เมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะเยี่ยมชมผลงานวิจัยและพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีการผลิตระดับชุมชน ในการส่งเสริมและพัฒนาสินค้า หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 48 พระชันษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยมี นายศิริพงษ์ ห่านตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วยนายวิรัช โหตระไวศยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีให้การต้อนรับ และได้รับฟังบรรยายสรุปรายงานผลการดำเนินงานภายใต้โครงการ OTOP ที่มีต่อรัฐบาล ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยนายทวีวัฒน์ อารีย์พงศาที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และผู้อำนวยการหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ เป็นผู้กล่าวรายงาน
นายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อเยี่ยมชมผลงานวิจัยและการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านวิชาการโครงการ OTOP ร่วมกับภาครัฐมามากกว่า 11 ปี โดยมีการพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ต้นแบบในการผลิต การนำเอกลักษณ์ ทักษะ และภูมิปัญญามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการบริโภคแนวใหม่ และเป็นที่ปรึกษาและดำเนินการให้กับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้โครงการOTOP และเป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาแนะนำแก่ชุมชนในท้องถิ่นที่มีวิทยาเขต โดยมีสถานที่ปฏิบัติการ LAB และ WORK SHOP เป็นศูนย์พัฒนาและผลิตสินค้า OTOP ต้นแบบกระจายอยู่ทั่วประเทศ (9 มหาวิทยาลัยราชมงคล 35 วิทยาเขต) เพื่อให้บริการให้คำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือผู้ประกอบการ OTOP ให้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ IT ในธุรกิจ ซึ่งมีผลงานด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากมาย เช่น ประเภทอาหาร/เครื่องดื่ม ได้แก่ แครกเกอร์ธัญพืช ผลไม้เคลือบช็อกโกแลต ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร (สปา) ได้แก่ เครื่องสำอางจากทองคำ/ผงไหม เจลขัดผิวจากผลไม้ ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ได้แก่ผ้าไหมกันน้ำ ผ้าไหมซักเครื่อง ผ้าไหมไมโครแคปซูลชนิดมีกลิ่น และการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีการผลิตและบรรจุ การปกป้องและยืดอายุอาหาร เช่น ตู้ควบคุมยืดอายุผัก ผลไม้ เครื่องป้องกันกลิ่นหืนแบบตู้โลหะ เป็นต้น
โดยภาครัฐจะนำความรู้และเทคโนโลยีที่สถาบันการศึกษาได้ช่วยกันคิดค้นและพัฒนาเข้าไปส่งเสริมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ OTOP ทั้งด้านเทคโนโลยี เทคนิควิธีการ การผลิต โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านอาหารที่จะต้องมีความสะอาด ปลอดภัย ต้องมีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นานยิ่งขึ้นโดยกระบวนการผลิตจะต้องรักษารสชาติของอาหารไม่ให้เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP ของไทยให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน สามารถแข่งขันในตลาดสากลได้ต่อไป