นักชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) คิดค้นการผลิตกระดาษจากกาบกล้วยน้ำว้า ด้วยวิธีชีวภาพ ที่สามารถเก็บไว้ได้นานโดยกระดาษไม่เหลืองและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.สุจยา ฤทธิศร นักชีววิทยาผู้คิดค้น เผยว่า การผลิตกระดาษด้วยวิธีชีวภาพเป็นการใช้เชื้อจุลินทรีย์หมักกับวัตถุดิบเพื่อย่อยสลายลิกนินในพืชแทนการใช้สารเคมีพวกโซเดียมไฮดรอกไซด์ ทำให้สามารถเพิ่มคุณภาพของกระดาษได้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากสารเคมี
“สำหรับกระบวนการผลิตกระดาษกาบกล้วยน้ำว้านี้เริ่มจากนำต้นกล้วยน้ำว้ามาสับเป็นชิ้นๆ ขนาดประมาณ 6×3 เซนติเมตร จากนั้นนำไปอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 1 คืน (24 ชั่วโมง) แล้วนำไปแช่น้ำให้อิ่มตัว นำไปฆ่าเชื้อ หมักที่อุณหภูมิ
30 องศาเซลเซียส โดยเติมเชื่อรา T.viride ที่เพาะไว้ลงไปบ่ม จากนั้นก็นำไปฆ่าเชื้อราอีกครั้งและเข้าสู่กระบวนการผลิตกระดาษต่อไป”
จากกระบวนการดังกล่าว นอกจากเชื้อรา T.viride จะย่อยสลายลิกนินไปเป็นจำนวนมากแล้ว ยังทำให้ในกระบวนการฟอกเยื่อกระดาษสามารถลดปริมาณการใช้สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ลงไปได้เป็นจำนวนมากกว่าการผลิตกระดาษแบบทั่วไปอีกทั้งการผลิตด้วยวิธีชีวภาพ กระดาษยังมีค่าความสว่างมากกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ มีความเหนียวนุ่ม สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าการผลิตด้วยวิธีทางเคมี โดยกระดาษไม่กลับมาเป็นสีเหลืองอีกด้วย