นักวิจัยไทยสร้างชื่อ คิดค้นรถเข็นคนพิการสามารถขึ้นลงบันไดได้เป็นคันแรกของโลก ใช้โซ่เป็นตัวยึดกับพื้นบันไดก่อนกดปุ่มควบคุมให้รถหมุนขึ้น-ลงอย่างนุ่มนวลทุ่นแรงพี่เลี้ยงผู้ป่วยและผู้สูงอายุ
ไทยโพสต์ * นักวิจัยไทยสุดเจ๋ง คิดค้นรถเข็นคนพิการที่สามารถขึ้น-ลงบันไดได้เป็นคันแรกของโลก โดยมีโซ่เป็นตัวยึดกับพื้นบันไดเอาไว้ก่อนกดปุ่มควบคุมให้รถหมุนขึ้น-ลงอย่างนุ่มนวล ช่วยทุ่นแรงพี่เลี้ยงคนพิการ คนป่วย และผู้สูงอายุ เล็งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเร็วๆ นี้
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้ ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ตนร่วมกับ ผศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และ พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ได้ร่วมกันคิดค้นประดิษฐ์รถเข็นสำหรับคนพิการที่สามารถใช้ขึ้น-ลงบันไดได้เป็นคันแรกของโลก ซึ่งทำให้การเคลื่อนย้ายผู้พิการ รวมไปถึงผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะผู้พิการที่มีความต้องการอุปกรณ์ในการดำเนินชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น สามารถขึ้นและลงบันไดได้สะดวกยิ่งขึ้น
ดร.เดชฤทธิ์กล่าวว่า สำหรับรถเข็นคันนี้จะทำให้ผู้พิการสามารถเคลื่อนที่ได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากมีชุดเกียร์ทดอยู่ด้านหลังของตัวรถที่ยึดติดอยู่กับโซ่ ซึ่งเป็นตัวยึดเกาะกับพื้นบันได เพื่อให้รถเข็นคันนี้พาผู้พิการขึ้น-ลงบันไดได้ โดยการเคลื่อนที่หมุนไปตามเข็มนาฬิกาให้เกาะบันไดเพื่อเคลื่อนที่ขึ้น และหมุนทวนเข็มนาฬิกาให้เกาะบันไดเพื่อเคลื่อนที่ลง ทั้งนี้ สำหรับชุดควบคุมประกอบด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์และดีซีไดรฟ์เพื่อขับมอเตอร์ ในส่วนของพลังงานนั้นใช้แบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์ 2 ลูก เพื่อให้ได้แรงขับ 24 โวลต์ ขณะที่บันไดที่รถเข็นคันนี้สามารถขึ้น-ลงได้คือ มีความสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร และขณะใช้งานจำเป็นต้องมีพี่เลี้ยงอยู่ด้านหลังตัวรถ เพื่อคอยกดปุ่มบังคับการขึ้น-ลง เพื่อให้ผู้พิการรู้สึกปลอดภัยด้วย รถเข็นคันดังกล่าวจะช่วยผ่อนแรงให้กับพี่เลี้ยงหรือคนดูแลผู้ป่วยได้มาก เพราะไม่ต้องยกหรืออุ้มผู้ป่วยเหมือนที่ผ่านมา
“รถเข็นขึ้น-ลงบันไดคันนี้คิดค้นขึ้นเพื่อใช้ในงานด้านการแพทย์ของโรงพยาบาลที่ติดต่อมาและอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ผู้ที่สนใจก็สามารถสั่งซื้อกับทางผู้วิจัยได้โดยตรง (ดร.เดชฤทธิ์ 08-6882-1475) ซึ่งขณะนี้ยังคงมีราคาสูงอยู่คือราวๆ 30,000 บาทขึ้นไป แต่อนาคตหากมี บริษัทใดสนใจขอซื้อลิขสิทธิ์เพื่อไปผลิต ทางผู้วิจัยก็ยินดีเพื่อให้ผู้พิการทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกลง อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยจะได้มีการเปิดตัวนวัตกรรมรถเข็นคันนี้อีกครั้ง” ดร.เดชฤทธิ์กล่าว.

