิตสับปะรดได้มากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก มีปริมาณการผลิตผลสับปะรดได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ผลผลิตเหล่านี้ส่วนหนึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสับปะรดกระป๋อง ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอีกชนิดหนึ่งโดยมีความสามารถในการผลิตมากกว่า 5 แสนตันต่อปี นอกจากการนำไปผลิตเป็นสับปะรดกระป๋องแล้ว สับปะรดยังเป็นผลไม้ที่คนไทยนิยมรับประทานเป็นทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน นอกจากการนำเนื้อสับปะรดมารับประทานแล้วทุกส่วนของสับปะรดยังสามรถนำมาใช้ประโยชน์ได้
ใบสับปะรดมีลักษณะเส้นใยที่ยาวจึงสามารถนำมาผลิตเป็นกระดาษได้ดี ส่วนเปลือกสามารถนำไปทำน้ำหมักชีวภาพและเป็นอาหารสัตว์ได้ แต่เปลือกสับปะรดจากอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดส่วนใหญ่จะมีการบีบเอาน้ำหรือเนื้อที่ติดอยู่กับเปลือกออกจนหมด จึงทำให้เปลือกเหลือเพียงส่วนที่เป็นเส้นใย ทำให้เปลือกสับปะรดจากโรงงานจึงมีปริมาณสารอาหารที่เหลือในเปลือกน้อย ปริมาณกากใยสับปะรดจากโรงงานบางแห่ง มีปริมาณมากถึง 200 ตัน/วัน โดยส่วนใหญ่โรงงานจะกำจัดกากใยสับปะรดโดยจำหน่ายให้เกษตรกรเพื่อนำไปผสมกับอาหารสัตว์ ในราคา 40 สตางค์/กิโลกรัม ถึง 2.25 บาท/กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับลักษณะของกากใย และปริมาณน้ำที่ผสมอยู่ในกากใย
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุจยา ฤทธิศร อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จึงมีแนวคิดในการนำกากใยสับปะรดมาผลิตเป็นกระดาษเชิงหัตถกรรมเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกากใยสับปะรด สร้างรายได้เพิ่มให้กับโรงงานมากขึ้น และสามารถส่งเสริมเป็นอาชีพเสริมแก่พนังงานในโรงงานหรือชาวบ้านที่สนใจในการทำกระดาษเชิงหัตถกรรม เนื่องจากกระดาษ 1 แผ่นใช้เยื่อในการผลิตไม่มาก แต่สามารถขายได้ในราคาที่สูง โดยกับกระดาษเชิงหัตถกรรมส่วนใหญ่จะจำหน่ายในราคาแผ่นละ 10–25 บาท ซึ่งการจำหน่ายกระดาษที่ผลิตเชิงหัตถกรรมได้นั้นมีมูลค่ามากกว่า การจำหน่ายกากใยสับปะรดโดยตรง
ในการผลิตกระดาษกากใยสับปะรดเชิงหัตกรรมเริ่มจากการนำกากใยสับปะรดมาตากแดดจนแห้ง ในการตากแดดเพื่อให้เก็บเอาไว้ได้นาน จากนั้นนำมาแช่ในน้ำประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำไปต้มด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์ 2 ชั่วโมง ในอุณหภูมิ 80 – 90 องศาเซสเซียส หลังจากนั้นนำมาล้างในน้ำจนเยื่อหายลื่น นำมาฟอกด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซต์ และล้างด้วยน้ำจนหายลื่นอีกครั้ง สุดท้ายนำมาเยื่อมาขึ้นเป็นกระดาษขนาด 40 X 60 เซนติเมตร
คุณสมบัติพิเศษของกระดาษกากใยสับปะรดเชิงหัตกรรม เหนียว เรียบ ใส ลักษณะคล้ายกระดาษแก้ว มีลวดลายสวยงามจากกากใยสับปะรด เนื่องจากกากใยของสับปะรดมีลักษณะเฉพาะตัว และที่สำคัญเป็นกระดาษเชิงหัตถกรรม จะมีคุณภาพมากกว่ากระดาษที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยกระดาษ 1 แผ่น สามารถขายได้ในราคา 20 บาท หรือสามารถนำมารังสรรค์เป็นของขวัญได้มากมาย เช่น ได้นำมาผลิตเป็นดอกกุหลาบ สามารถวางจำหน่ายได้ในท้องตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระดาษ เป็นช่องทางเลือกใหม่ สำหรับกลุ่มแม่บ้านหรือผู้ใดสนใจ อาจารย์ยินดีให้ข้อมูล หรือเป็นวิทยากรพิเศษในการอบรมให้ความรู้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ผศ.สุจยา ฤทธิศร โทร.02-549-4177 หรือทาง www.rmutt.ac.th
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 02-549-4994