อาจารย์ วชิระ แสงรัศมี อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คิดค้นการทำบล็อกน้ำหนักเบาจากเยื่อกระดาษเหลือทิ้ง
อ.วชิระ เปิดเผยว่าวัสดุก่อสร้างในประเทศไทยเช่น อิฐมอญ บล็อกคอนกรีต และบล็อกดินผสมซีเมนต์ มีค่าการนำความร้อนสูงและมีน้ำหนักมากเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์มาตรฐานวัสดุสมัยใหม่ที่ใส่ใจด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้วยข้อจำกัดนี้เองจึงเป็นแรงบันดานใจให้ตนพัฒนาบล็อกประสานน้ำหนักเบาจากเยื่อกระดาษเหลือทิ้ง เหตุผลที่นำเยื่อกระดาษมาเป็นส่วนผสมเพราะ ในภาคอุตสาหกรรมยังมีวัสดุเหลือทิ้งทางด้านอุตสาหกรรมอีกจำนวนมากที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และเพิ่มมูลค่า
เมื่อพิจารณาโรงงานผลิตกระดาษลูกฟูกที่มีวัสดุเหลือทิ้งที่เป็นกากตะกอนเยื่อกระดาษที่มีปริมาณมากถึง 1 ตันต่อวันที่ต้องนำไปฝังกลบและเผาทำลาย จึงเกิดแนวคิดในการนำกากตะกอนเยื่อกระดาษเหลือนี้มาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตวัสดุก่อสร้าง ซึ่งกากตะกอนเยื่อกระดาษเหลือทิ้งเหล่านี้มีขนาดเส้นใยที่เล็กมากหรือที่เรียกกันว่า “เยื่อ” เยื่อมีองค์ประกอบของเซลลูโลสและลิกนินเป็นส่วนใหญ่ เยื่อนี้มีความหนาแน่นต่ำและมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนได้ดี หากนำมาใช้เป็นส่วนผสมเพื่อผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างมวลเบาได้ก็น่าจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในจากการกำจัด ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งอีกด้วย
จากสาเหตุเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนาบล็อกประสานน้ำหนักเบาชนิดใหม่ที่มีค่าการนำความร้อนต่ำเพื่อใช้ในการก่อสร้าง และการตกแต่งภายนอกอาคาร ในการวิจัยได้แบ่งอัตราส่วนผสมของวัสดุออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นการปรับปรุงส่วนผสมเดิมโดยการเพิ่มเยื่อกระดาษเหลือทิ้งใน ปูนซีเมนต์ ดินลูกรัง กลุ่มที่สองเป็นการพัฒนาอัตราส่วนผสมและวัตถุดิบใหม่ ส่วนผสมคือ ปูนซีเมนต์ ทราย ผงสี และเยื่อกระดาษเหลือทิ้ง เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เยื่อกระดาษเหลือทิ้งในอัตราส่วนต่างๆ เพื่อลดความหนาแน่นของวัสดุ และลดค่าการนำความร้อน โดยคุณสมบัติทางกายภาพ ทางกลและการนำความร้อนของบล็อกประสานถูกทดสอบหลังจากการบ่มที่ 28 วัน
จากผลการวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนักปนเปื้อนในเยื่อกระดาษเหลือทิ้งจากโรงงานกระดาษลูกฟูกต่ำกว่าข้อกำหนดฉลากเขียวสำหรับแผ่นอัดสำหรับงานอาคาร ตกแต่งและอุตสาหกรรมเครื่องเรือน การเพิ่มส่วนผสมของเยื่อกระดาษเหลือทิ้งช่วยลดน้ำหนักและลดความหนาแน่นของวัสดุได้ดี บล็อกชนิดใหม่นี้มีค่าการนำความร้อนลดลงร้อยละ 34 น้ำหนักลดลงร้อยละ 22.5 และมีสีแดงที่เข้มกว่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับบล็อกประสานดินลูกรังผสมซีเมนต์ในท้องตลาด
จากผลงานดังกล่าวคงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่าการพัฒนาบล็อกประสานชนิดใหม่ที่ใช้ประโยชน์จากเยื่อกระดาษเหลือทิ้งในโรงงานผลิตกระดาษนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งแล้วช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องความร้อน การบริหารจัดการของเสียจากโรงงานและยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
มณีรัตน์ ปัญญพงษ์
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี