จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำในปัจจุบัน สร้างความเดือดร้อนให้ชาวเกษตรกรชาวสวนยางพาราจำนวนมาก โดยปัจจุบันยางพาราได้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น ล้อรถยนต์ ยางรัดของ ถุงมือ ที่นอนฟองน้ำ เพื่อเป็นอีกทางเลือกในเชิงพาณิชย์ ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ นักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้นำยางพารามาเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต “กระเบื้องยางปูสนามภายนอกอาคาร”
ดร.วารุณี เล่าว่า เนื่องจากเหตุการณ์ปัจจุบันราคายางพาราตกต่ำ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นทางเลือกในการนำยางพารามาแปรรูป จึงได้เกิดไอเดียนี้ขึ้นมา บวกกับกระเบื้องเซรามิกที่วางขายตามท้องตลาดมีราคาแพง โดยลักษณะของกระเบื้องยางปูสนามนอกอาคาร ได้คิดค้นสูตรและเทคนิค ยางธรรมชาติคอมโพสิต นำขี้เลื่อยจากยางพาราที่เหลือจากกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์มาผสมกับยางพารา จากผลการวิจัย พบว่า สูตรที่เหมาะสมคือการเติมขี้เลื่อยในอัตราส่วนที่เหมาะสม คือมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แผ่นกระเบื้องยางปูพื้นที่ได้ มีขนาด 25x25x25 ซม.
แผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฉลุลวดลายสวยงาม ลักษณะเป็นจิ๊กซอว์ สามารถรับแสงได้ดี ทนต่อสภาวะอากาศการใช้งานภายนอกอาคาร ไม่แตกหักง่าย เหมือนกระเบื้องเซรามิก เนื่องจากความยืดหยุ่นของยางพารา
ในการทดสอบพบว่า การใช้ขี้เลื่อยผสมลงในยางมากกว่า 50 ส่วนนั้นมีความเป็นไปได้ในการนำไปผลิตทางการค้า สามารถช่วยลดต้นทุนของเนื้อยางเนื่องจากขี้เลื่อยเป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน นอกจากนี้นักวิจัยได้พัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านการใช้เคลือบผิวเพื่อเพิ่มความคงทนต่อสภาวะอากาศของแผ่นกระเบื้องยางปูพื้นสนามหญ้า 1 ตร.ม.ใช้ 16 แผ่น ให้ความสวยงาม ผู้ใช้สามารถประกอบได้เอง สำหรับทางเดินหรือทำสนามหญ้า กันลื่น ทนต่อสภาวะอากาศในการใช้งานภายนอกอาคารได้ โดยจากการทดสอบผ่านเครื่องบ่มเร่งสภาวะ QUV, cycle 7 พบว่าแผ่นกระเบื้องปูสนามหญ้าที่ผ่านการเคลือบผิวจะให้สมบัติด้านการทนต่อแรงดึงเพิ่มขึ้นสองเท่า (จาก 2.5 MPa เป็น 5.1 MPa) ค่าโมดุลัสเพิ่มขึ้น (จาก 83.5 MPa เป็น 154.2 MPa)
“กระเบื้องยางปูสนามภายนอกอาคาร” ผลงานการวิจัยของ ดร.วารุณี ไม่ได้มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ถ้าสถานประกอบการใดสนใจ ต้องการทำเป็นเชิงพาณิชย์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.วารุณี โทร.080-0435178 หรือทาง www.rmutt.ac.th
ชลธิชา ศรีอุบล กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 02-549-4994