จากความต้องการของศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด มีความต้องการให้ผู้พิการทางสายตาที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนการนวดได้ด้วยตนเองเนื่องจากการนวดแผนไทยเป็นที่นิยมและถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดโรค สนับสนุนให้ผู้พิการทางสายตาได้มีอาชีพนวด เป็นการให้โอกาสผู้พิการได้มีการฝึกฝนการนวดไทย เป็นเครื่องช่วยสอนแก่ครูสายตาปกติที่เป็นผู้สอนนวดในชั้นเรียนให้แก่ผู้พิการทางสายตา เป็นเครื่องเรียนรู้แทนครู โดยผู้พิการทางสายตาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเป็นส่วนตัว และเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์การนวดแผนไทย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกอบด้วย “ก๊อต” นายกฤษณะ โภควัฒน์ “ไนช์” นายณัฐชนน กมลโต “ฝ้าย”นางสาวกมลชนก อดิเรกธนสาร และ “แอร์” นางสาวมัณฑนา ปานสังข์ ได้คิดค้นและผลิต “เครื่องช่วยเรียนรู้การนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา” ขึ้นมา โดยมี รศ.ดร.สุวรินทร์ ปัทมวรคุณ และ อาจารย์จตุรพิธ เกราะแก้ว เป็นที่ปรึกษา จากประสิทธิภาพคุณสมบัติทำให้ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ต้นแบบนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Contribution Award in Science) และรางวัลนวัตกรรมยอดนิยม (Popular Vote) โครงการ Brand’s GEN 6 ฉลาดคิดไร้ขีดจำกัด
อาจารย์จตุรพิธ เกราะแก้ว เล่าว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วมงาน World Blind Union และได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายพรชัย กลับวิหค ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี พบว่าสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด มีความต้องการให้ผู้พิการทางสายตาที่ได้เรียนรู้และฝึกในการนวดได้ด้วยตนเอง โดยในช่วงแรกๆ ตนเองและนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ได้สร้างบทเรียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถทบทวนการนวดตนเอง เพื่อความสะดวกในการทบทวนการนวดด้วยตนเอง เนื่องจากหาอาสาสมัครยาก หลังจากนั้นเริ่มสร้างรูปมือขึ้นมา เพื่อให้คนตาบอดสัมผัส ซึ่งบวกกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สร้างขึ้น ได้ผลเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงได้นำเอาผลงานมาต่อยอดเป็น “เครื่องช่วยเรียนรู้การนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา” ขึ้นมา
“ก๊อต” นายกฤษณะ โภควัฒน์ ตัวแทนกลุ่ม เล่าว่า หลักการ วิธีการและขั้นตอนการทำงานของ “เครื่องช่วยเรียนรู้การนวดไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเรียกว่า ระบบจัดการความรู้พัฒนาอาชีพนวดแผนไทย เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในตัวโปรแกรมมีเสียงจากโปรแกรมคือ Google Translates เพื่ออ่านเนื้อหาให้คนตาบอดสามารถเรียนรู้ จดจำ และสามารถทบทวนความรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งในโปรแกรมจะควบคุมการเลือกเมนูต่างๆ โดยปุ่ม Space Bar และปุ่มลูกศรเลื่อนขึ้นเลื่อนลงเพื่อง่ายต่อการใช้งาน ของคนตาบอด และส่วนที่2 เรียกว่า เครื่องช่วยเรียนรู้การนวดแผนไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา ลักษณะ หุ่นจำลองมีขนาดเท่ากับอวัยวะจริงของคนเรา
โดยระบบจัดการความรู้พัฒนาอาชีพนวดแผนไทยเพื่อผู้พิการทางสายตา ประกอบด้วยเมนู 3 เมนูคือ 1. เมนูความรู้เกี่ยวกับการนวด ในเมนูเป็นส่วนที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการนวด วิธีการนวด การจับ การกดในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยจะแบ่งการนวดออกเป็น 2 ประเภท คือ การนวดไทยบำบัด เป็นการนวดตามตำราการนวดแผนไทยโดยการนวดจะเป็นไปตามธาตุของร่างกายของผู้นวดเป็นหลักและนวดไปตามอาการที่ต้องการแก้ไข และการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ เป็นการนวดที่ผสมผสานวิธีการนวดในส่วนต่าง ๆ เกือบครบทุกส่วนของร่างกายมารวมกันเป็นกระบวนท่า เป็นการนวดครั้งเดียวแต่นวดทั้งร่างกาย 2. เมนูความรู้เกี่ยวกับสรีระและอวัยวะ ในเมนูเป็นการบอกถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย หน้าที่ของอวัยวะนั้น ๆ รวมไปถึงตำแหน่งของอวัยวะนั้น ๆ ภายในร่างกาย โดยนำเสนอในรูปแบบของรูปภาพของสรีระโดยรวมแล้วใช้การชี้โยงเพื่อให้ทราบว่าอวัยวะใดอยู่ส่วนไหนของร่างกาย ซึ่งผู้นวดจำเป็นต้องทราบถึงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานในการนวด 3. เมนูแบบทดสอบ เมนูนี้เป็นการรวบรวมข้อสอบเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาหรือผู้ใช้ ได้ทำการวัดผลความรู้ที่ได้เรียนรู้มาจากเมนูความรู้เกี่ยวกับการนวดและเมนูความรู้เกี่ยวกับสรีระและอวัยวะ
ภายในหุ่นจำลองทำการฝังไมโครชิพและสวิตซ์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ในการสอนเรื่องเส้นประธานทั้งสิบสำหรับผู้พิการทางสายตา ซึ่งหุ่นจำลองจะบอกชื่อจุดต่างๆ เมื่อผู้พิการทางสายตาทำการกดสวิตซ์ที่ตัวหุ่น โดยไมโครชิพจะประมวลผลจากสวิตซ์ที่ทำการกด โดยค่าที่ได้จะไปเปรียบเทียบกับค่าในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หากค่าที่ได้ตรงกันจะมีการออกเสียงตามจุดนั้น ๆ ของเส้นประธานทั้งสิบ โดยใช้โปรแกรม virtual studio ในการออกแบบ และใช้ภาษา C ในการเขียนโปรแกรม และขณะนี้กำลังจัดทำหุ่นการนวดไทยบำบัดเพื่อรักษาโรค และหุ่นเพื่อการนวดไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาพ มีลักษณะเช่นเดียวกับหุ่นการสอนเส้นประธานทั้งสิบ
ผลงานได้ทดสอบที่ศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี โดยผู้อำนวยการศูนย์การเรียนและสาธิตอาชีพคนตาบอดธนบุรี ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตาแบบลางเลือน ให้ข้อคิดเห็นในหุ่นจำลองต้นแบบ ซึ่งพอใจในผลงาน ขณะนี้กำลังจัดทำเครื่องช่วยเรียนรู้การนวดแผนไทยสำหรับผู้พิการทางสายตา ทำให้เกิดการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้พิการทางสายตา ผู้ประดิษฐ์ได้จดสิทธิบัตรส่วนหุ่นจำลองอวัยวะคนเราที่ใช้สอนนวด และจดลิขสิทธิ์ในส่วนโปรแกรมแล้ว ส่วนลิขสิทธิ์ข้อมูลในหนังสือยังเป็นของต้นฉบับผู้ประพันธ์ การดำเนินการทั้งหมดของผู้ประดิษฐ์ผลงานนี้ เป็นไปภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่เป็นสถานศึกษาของรัฐ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นกำไร แต่เป็นการทำเพื่อบริการวิชาการแก่สังคม ซึ่งในที่นี้คือผู้พิการทางสายตาอันเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994